- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Wednesday, 09 December 2015 09:31
- Hits: 3463
PwC เผยธุรกิจอาเซียนตื่นตัวเดินตาม เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ แนะรัฐหามาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง
PwC เผยผลสำรวจพบภาคธุรกิจอาเซียนขานรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (เอสดีจี) ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชี้ 97% เล็งนำแนวคิดดังกล่าว มาปรับใช้กับธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะที่พลเมืองทั่วอาเซียนต่างหนุนให้ทุกภาคส่วน มุ่งผลักดันนโยบายการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมแนะภาครัฐงัดมาตรการเสริม เพื่อกระตุ้นให้บรรลุเป้าหมาย เช่น เก็บภาษีคาร์บอน ให้เครดิตภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน ด้านรัฐบาลไทยพร้อมเข้าร่วมแผนปฏิบัติการดังกล่าวในทุกมิติเช่นกัน
นาย วสันต์ ชวลิตวรกุล หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจ SDGs Paving the Way Towards Market Leadership ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของพลเมืองและภาคธุรกิจจำนวนกว่า 300 รายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย (50%) ไทย (25%) สิงคโปร์ (13%) ฟิลิปปินส์ (7%) อินโดนีเซีย (3%) และเวียดนาม (2%) โดยผลการศึกษาฉบับนี้ อ้างอิงมาจากรายงานฉบับเต็ม Make it your business: Engaging with the Sustainable Development Goals ก่อนเวทีประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รับรองเป้าหมายเอสดีจีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมาว่า พลเมืองและภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มตื่นตัวกับการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนถึง 97% มีแผนจะรับแนวคิดนี้มาปรับใช้ในองค์กรของตนในช่วงระยะ 5 ปีข้างหน้า
ขณะที่ 87% ของประชากรในภูมิภาคอาเซียนก็เชื่อว่า ภาคธุรกิจจำเป็นต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงเอสดีจีเป็นหลัก นอกจากนี้ 80% ของประชากรยังมีแนวโน้มที่จะบริโภคหรือจับจ่ายสินค้าและบริการจากบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังกล่าวอีกด้วย
"เรามองว่า เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นกุญแจสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญไม่เฉพาะประชาคมโลก แต่รวมถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจของเอกชนซึ่งจะต้องเข้ามามีบทบาท และปรับแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐและผู้นำทั่วโลกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวร่วมกันในปี 2573" นาย วสันต์ กล่าว
อนึ่ง เอสดีจี มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรโลก สร้างความเท่าเทียม ขจัดปัญหาความยากจน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนในอีก 15 ปีข้างหน้า ครอบคลุม 17 ด้าน ได้แก่ 1) ความยากจน 2) ความหิวโหย 3) สุขภาวะ 4) การศึกษา 5) ความเท่าเทียมทางเพศ 6) น้ำและการสุขาภิบาล 7) พลังงาน 8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน 9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงให้เป็นอุตสาหกรรม 10) ความเหลื่อมล้ำ 11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ 12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ 14) ทรัพยากรทางทะเล 15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 16) สังคมและความยุติธรรม และ 17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล โดยมีเป้าหมายรองอีก 169 ข้อ โดย เอสดีจี จะถูกใช้แทนที่เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ที่จะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้
นาย แอนดรูว์ ชาน หัวหน้าสายงาน Sustainability ประจำ PwC's South East Asian Consulting Services กล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างตระหนักดีถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
"การที่ 10 ประเทศสมาชิกในภูมิภาคนี้ต่างก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของยูเอ็น ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราน่าจะได้เห็นความร่วมมือกันอย่างจริงจังในการผลักดันให้เกิดการดำเนินการในด้านต่างๆเพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย แต่ถึงแม้ว่าแนวโน้มจะดูเป็นบวก การประเมินผลกระทบ อีกทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติตามเป้าหมายทั้งหมด ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดความสำเร็จในระยะยาว" นาย ชาน กล่าว
ผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า แม้จะมีการตระหนักในเรื่องนี้อย่างแพร่หลาย แต่มีธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนน้อยกว่าครึ่ง หรือ เพียง 45% เท่านั้น ที่มีแผนที่จะประเมินผลกระทบของการดำเนินธุรกิจต่อเป้าหมายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสในการปรับปรุงและยกระดับการพัฒนาไปสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคตของภูมิภาคยังมีอีกมาก
ภาคธุรกิจอาเซียนเล็งนำ SGDs มาปรับใช้กับกลยุทธ์องค์กร
รายงานยังระบุว่า ภารกิจหลัก 3 ประการที่ธุรกิจมุ่งปฏิบัติให้เกิดผลในระยะสั้นเกี่ยวกับเอสดีจี ได้แก่ การระบุว่าเป้าหมายใดมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของตนมากที่สุด (56%) ตามมาด้วย การกำหนดเป้าหมายองค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายเอสดีจีนั้นๆ (40%) และจัดตั้งให้มีหน่วยงาน หรือทีมที่ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายความรับผิดชอบที่ดีต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility team: CSR) อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม (38%)
นอกจากนี้ ผลจากการศึกษาในด้านอื่นๆ ยังพบว่า ภาคธุรกิจมองว่าเป้าหมายเอสดีจีข้อที่ 8 ในเรื่องของเศรษฐกิจและการจ้างงาน เป็นเป้าหมายที่จะส่งผลกระทบที่สำคัญซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจของตนมากที่สุด ในขณะที่ด้านพลเมืองส่วนใหญ่มองว่าเป้าหมายที่ 4 หรือ การสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ด้าน นาย มัลคอล์ม เพรสตัน หัวหน้าสายงาน Global Sustainability ของ PwC ยังกล่าวเสริมว่า "ในขณะที่หลายฝ่ายกำลังตื่นตัวกับการสนับสนุนเป้าหมายนี้ แน่นอนว่าอาจเกิดคำถามหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนบางกลุ่มว่า จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์องค์กรให้สอดคล้องกับเอสดีจี ในขณะเดียวกันที่ก็ต้องแสวงหากำไรให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทได้อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้อยากให้มองว่า ผลตอบแทนที่สำคัญเหนืออื่นใดที่ภาคธุรกิจจะได้รับ คือ การลงทุนที่เอื้อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในระยะยาว เพราะผลพวงที่เกิดขึ้นจะสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของความเป็นองค์กร ที่ไม่ได้คำนึงถึงการสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังควบคู่ไปกับการตอบแทนสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย" นาย เพรสตัน กล่าว
แม้ว่า เอสดีจี จะมาพร้อมกับความยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินธุรกิจ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง จะช่วยเอื้อให้เกิดความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมขององค์กร ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารเข้าใจและสามารถผลักดันวิสัยทัศน์ขององค์กรในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นต่อการกำหนดรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มโอกาสขององค์กรในการมีส่วนร่วมสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก นอกจากนี้ เอสดีจี จะเป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
แนะไทยหามาตรการกระตุ้น หวังเอกชนนำเครื่องวัดมาประยุกต์ใช้
นาย วสันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเองมีความพร้อมในการสนับสนุนและผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยล่าสุด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งในวาระนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมแสดงจุดยืนในการสนับสนุนบทบาทของเอเปค ในการผลักดันให้เกิดการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับฉันทามติระหว่างประเทศ และการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573 ขององค์การสหประชาชาติ และไทยจะร่วมผลักดันและขับเคลื่อนเป้าหมายเอสดีจีอย่างเต็มความสามารถ
"เราเริ่มเห็นความพยายามของภาครัฐและภาคเอกชนของไทย ที่ร่วมกันสนับสนุนให้เกิดโครงการต่างๆ ที่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อบรรเทาความยากจน และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนทุกระดับ"
อย่างไรก็ดี มองว่า ภาครัฐเองควรหามาตรการส่งเสริมเพื่อเป็นการกระตุ้นให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 ด้านนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งในหลายๆ ประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกา มีการให้เครดิตภาษีแก่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน เช่น เครื่องล้างจาน ตู้เย็น โดยจะพิจารณาประเภทของเครื่องใช้ไฟฟ้า และประสิทธิภาพในการใช้งาน ยกตัวอย่าง เครื่องล้างจานสามารถเครดิตภาษีได้ถึง 75 ดอลล่าร์ต่อหน่วย หรือ ประเทศอย่าง ออสเตรเลีย อินเดีย และจีน ที่มีการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เพื่อลดปริมาณก๊าชคาร์บอนออกไซด์ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ล่าสุด PwC ยังได้พัฒนาเครื่องมือในการวัดหรือประเมินประสิทธิภาพเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เรียกว่า "SGD quick diagnostic tool" เพื่อให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ สามารถนำไปใช้เป็นตัวกำหนดแนวทางปฏิบัติ และประยุกต์ใช้กับประเภทและแหล่งที่ตั้งของธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่ โดยคาดว่าจะเปิดตัวเครื่องมือนี้ได้ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21 (COP21) ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
นายวสันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ปัจจัยสำคัญเร่งด่วนที่องค์กรต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆเพื่อมุ่งสู่การเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนแท้จริงในระยะข้างหน้า คงหนีไม่พ้นการศึกษา ทำความเข้าใจผลกระทบของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อการดำเนินธุรกิจของตนเอง เพื่อให้สามารถวางยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องและประเมินผลได้ PwC เองมีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐ ในการให้คำปรึกษาในการวางแผนกลยุทธ์องค์กรในเรื่องดังกล่าว รวมถึงการวัดผลที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพเป็นไปตามกรอบและเป้าหมายของเอสดีจีด้วย"