- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Friday, 06 November 2015 21:40
- Hits: 2942
กลั่นจากเวที 'THAILAND 2016' ไทยตั้งหลักฟื้นศก.
ในงานสัมมนา 'THAILAND 2016 อนาคตเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน'จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน นอกจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านเศรษฐกิจ เป็นองค์ปาฐกฉายภาพรวมของความตั้งใจเข้ามาทำงาน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจประเทศไทยให้ก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง
มติชนออนไลน์ : วันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคนมาให้ข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจอย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์ "มติชน" จึงนำมาเรียบเรียงอีกครั้ง
เริ่มจาก'สันติธาร เสถียรไทย' ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ธนาคารเครดิต สวิส ให้มุมมองด้านความสามารถในการแข่งขันไทยว่า ขณะนี้มีน้อยลง หากถึงขั้นที่สูญเสียความสามารถตรงนี้แล้ว จะไม่ดึงดูดนักลงทุนเหมือนเดิม การเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาวอาจจะน้อยลงและน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ 4-5% จากการขาดประสิทธิภาพในการผลิตที่ลดทอนความสามารถการแข่งขัน
ส่วนบรรยากาศการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร 'สันติธาร'ชี้ว่า ความไม่มั่นคงทางการเมืองย่อมส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นคงทางนโยบาย คือทำให้การดำเนินนโยบายของรัฐบาลไม่ต่อเนื่อง เป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และนักลงทุนก็จะเกิดการรอดู หากทุกคนรอดูพร้อมๆ กัน จะส่งผลให้เศรษฐกิจซบเซา โดยเฉพาะในยามที่มีหนี้สูงก็จะเกิดภาระหนี้หนัก
เป็นปัญหาเรื้อรังและวนกลับมากระทบเศรษฐกิจอีก
ในระยะอันใกล้มีสิ่งที่ต้องจับตา คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ภาคส่วนต่างๆ เฝ้ารอดูมากว่า 24 เดือน เศรษฐกิจจีนอาจจะชะลอตัวให้เห็นหนักๆ ในปีหน้า เพราะปีนี้เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวอาจเป็นเพียงสัญญาณแรกเริ่ม ปีหน้าสองปัจจัยดังกล่าวต้องดูใกล้ชิด จะเป็นตัววัดว่าเศรษฐกิจไทยดีแค่ไหนด้วย
ในปี 2559 สิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ได้แนะนำไป คือการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และค่าเงินบาทในปีหน้าอาจจะอ่อนทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะช่วยภาคท่องเที่ยวได้ดี ซึ่งปัจจุบันก็ดีอยู่แล้ว แต่หากปีหน้าเศรษฐกิจโลกเลวร้ายสุดสุด ไทยก็ยังมีจุดได้เปรียบคือ มีภูมิคุ้มกันดีต่อทั้งโรคระบาดจากจีน และสหรัฐ นั่นคือการค้าเกินดุลสูง เงินสำรองมีมาก
ตรงนี้ไทยดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยจะโตช้าลง แต่ถือว่าโตอย่างปลอดภัยมากกว่าประเทศอื่นๆ
'สันติธาร' ยังให้ความเห็นในเรื่องนโยบายประชานิยมว่า ส่วนตัวไม่ได้มองที่นิยาม สำคัญที่สุดคือเมื่อออกนโยบายกระตุ้นไปแล้ว ต้องติดตามประเมินผลว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ที่ผ่านมาไม่ได้ติดตาม เวิร์กหรือไม่เวิร์กต้องดู จะนำนโยบายมาทำต่อหรือไม่
ก่อนจบ 'สันติธาร' ถือโอกาสตั้งคำถามกับผู้เข้าร่วมฟังสัมมนา ให้ทายว่าเศรษฐกิจประเทศไหนที่เจ๋งจริงๆ ในเอเชีย ก่อนจะเฉลยซึ่งหลายคนอาจนึกไม่ถึง เพราะเขาชี้ไปที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยให้เหตุผลว่า เมื่อก่อนฟิลิปปินส์เป็นคนป่วยแห่งเอเชีย ปัจจุบันเปลี่ยนไปเยอะมาก มีการสู้เรื่องคอร์รัปชั่น จากแต่ก่อนเรื่องนี้ดูแย่มาก ทำให้ตอนนี้คนนอกมองอันดับการคอร์รัปชั่นฟิลิปปินส์ดีขึ้นมากว่า 50-60 อันดับในเวลาสั้นๆ นักธุรกิจที่เคยไม่กล้าเข้าไปลงทุน ก็เข้าไปมากขึ้น มีการใช้นโยบายดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นทำให้เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ปีนี้โตถึง 6%
ขณะที่ 'ปรเมธี วิมลศิริ' เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยขณะนี้ว่า กำลังเริ่มปรับตัวดีขั้น มีนักลงทุนมาดูและคุยจำนวนมาก เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ มากขึ้น เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ตัวเลขคนไทยลงทุนเองใน 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้น 30% โดยมีจำนวน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ที่คนไทยไปลงทุนในอาเซียน จากเดิมที่มีแต่ต่างประเทศมาลงทุนในไทยและนำรายได้ออกไป
ส่วนประเด็นการเมืองกับเศรษฐกิจ'ปรเมธี' เห็นว่า ความจริงแล้วนักลงทุนมีทั้งส่วนที่รอและไม่รอ ตรงนี้น่าจะขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยกับสถานการณ์และการประเมินความเสี่ยงมากกว่า สำหรับภาพเศรษฐกิจปีหน้าน่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้ พระเอกปีนี้คือภาคท่องเที่ยว มีคนเข้ามา 30 ล้านคน ปีหน้าขยายเป็น 32.5 ล้านคน และการลงทุนภาครัฐ
ส่วนปีหน้าเศรษฐกิจได้รับปัจจัยบวกจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่นับแสนล้านบาท และการส่งออกปีหน้าไม่น่าเลวร้ายกว่าปีนี้ เพราะค่าเงินเริ่มดีขึ้น ฐานการขยายตัวก็ต่ำ ภาพหลายอย่างเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนต่างๆ และการเร่งรัดสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)
ส่วนประเด็นประชาธิปไตยจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหรือไม่ เขามองว่าจำเป็นแน่นอน เพราะการบริหารประเทศที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจต้องมาจากความต้องการประชาชน มีการตรวจสอบได้ และไม่คอร์รัปชั่น สำหรับเรื่องความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) อยู่ระหว่างการศึกษา กรณีที่ไทยยังไม่เข้าร่วมเพราะคนเป็นห่วงมีผลกระทบกับไทย ทั้งสิทธิบัตรยาและทรัพย์สินทางปัญญา
อย่างไรก็ตาม ทีพีพีเป็นโอกาสที่ไทยจะได้ทบทวนระหว่างข้อดีและเสีย ว่าเข้าได้หรือไม่ หรือเข้าแล้วดีไหม
'เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ'ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปอาจมีข้อจำกัด เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะการพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรในการแก้ไข จึงมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยอาจซึมตัวและขยายตัวในระดับ 2 ? 3% ต่อไปอีกหลายปี เหมือนช่วงหนึ่งเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์เคยประสบปัญหาในอดีต สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มองว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3% แต่ยังไม่มั่นใจว่าภาคส่งออกจะฟื้นตัวหรือไม่ เนื่องจากภาวะการค้าของโลกยังไม่ฟื้น และเศรษฐกิจจีนจะยังคงกดดันเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ หากเศรษฐกิจจีนทรุดจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกปรับตัวลดลงรุนแรง และกระทบราคาสินค้าเกษตรซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศไทย
ขณะที่การเมืองมีผลต่อทิศทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ เพราะปัญหาเศรษฐกิจของประเทศคือโครงสร้าง ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีและรัฐบาลบ่อย ทำให้การเติบโตด้านเศรษฐกิจไม่ยั่งยืน เมื่อรัฐบาลหนึ่งเข้ามาก็จะออกมาตรการหรือนโยบายประชานิยม ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นช่วงเวลาหนึ่ง แต่ในระยะยาวจะไม่ได้ผล เพราะปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นต้องให้เกิดการบริหารประเทศแบบต่อเนื่อง
'ศุภวุฒิ สายเชื้อ'กรรมการผู้จัดการหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นโยบายประชานิยม เป็นการให้เงินประชาชนไปเลยก็จำเป็น เอาเงินช่วยชาวนา ชาวสวนยาง เพียงแต่การใช้ประชานิยมอย่าไปฝืนกลไกตลาด เช่น ราคาน้ำมันขึ้นก็กดลง ราคาข้าวลงก็ดันขึ้น พอบิดเบือนตลาดมากๆ ความเสี่ยงรัฐบาลก็จะเพิ่มเป็นทวีคูณ
หากจำเป็นต้องทำประชานิยม ต้องเป็นอะไรที่ร่วมสมัย เหนือกาลเวลา
ส่วนช่วงสุดท้ายมีคำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนาถึงประเด็นที่ว่าไทยควรเข้าร่วมทีพีพีหรือไม่นั้น แล้วจะมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร
'สันติธาร'กล่าวว่า ไทยสามารถเข้าร่วมแบบเลือกตกลงเพียงบางประเด็นได้ ไม่ต้องรีบ ไทยยังมีทางเลือกแบบไม่ต้องตอบรับทุกอย่าง เพราะที่ผ่านมาเราเซ็นเอฟทีเอมาก แต่ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนมากเช่นกัน
ขณะที่'ศุภวุฒิ' เห็นว่า รัฐบาลต้องประเมินดีๆ ก่อนที่การลงทุนย้ายไปที่อื่น
และคนสุดท้ายที่แสดงความคือเห็นคือ "เศรษฐพุฒิ" ซึ่งมองเรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนว่าไทยยังมียุทธศาสตร์การค้าไม่แข็งแรง
พร้อมเสนอแนะให้รัฐต้องโฟกัสให้ตรงจุดยุทธศาสตร์การค้าว่าเราต้องการอะไร สิ่งนั้นจากใคร จะได้ไม่ต้องมาตามศึกษาทีหลัง
เพราะขณะนี้ประเทศอื่นๆ เขาตกลงกันไปแล้ว....