WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1โครงการรบจำนำขาว

อีกหนึ่งแง่มุมของโครงการรับจำนำข้าว...

        แนวหน้า : อีกหนึ่งแง่มุมของโครงการรับจำนำข้าว...จากงานวิจัย..โครงการประเมินผลกระทบของโครงการรับจำนำข้าว ที่มีต่อสถานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย

    ถึงตอนนี้เมื่อพูดถึงโครงการรับจำนำข้าวสังคมก็คงจะโฟกัสไปถึงประเด็นความเสียหายจากโครงการในสมัยที่รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งก็ว่ากันตามกระบวนการทางกฎหมาย และการสืบหาข้อเท็จจริง...อย่างไรก็ตาม โครงการรับจำนำข้าวนั้นกันมาแล้วในหลายรัฐบาลในอดีต...แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการพูดถึงหรือมีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวในแง่มุมอื่นๆ เช่นแง่มุมเชิงลึกทางเศรษฐศาสตร์ ส่วนใหญ่ประเด็นที่เกิดขึ้นจะยึดโยงกับประเด็นทางการเมืองเป็นหลัก...

      แนวหน้าโลกธุรกิจ...ได้มีโอกาสพูดคุยกับศาสตราจารย์ดร.ประยงค์ เนตยารักษ์อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีมุมมองเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวในแง่มุมอื่นๆ หลังจากที่ศาสตราจารย์ดร.ประยงค์ได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว...

     ศาสตราจารย์ ดร.ประยงค์...ระบุว่าได้มีโอกาสอ่านรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัย“การประเมินผลกระทบของโครงการรับจำนำข้าวที่มีต่อสถานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรไทย” ซึ่งทำวิจัยโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรกฎาคม 2558โดยได้รับงบประมาณในการทำวิจัยจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)...

    ตอนที่เริ่มอ่านหัวข้อโครงการวิจัยก็รู้สึกว่าไม่น่าทำวิจัย เพราะก่อนหน้านี้มีข้อเขียนและการวิจัยเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวมากพอสมควร โดยเฉพาะเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง มีข้อมูลมากมายที่ขัดแย้งกันมาก และมีอคติในการเลือกใช้ข้อมูลและตีความ จนมีปัญหามากในการหาข้อเท็จจริง มีลักษณะไม่เป็นมาตรฐานและไม่น่าเชื่อถือทางวิชาการ...แต่เพื่อต้องการหาความกระจ่างในประเด็นที่คิดว่ามันน่าจะมีปัญหาก็เลย อ่านรายงานจนจบ...และพบว่าเป็นรายงานผลการวิจัยที่มีประโยชน์มาก ทั้งในแวดวงวิชาการ และสังคมทั่วไป โดยเฉพาะเป็นการประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ และใช้วิธีการวิจัย (methodology) ที่ก้าวหน้า และทันสมัยผู้วิจัยมีความละเอียดรอบคอบในการทดสอบ ขจัดปัญหาความเอนเอียง และวิเคราะห์ผลอย่างเป็นกลาง ในกรณีผลการศึกษาบางส่วนที่มีนัยสำคัญทางสถิติน้อย หรือไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ก็ไม่นำมาวิเคราะห์ตีความ หรือบางส่วนที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ก็ระบุไว้ชัดเจน นับว่าเป็นผลงานวิจัยที่ดีมาก มีประโยชน์มากน่าเชื่อถือ และได้มาตรฐานทางวิชาการ

    ศาสตราจารย์ดร.ประยงค์ ระบุว่า...ขอสรุปประเด็นสำคัญของรายงานนี้ พร้อมทั้งให้ความเห็นเพิ่มเติมในบางประเด็นดังนี้ โครงการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์4 ประการ คือ (1) เพื่อประเมินผลกระทบของโครงการรับจำนำข้าวที่มีต่อรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เข้าร่วม และไม่ได้ร่วมเข้าโครงการรับจำนำข้าว (2) เพื่อประเมินผลกระทบของโครงการรับจำนำข้าวที่มีต่อรายได้สุทธิของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เข้าร่วม และไม่ได้ร่วมเข้าโครงการรับจำนำข้าว (3) เพื่อประเมินผลกระทบของผู้เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวที่มีต่อภาวะหนี้สินของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เข้าร่วม และไม่ได้ร่วมเข้าโครงการรับจำนำข้าว และ (4) เพื่อศึกษาความแตกต่างในผลกระทบของโครงการรับจำนำข้าวที่มีต่อกลุ่มเกษตรกรที่มีฐานะยากจน ปานกลาง และร่ำรวยในด้านรายได้ รายได้สุทธิ และภาระหนี้สิน

      ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาส่วนใหญ่รวบรวมมาจากแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจ สังคม และแรงงานเกษตร เป็นข้อมูลระดับฟาร์มจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครอบคลุม 3 ปีการเพาะปลูก คือ ปีการเพาะปลูก 2553/54 ปีการเพาะปลูก 2554/55 จนถึงปีการเพาะปลูก 2555/56 มีจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 20,311 ตัวอย่าง แต่ได้เลือกตัวอย่างที่มีคุณสมบัติในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาความเอนเอียง ทำให้จำนวนตัวอย่างลดลงเหลือ 14,772 ตัวอย่าง

      ในการเสนอผลการศึกษาได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกได้เสนอผลการศึกษาโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่า (1) โดยภาพรวมรายได้ทั้งหมดจากการปลูกข้าวก่อนมีโครงการฯ เท่ากับ 101,175.40 บาทต่อฟาร์ม เพิ่มขึ้นเป็น 181,254.70 บาทต่อฟาร์ม สำหรับฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนฟาร์มที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นเป็น 120,069.50 บาทต่อฟาร์ม (2) รายได้สุทธิ (รายรับทั้งหมดลบด้วยรายจ่ายทั้งหมด)จากการปลูกข้าวก่อนมีโครงการฯ เท่ากับ 44,193.13 บาทต่อฟาร์มเพิ่มขึ้นเป็น 102,986.30 บาทต่อฟาร์ม สำหรับฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนฟาร์มที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 64,031.79 บาทต่อฟาร์ม และ (3) ภาระหนี้สินก่อนมีโครงการฯมีหนี้สิน 230,031.30บาทต่อฟาร์ม ลดลงเหลือ 225,696.60 บาทต่อฟาร์ม สำหรับฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการฯ และฟาร์มที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯลดลงเหลือ 205,347.40 บาทต่อฟาร์ม

     ผลการศึกษาส่วนที่สองซึ่งเป็นส่วนสำคัญ เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบแยกตามขนาดของฟาร์ม โดยแบ่งขนาดของฟาร์มออกเป็น 3 ขนาด คือขนาดเล็กมีรายได้จากการเพาะปลูกข้าวน้อยกว่า 40,000 บาทต่อปี ขนาดกลางมีรายได้จากการปลูกข้าวตั้งแต่ 40,000 บาท ถึงน้อยกว่า 160,000 บาทต่อปี และฟาร์มขนาดใหญ่มีรายได้จากการปลูกข้าวตั้งแต่ 160,000 บาทต่อปีขึ้นไป

     และยังได้แยกการประเมินผลกระทบของโครงการฯออกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่ 1 วัดผลกระทบของโครงการฯ ต่อผู้เข้าร่วมโครงการฯ ภายหลังมีโครงการฯ เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นผลกระทบทางตรง กรณีที่ 2 เป็นการวัดผลกระทบทางตรง และทางอ้อม ฉะนั้นเมื่อนำกรณีที่ 1ลบด้วยกรณีที่ 2 จะได้ผลกระทบทางอ้อมของโครงการฯ ต่อผู้เข้าร่วมโครงการฯ และ กรณีที่ 3 เป็นการประเมินผลกระทบของโครงการฯ ต่อผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมของโครงการฯ ที่เกิดจากโครงการฯ เมื่อนำผลกระทบกรณีที่ 2 และ 3 มารวมกันก็จะได้ผลกระทบจากโครงการทั้งหมด

       นอกจากนี้ ยังได้แยกการคำนวณผลกระทบออกเป็นรายรับทางตรงและต่อรายรับทางตรงสุทธิทางการเกษตร ของกลุ่มตัวอย่างรวมทั้งหมด กลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่และใช้วิธีการคำนวณ ถึง 7 วิธี โดยได้เลือกค่าที่มีนั้นสำคัญทางสถิติที่เป็นค่าสูงสุด และค่าต่ำสุด มาใช้ในการวิเคราะห์ตีความ ขอบเขตของผลกระทบอีกด้วย

      ผลการศึกษาพบว่า ผลกระทบของโครงการฯ ทำให้รายรับของเกษตรกรต่อฟาร์มทั้งทางตรงและทางอ้อมและทั้งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ และที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นทุกกรณี และเมื่อนำมาคำนวณผลกระทบโดยรวมทั้งหมด พบว่าโครงการฯสามารถช่วยให้รายรับทางตรงจากการเกษตรเพิ่มขึ้น 216,966 - 251,944 ล้านบาทส่วนผลกระทบของโครงการฯ ต่อรายรับสุทธิจากการเกษตรพบว่า โครงการฯ มีส่วนช่วยให้รายรับทางตรงสุทธิจากการเกษตรเพิ่มขึ้น 161,884-202,647 ล้านบาท

       สำหรับ ความแตกต่างของผลกระทบของโครงการฯ ต่อฟาร์มขนาดต่างๆ พบว่า ฟาร์มขนาดใหญ่ได้รับรายรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมาคือฟาร์มขนาดกลาง และขนาดเล็ก ตามลำดับ ซึ่งประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ดร.ประยงค์ มีความเห็นว่าผลจะต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว เพราะในการแบ่งขนาดของฟาร์มตามรายรับจากการขายข้าว ฟาร์มขนาดเล็กมีพื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า ปริมาณผลผลิตข้าวจึงน้อยกว่า ปริมาณข้าวที่นำไปจำนำจึงน้อยกว่าด้วย นอกจากนี้ฟาร์มขนาดเล็กยังอาจจะปลูกข้าวไว้กินอีกส่วนหนึ่ง ทำให้มีข้าวเหลือขายน้อย

     จากการศึกษาวิจัย ทางด้านผลกระทบของโครงการฯ ต่อภาระหนี้สินของเกษตรกร พบว่าภาระหนี้สินของเกษตรกรในกลุ่มตัวอย่างไม่ได้ลดลงมาก ทั้งๆ ที่เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ทั้งนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า อาจเนื่องจากเกษตรกรนำเงินที่ได้รับจากโครงการฯ ไปซื้อทรัพย์สินถาวร นำไปปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เช่น ซ่อมแซมบ้าน ซื้อเครื่องใช้ภายในบ้าน หรือนำไปใช้กับปัจจัยการผลิต เช่น เครื่องจักร เครื่องมือการเกษตร เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้ไม่ได้นำเงินไปใช้หนี้หรือไปใช้หนี้น้อย ซึ่งก็เหมือนกับการกู้เงินมาลงทุนนั่นเอง แต่เปรียบเสมือนกู้เงินของตนเองมาลงทุน

    การประเมินผลกระทบของโครงการฯรับจำนำข้าวดังกล่าวข้างต้น ซึ่งใช้กรอบความคิดทางเศรษฐศาสตร์ เป็นเพียงผลกระทบหรือผลประโยชน์ส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการฯ ของรัฐบาล เพราะยังมีผลประโยชน์อื่นๆที่การศึกษานี้ไม่ได้ศึกษาครอบคลุม ซึ่งได้แก่เงินที่เกษตรกรได้รับจากโครงการฯ และเงินที่เกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯได้รับเพิ่มจากการขายข้าวได้ในราคาสูงขึ้น จะนำไปซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งปัจจัยการผลิต ซึ่งเงินดังกล่าวก็จะตกแก่ผู้ที่ขายสินค้าและบริการรวมทั้งปัจจัยการผลิตต่างๆ ให้การซื้อขายในลักษณะเช่นนี้จะเป็นทอดๆไป ทำให้เกิดการสร้างรายได้และการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นทอดๆ ไป เป็นแบบทวีคูณ เป็นการช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต โดยเฉพาะเศรษฐกิจในชนบทจะช่วยลดช่องว่างของการกระจายรายได้ระหว่างชนบทกับเมืองมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

      แม้กรณีการใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินโครงการฯ เช่นการจ่ายให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการฯ ค่าตรวจสอบคุณภาพข้าว ค่าโกดังเก็บรักษาข้าว ค่าใช้จ่ายการระบายข้าว และค่าล่วงเวลาข้าราชการที่ร่วมทำโครงการฯหรือค่าจ้างเจ้าหน้าที่ร่วมทำโครงการฯ เป็นต้น แม้ในด้านหนึ่งจะเป็นต้นทุนในการดำเนินโครงการฯ แต่เงินที่จ่ายไปก็เป็นการจ้างปัจจัยในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งเป็นรายได้ของผู้รับจ้างหรือผู้เข้าร่วมทำโครงการฯซึ่งถือเป็นประโยชน์เช่นเดียวกับการที่รัฐบาลใช้งบประมาณจ่ายไปในโครงการอื่นๆ และเงินเหล่านี้ก็จะต้องถูกจ่ายไปในการซื้อสินค้าและบริการเป็นทอดๆ ก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานเป็นทอดๆ เป็นทวีคูณ เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าการประเมินผลกระทบของโครงการฯโดยใช้กรอบแนวความคิดและวิธีการทางเศรษฐศาสตร์จะละเอียดและครอบคลุมมากกว่าทางบัญชี จึงมีความเหมาะสมมากกว่า

รายงานพิเศษ : โดย...ศาสตราจารย์ ดร.ประยงค์ เนตยารักษ์        อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!