- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Friday, 28 August 2015 12:36
- Hits: 3445
'รากหญ้า'ส่งเสียง ร้องถึงทีมศก.บิ๊กตู่ 3
มติชนออนไลน์ : วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558
พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นั่งคุมทีมเศรษฐกิจ หวังให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบบูรณาการ
"สมคิด" ก็ประกาศนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรระดับรากหญ้าที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ด้วยการอัดฉีดงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาทลงสู่ระดับล่าง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้และจับจ่ายใช้สอยให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
ปรากฏว่ามีเสียงสะท้อนจากบรรดาผู้นำเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ถึงแนวนโยบายดังกล่าว
โดย "พรม บุญมาช่วย" ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาทีมเศรษฐกิจชุดเก่าทำงานแบบกลัวเกินเหตุ กลัวว่าชาวนาจะโกงจนไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือชาวนา เนื่องจากกลัวความผิด ขนาดพ่อเมืองต่างๆ จะประกาศเขตภัยพิบัติเพื่อช่วยเหลือชาวนายังไม่กล้า เพราะหลักเกณฑ์ขั้นตอนมากมายจนไม่มีใครกล้าทำงาน
ชาวนาก็ยืนรอความตายแบบตาดำๆ แดงๆ
"ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่มุ่งกระตุ้นรากหญ้าก่อนนั้น ผมว่าเป็นมืออาชีพ เพราะเขามีวิธีการขั้นตอนที่จะให้เงินชาวนาด้วยความหลากหลายวิธีการ แต่ถ้าขั้นตอนเยอะรับรองไม่มีใครเอาด้วย ผมว่าทำง่ายๆ แบบรัดกุมเท่านั้นก็จบเร็ว" พรมกล่าว
ขณะที่ "เสมียน หงส์โต" ประธานเครือข่ายชาวนาภาคกลาง บอกว่า น่าจะดีขึ้นกว่าเดิมแต่ขอให้ช่วยเหลือชาวนาอย่างตรงจุด ช่วยเหลือชาวนาที่ขาดทุนไม่มีทางออก ไม่มีทางสู้ ชาวนาจนจริงๆ เดือดร้อนกันจริงๆ ชาวนาที่ไม่มีทางออกและหนีการทำนาไปไม่ได้ยังไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร
ชาวนาตอนนี้มีแต่นั่งเศร้ารอเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ ที่รัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือกระตุ้นช่วยเหลือรากหญ้าเท่านั้น แต่ยังไม่เห็นหลักการวิธีการที่จะเข้ามาช่วยเหลือแม้แต่น้อย
"ผมว่าทีมงานของรัฐบาลควรออกมาหาประชาชนบ้างเพื่อให้ชาวนารู้ตลาดความต้องการรวมถึงทิศทางของน้ำว่าในปี 2559 ชาวนาควรทำนาอย่างไรทำแบบเดียวกันทั้งประเทศหรือแบ่งโซนการทำนาออกเป็นแต่ละพื้นที่ ปุ๋ยยาจะทำอย่างไรให้ราคาขยับลงมาไม่ใช่อย่างในปัจจุบันขยับขึ้นเพียงอย่างเดียวชาวนาก็ตายหยังเขียดเหมือนคำที่พูดกันติดปาก ชาวนาตอนนี้สถานการณ์แบบลูกไก่ในกำมือจะบีบก็ตายจะคลายก็รอด ชาวนานั่งเศร้ารอความหวังที่รัฐบาลจะช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวเพราะยิ่งดิ้นก็ยิ่งตาย สู้ปล่อยไว้นิ่งๆ ค่อยๆ ตายอย่างช้าๆ ดีกว่า ผมกำลังเตรียมจัดสัมมนาเรื่องของการปรับตัวและทิศทางของชาวนาในอนาคตในเร็วๆ นี้" เสมียนระบุ
"ทศพล ขวัญรอด" ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังซบเซาอย่างมาก นักลงทุนไม่กล้าลงทุน นักธุรกิจ คนมีเงินก็จะเก็บเงิน เศรษฐกิจระดับล่างยิ่งหนักอย่างมาก หนี้สินล้นพ้นตัว พืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ จึงเห็นว่าวิธีการที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการอัดฉีดงบลงระดับรากหญ้า
ทำอย่างไรให้ระดับรากหญ้ามีเงินอยู่ในกระเป๋า เมื่อรากหญ้าไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย พ่อค้าแม่ขายก็ตายไปตามๆ กัน
"ไม่อยากให้รัฐบาลใช้วิธีการแบบเก่าๆ ซึ่งเป็นแบบประชานิยม หากเป็นแบบนั้นจะล้มเหลวอีก เสียดายเงิน เงินกี่สิบหมื่นแสนล้านอัดมาแป๊บเดียวก็หมดแล้ว เหมือนการชดเชยชาวสวนยางไร่ละ 1,250 บาท หรือไร่ละ 1,000 บาท คนละ 15 ไร่ ประมาณ 10,000-15,000 บาท เมื่อได้เงินมาก็เจอกันพอดีกับหนี้สินที่พอกพูน พอได้เงินมาก็จะเอาเงินส่วนนี้ไปใช้หนี้ เท่ากับเอาเงินมาให้กับคนมีเงิน คนมีเงินเอามาใส่กระเป๋าแล้วก็เงียบไป เก็บเงินๆ ไม่ได้เอาออกมาใช้ เงินก็ไม่สะพัด วิธีการเช่นนี้จึงไม่เห็นด้วย จะชดเชยรายได้ ชดเชยส่วนต่าง โดยเฉพาะเรื่องยางที่เป็นระดับรากหญ้าจริงๆ นั้น ได้เสนอรัฐบาลไปก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ไม่รู้ว่าอะไรจะเปลี่ยนไปบ้าง" ทศพลระบุ
"สัมพันธ์ กุ้ยเส้ง" กรรมการสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้ความเห็นว่า การช่วยเหลือของรัฐบาลกับระดับรากหญ้านั้นเห็นด้วย ประเทศใดก็ตามเมื่อเกิดสภาวะเงินฝืด รัฐบาลจะอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเพื่อให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันในประเทศที่กำลังพัฒนาในระบบห่วงโซ่อุปทานมีตั้งแต่เกษตรกรซึ่งเป็นระดับรากหญ้า มีลานเท ปาล์มน้ำมัน กว่าจะถึงผู้บริโภคคนสุดท้ายนั้น ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันมีกระบวนการมากมาย เวลารัฐบาลช่วยเหลือรากหญ้า อัดฉีดลงมาเป็นจำนวนเงินมหาศาลคนที่มีสิทธิได้คุยกับรัฐบาลก็จะเป็นข้าราชการประจำ นักการเมือง นักธุรกิจใหญ่ๆ แต่ระดับรากหญ้าไม่ค่อยได้คุย คนที่เขียนแผนเข้าไปจะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย โดยภาษาที่เขียนก็จะเอื้อให้มีช่องมากมายที่เงินพวกนั้นไม่มาถึงรากหญ้า แล้วจะมองเป็นความชอบธรรม
แม้เกษตรกรจะมีความรู้มากมาย แต่เข้าไม่ถึงแผนเหล่านั้น เงินจะไม่ถึงเกษตรกรหรือรากหญ้า ผมมองว่าการอัดฉีดเงินในระดับรากหญ้าจึงไม่เป็นผล และทุกครั้งที่ผ่านมาก็ไม่เป็นผล เงินจะอยู่ที่นายทุนทั้งหมด หากรัฐบาลตั้งใจช่วยเหลือเกษตรกรจริงๆ มองว่าเงินเหล่านั้นเอามาสร้างโรงงาน ช่วยเหลือตรงกลางของห่วงโซ่ เช่น ยางพารา ช่วยให้ชุมนุมสหกรณ์สร้างโรงงานให้ ของปาล์มก็สร้างโรงงานให้ชุมนุมสหกรณ์บริหารกันเอง ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับสมาชิกของสหกรณ์ถึงรากหญ้าจริงๆ เหมือนการให้แหไปหาปลา ไม่ใช่เอาปลาให้เขากิน โรงงานหนึ่งประมาณ 500 ล้านบาท 10 โรง ก็ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น ทำแบบนี้ประเทศชาติจะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้
ขณะที่ "ธีระชัย แสนแก้ว" ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสานและตัวแทนชาวไร่ ให้ความเห็นว่า ชาวไร่อ้อยต้องการให้รัฐบาลเร่งดูแลราคาอ้อย โดยเฉพาะราคาฤดูกาลผลิต 2557/2558 เบื้องต้นราคาขั้นปลายน่าจะอยู่ที่ 850 บาทต่อตันอ้อย จากราคาขั้นต้นอยู่ที่ 900 บาทต่อตัน ทำให้ภาครัฐต้องจ่ายเงินชดเชยคิดเป็นวงเงินรวม 1.3 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าเงินดังกล่าวจะมาจากแหล่งใด ซึ่งชาวไร่อ้อยต้องการให้ภาครัฐจัดงบประมาณสนับสนุน เพราะสถานการณ์เกิดจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับลดลงมาก
เหตุการณ์ที่เงินขั้นปลายถูกกว่าขั้นต้นเคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2549/2550 ช่วงนั้นต้องใช้เงินสนับสนุนรวม 5 พันล้านบาท
"อีกประเด็นที่อยากให้ช่วยเหลือคือ แนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นปี 2558/2559 ที่จะเปิดหีบเดือนพฤศจิกายน คาดว่าราคาจะอยู่ที่ 700-750 บาทต่อตันอ้อยเท่านั้น ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตค่อนข้างมาก ดังนั้นรัฐบาลจะต้องหาแนวทางป้องกันปัญหา อาจใช้แนวทางเดิมคือการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อเพิ่มเงินค่าอ้อยจากราคาประกาศ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องจะมีผลต่อรายได้ชาวไร่อ้อยนับล้านคน" ธีระชัยกล่าวทิ้งท้าย
เสียงสะท้อนจากแกนนำเกษตรกรกลุ่มต่างๆ ก็พอที่จะเป็นแนวทางให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลบิ๊กตู่ ที่มีนายสมคิดนั่งกุมบังเหียน นำไปปรับใช้แก้ปัญหาให้ตรงจุดได้ระดับหนึ่ง
อย่างน้อยอาจจะช่วยให้เงิน 5 หมื่นล้านบาทที่กำลังจะอัดฉีดลงไป ไม่สูญเปล่า!!....