เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ได้ร่วมกับคณะกรรมการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย จัดสัมมนาเรื่อง 'ตลาดคาร์บอน และเครื่องมือส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเอกชนไทย'เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกลไกการตลาดที่ช่วยส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ทิศทางและแนวโน้มของตลาดคาร์บอน และประโยชน์ของการวัดและรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint) ขององค์กร ซึ่งผมเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและสอดรับกับกระแสการผลิตการค้าและการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของโลกมาก
ในปัจจุบันกระแสการวัด รายงาน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งเป็นตัวการของภาวะโลกร้อน) กำลังมาแรง ธุรกิจอาหารเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อภาคเอกชนอย่าง Oxfam ในสหรัฐฯได้ออกรายงาน เรื่อง Standing on the Sidelines : why food and beverage companies must do more to tackle climate change และเรียกร้องให้ 10 บริษัทอาหารรายใหญ่ของโลกดำเนินการต่อต้านภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ให้มากขึ้น
10 บริษัทอาหารรายใหญ่ของโลกดังกล่าว ได้แก่ ABF, Coca-Cola, Danone, General Mills, Kellogg, Mars, Mondelez, Nestle, Pepsi และ Univerlever
Oxfam ระบุว่า 10 บริษัทอาหารรายใหญ่ของโลกนี้ปล่อย GHGs รวม 263.7 ล้านตัน/ปี ซึ่งหากคิดเป็นประเทศแล้วจะอยู่ในลำดับที่ 25 ของโลก และปล่อย GHGs มากกว่ากลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เช่น ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ค และสวีเดน รวมกันเสียอีก
ที่น่าสนใจ คือ ก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทรายใหญ่ปล่อยนี้มีเพียง 11% ที่มาจากการดำเนินงานของบริษัท ขณะที่ส่วนใหญ่ (กว่า 50%) มาจากการผลิตวัตถุดิบการเกษตรใน supply chain
Oxfam มองว่า ภาคเกษตรและป่าไม้ซึ่งปล่อย GHGs ราว 25% ของโลกจะมีแนวโน้มที่จะปล่อย GHGs มากขึ้นตามความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น แต่เพื่อรักษาการเพิ่มของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2ºc ภาคเกษตรต้องเป็นภาคที่ดูดซับ CO2 มากกว่าที่จะปล่อย CO2 ดังนั้น 10 บริษัทอาหารรายใหญ่ของโลกจะมีบทบาทและศักยภาพในเรื่องนี้ เพราะ 10 บริษัทนี้มีรายได้ถึงกว่า 1,000 ล้านดอลล่าร์/วัน และยังไม่มีบริษัทใดควบคุมการปล่อย GHGs ในระดับ supply chain
ดังนั้น ข้อเรียกร้องสำคัญของ Oxfam คือ ขอให้ 10 บริษัทอาหารรายใหญ่ของโลกกำหนดให้ suppliers ต้องมีเป้าการผลิต GHGs เพื่อให้ supply chain มี carbon footprint ลดลง
เครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ได้ตระหนักถึงปัญหาการการปล่อย GHGs มานานแล้ว จึงได้มีนโยบายและมาตรการลดการปลอ่ย GHGs ผ่านโครงการและ กิจกรรมที่หลากหลายทั้งในส่วนของตัวผลิตภัณฑ์และองค์กร เช่น การจัดทำฉลากคาร์บอน (carbon footprint label) ในผลิตภัณฑ์จำนวนมาก, การผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (Co-Generation), การแปรน้ำทิ้งเป็นพลังงาน (waste to energy) , การผลิตก๊าซชีวภาพ (biogas) จากฟาร์มสุกร, และการผลิตไบโอดีเซล(biodiesel) จากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ฯลฯ และได้ขยายโครงการและกิจกรรมต่างๆไปยังบริษัทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในที่สุดก็มีการลด GHGs ตลอด supply chain
โดย ธงชัย บุณยโชติมา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักกฎระเบียบการค้า เครือเจริญโภคภัณฑ์
|