หากจะพูดถึง 'พลวัต'ของการพัฒนาภาคเกษตร จากอดีตสู่ปัจจุบันจะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปมาก พืชเศรษฐกิจที่เคยโดดเด่นในอดีตหลายชนิดเลือนหายไปจากกระดานการค้า ในขณะที่มีพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่เกิดขึ้นมาแทน ที่น่าสนใจ พืชเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงอาหารสัตว์เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่หลากหลายภายใต้คำว่า 4 F
F ตัวแรก คือ Food พืชเศรษฐกิจเป็นอาหารมนุษย์
F ตัวที่สอง คือ Feed พืชเศรษฐกิจเป็นอาหารสัตว์
F ตัวที่สาม คือ Factory พืชเศรษฐกิจก่อให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรม
F ตัวที่สี่ คือ Fuel พืชเศรษฐกิจเป็นน้ำมันบนดินที่ผลิตใช้แทนน้ำมันใต้ดิน
'พืชเศรษฐกิจ' ถือเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อโลก เพราะเป็นพืชแห่งตลาดอนาคต หากย้อนตำนานพืชเศรษฐกิจจะพบว่า ในอดีตหลายร้อยปีที่ผ่านมา นอกจากพริกไทยแล้ว พืชเศรษฐกิจที่เป็นดาวรุ่งอีกตัวหนึ่ง คือดอกทิวลิป ที่มีแหล่งผลิตในประเทศเนเธอแลนด์ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป พืชเศรษฐกิจหลายตัวก็หายไป บางตัวดำรงอยู่ บางชนิดแจ้งเกิดใหม่
ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พืชตัวใหม่ที่เกิดขึ้น คือ อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวนมาก มีแหล่งปลูกขนาดใหญ่ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ใครผ่านไปบริเวณริมแม่น้ำนครชัยศรี จะเห็นว่ามีโรงงานน้ำตาลมากมาย และอีกพื้นที่หนึ่งที่ปลูกอ้อยจำนวนมากเช่นกัน คือ ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
โรงงานน้ำตาลสมัยก่อนต่างจากโรงงานในปัจจุบัน ใช้แรงงานโคกระบือในการหีบอ้อยสกัดน้ำตาล วิธีทำน้ำตาลก็ทำง่ายๆ คือ นำอ้อยใส่เข้าไปในขวดที่มีรูตรงก้น ก็จะได้น้ำตาลก้อน กลายเป็นสินค้ายอดฮิตในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะยุโรปต้องการน้ำตาลจากอ้อย แล้วอ้อยก็จะปลูกได้เฉพาะในแถบพื้นที่โซนร้อนเท่านั้น อ้อยจากเอเชียจึงขึ้นชื่อโด่งดังไปทั่วโลก แต่ในที่สุดเมื่อมีการเซ็นสัญญาเบาริ่ง ในช่วงรัชกาลที่ 4 ตลาดการค้ากลายเป็นตลาดเสรี อ้อยของไทยสู้ของชวาไม่ได้จึงหายไปจากตลาดและกลับมาอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อมีการแก้ไขสนธิสัญญาเบาริ่งว่าด้วยการเปิดตลาดให้ต่างชาติ เข้ามาค้าขายได้เต็มที่ ประเทศไทยจึงสามารถกำหนดกรรมสิทธิ์ได้เพิ่มมากขึ้น และนี่คือที่มาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่รุ่งเรืองในปัจจุบัน
พืชเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งที่มีประวัติเก่าแก่ไม่แพ้กัน คือ ยางพารา เกิดในช่วงรัชกาลที่ 5 โดยพระยา
รัษฏานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) นำยางพาราต้นแรกจากประเทศสิงคโปร์มาปลูกที่จังหวัดตรัง และมีการขยายพื้นที่ปลูกในเขตภาคใต้อย่างต่อเนื่อง จนที่สุดอ้อย-น้ำตาล และยางพารา กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจไทย
ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีพืชเศรษฐกิจแจ้งเกิดใหม่อีกตัว นั่นคือ มันสำปะหลัง เกิดขึ้นจากนโยบายด้านการเกษตรของสหภาพยุโรป ที่มีการปกป้องสินค้าจำพวกธัญพืชทำให้ธัญพืชที่มีการนำเข้าไปที่ยุโรปถูกเก็บภาษีแพง ผู้ประกอบการจึงเลี่ยงไปนำเข้าพืชจำพวกแป้งที่มาจากหัวธัญพืชนำไปผสมกับกากถั่วเหลืองเป็นอาหารสัตว์ ทำให้ธุรกิจมันสำปะหลังเข้าสู่ยุครุ่งเรือง
นอกจาก อ้อย-น้ำตาล ยางพารา มันสำปะหลังแล้วยังมี ข้าว ข้าวโพด ปาล์มน้ำมันที่แจ้งเกิดแล้วเติบโตขึ้นมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยด้วย
แต่แล้วก็มาถึงช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์การเกษตรของไทย ในช่วงปี 1970 เมื่อมีการประกาศลอยตัวเงินดอลลาร์ เงินเยนก็แข็งค่าขึ้นทันที ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตอาหารสู่เอเชีย ภาคเกษตรไทยจึงมีการพัฒนามากขึ้น มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดเป็นอุตสาหกรรมเกษตรนอกจากผลิตเพื่อเป็นอาหารมนุษย์ อาหารสัตว์แล้วยังผลิตเพื่อการส่งออกด้วย
ช่วงนั้นเครือซี.พี.เอง ได้ตั้งโรงงานอาหารสัตว์ทันสมัยแห่งแรก ที่ถนนบางนา-ตราด กม.21 นำธัญพืชมาแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ก็เปิดโรงงานผลิตอาหารทะเลส่งออกไปญี่ปุ่นกันมากมาย
ถัดมาอีกไม่กี่ปี ในทศวรรษที่ 1980’s เมื่อเงินเยนได้แข็งค่าขึ้นมาก ญี่ปุ่นได้ย้ายฐานการปลูกผัก ผลไม้ มาเอเชียด้วย ทำให้เกิดพัฒนาการพืชเศรษฐกิจใหม่อีกระลอกหนึ่ง เป็นยุคของการส่งออกหน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบเขียว ฯลฯ
นี่คือ วิวัฒนาการของพืชเศรษฐกิจไทย ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ของภาคเกษตรไทยทั้งหมด
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เริ่มต้นเปิดการเรียนการสอนจาก บริหารธุรกิจ การค้าสมัยใหม่ เช่น ค้าปลีก วิศวกรรม และปัจจุบันขยายไปในสาขาเกษตรและอาหาร การจัดการนวัตกรรมการเกษตร และอื่นๆ รวมทั้งหมด 10 คณะ โดยการดึงเอาองค์ความรู้ในเครือซี.พี. กลุ่มซีพีออลล์ ตลอดจนพันธมิตร ซับพลายเออร์ เข้ามาสู่ห้องเรียน เพราะสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ คือ Corporate University ที่เชื่อมโยงองค์กรความรู้ทางธุรกิจเข้ากับภาควิชาการ
ปัจจุบันสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบที่เปิดสอนทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ โดยจุดแข็งอยู่ที่คำว่า Management หรือการจัดการ นั่นหมายถึง นักศึกษาPIMต้องเป็นนักจัดการที่ดี เป็นนักบริหารที่ดี ไม่ว่าจะเป็นคณะบริหาร หรือสาขาด้านการเกษตรและอาหาร เพราะPIMตระหนักดีว่าเกษตรและอาหารเป็นเสมือนเส้นเลือด เป็นเสาหลักที่สำคัญของเมืองไทย ที่ไม่ได้มีขอบเขตการดำเนินธุรกิจเฉพาะประเทศไทย แต่มีการเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย มิติว่าด้วยการเกษตรจึงมีพลวัตการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ภาคเกษตรไทยจะอยู่รอดได้จึงต้องคำนึงถึงคำว่า SME
S หมายถึง Sustainability ความยั่งยืนของภาคเกษตรไทยจะทำอย่างไร
M หมายถึง Modernization เราจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆอย่างไร ทั้งการผลิตด้านการเกษตร การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้จัดการพื้นที่การเกษตร เช่น ดาวเทียม ระบบคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
E หมายถึง Education การทำเกษตรยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา วิจัย การพัฒนาภาคเกษตรในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ ด้านการผลิตบุคลากร การพัฒนาคุณภาพของผลผลิต
ภาคเกษตรของไทย โดยเฉพาะ 'พืชเศรษฐกิจ'จึงจะสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน
โดย…รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
|