- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Saturday, 15 August 2015 21:52
- Hits: 8123
ฟิทช์ มองการแข่งขันรุนแรงกระทบการทำกำไรผู้ประกอบการโทรมือถือไทย
ฟิทช์ คาดว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไทยจะยังคงใช้กลยุทธ์ในการส่งเสริมการขายที่รุนแรงทั้งในรูปแบบการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัทพ์เคลื่อนที่(Handset subsidy) และการเสนอแพ็คเกจการใช้งานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง (Unlimited data offering) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของกำไรของผู้ประกอบการในครึ่งปีหลังของปี 2558 ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด (Marketing expense) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นน่าจะลดทอนประโยชน์จากค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ภาครัฐ (Regulatory cost) ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก
ผลประกอบการไตรมาสล่าสุดของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) หรือ AIS (BBB+/AA+(tha)/Stable) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) (BBB/AA(tha)/Positive) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่สุดสองรายและมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้ค่าบริการรวมกันมากกว่า 80% ของอุตสาหกรรม แสดงให้เห็นว่าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทาย
สภาวะเศรฐกิจในประเทศที่อ่อนแอส่งผลให้รายได้จากค่าบริการในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 ไม่เติบโตและอยู่ในระดับเดียวกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รายได้จากบริการด้านเสียง (Voice service) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 8 ขณะที่รายได้จากบริการด้านข้อมูล (Non-voice service) แม้ว่าจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่การเติบโตอยู่ในอัตราที่ลดลงเล็กน้อยในไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากสัดส่วนของผู้ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 50% ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 การใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายที่รุนแรงในการแข่งขัน เช่นการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัทพ์เคลื่อนที่และการเสนอแพ็คเกจการใช้งานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR margin) และกำไรของผู้ประกอบการเติบโตได้ไม่เต็มที่
ฟิทช์ คาดว่าผู้ประกอบการจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 โดยผู้ประกอบการอาจใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่รุนแรงขึ้นเพื่อรักษาหรือเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ผู้ประกอบการมือถือรายใหญ่สุด (AIS) มีแผนที่จะเพิ่มส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G สำหรับผู้ใช้งานระดับกลางและระดับล่าง เพื่อเร่งการโอนย้ายไปยังระบบใบอนุญาต 3G เนื่องจากระบบสัมปทาน 2G จะหมดอายุลงในเดือนกันยายน 2558 ในขณะที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อันดับสอง (DTAC) น่าจะยังคงเสนอส่วนลดค่าเครื่องและแพ็คเกจในการใช้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 เนื่องจากบริษัทมีความต้องการที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับคืนมาจากคู่แข่ง
อัตราส่วนกำไรต่อรายได้จากการขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ประกอบการน่าจะยังคงติดลบและค่าใช้จ่ายทางการตลาดน่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวอาจลดทอนประโยชน์จากค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ภาครัฐที่ปรับตัวลดลงจากการโอนย้ายไปยังระบบใบอนุญาต 3G ทั้งนี้ AIS ได้ปรับลดประมาณการอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ในปี 2558 เพื่อสะท้อนถึงการให้ส่วนลดลดค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 โดยบริษัทคาดว่า EBITDA margin จะไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 44.7% โดยเมื่อเทียบกับประมาณการก่อนหน้านี้ที่บริษัทคาดว่า EBITDA margin จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1%-2% ในปี 2558 ในขณะที่ DTAC คาดว่า EBITDA margin จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 31%-33% ในปี 2558 จาก 34.3% ในปี 2557 (ประมาณการก่อนหน้านี้: EBITDA margin อยู่ในระดับเดียวกับปี 2557) เพื่อสะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง
ฟิทช์ คาดว่าการแข่งขันด้านราคาสำหรับการให้บริการด้านข้อมูลน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2559 หลังจากที่ผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตและเปิดให้บริการ 4G ฟิทช์มองว่าการให้บริการ 4G ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบแพ็คเกจข้อมูล เพื่อเพิ่มรายได้จากการให้บริการให้สอดคล้องกับปริมาณการใช้งานข้อมูลที่สูงขึ้น โดยการนำเสนอแพ็คเกจข้อมูลแบบคิดตามปริมาณการใช้งานสำหรับการให้บริการ 4G แทนการเสนอแพ็คเกจการใช้งานข้อมูลอย่างต่อเนื่องสำหรับบริการ 3G
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรต่อรายได้ของ AIS และ DTAC ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้ประกอบการทั้งสองมีสถานะทางธุรกิจที่ดีในการรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงโดยไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิต อย่างไรก็ตามยังคงมีความเสี่ยงในกรณีที่มีการแข่งขันในอุตสาหกรรมสูงกว่าที่คาดไว้มาก และส่งผลให้อัตราส่วนกำไรต่อรายได้และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของผู้ประกอบการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของผู้ประกอบการอาจไม่เพียงพอในการรองรับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและเงินปันผลที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่ออันดับเครดิต