โลกร้อน !! ...คำอุทานที่ได้ยินคุ้นหูในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา และเสียงนี้นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ผมจึงมีเรื่องราวการลดภาวะโลกร้อนโดยภาคอุตสาหกรรม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นจำเลยตัวสำคัญในทุกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วภาคอื่นๆ ก็ล้วนมีส่วนสร้างปัญหา มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันออกไป
ผมได้ลองไปหาข้อมูลของโรงงานอุตสาหกรรมมาดู พบว่าในยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาสถานผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้พยายามดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 นั้น ปัจจุบันมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1.2 หมื่นราย ในจำนวนนี้ทางกระทรวงได้แบ่งระดับการจัดการเพื่ออุตสาหกรรมสีเขียวเป็น 4 ระดับ คือ
ระดับที่ 1 ผู้ประกอบการที่มีความมุ่งมั่นสัญญาสีเขียว (Green Commitment) คือตั้งใจว่าจะทำ มีอยู่ราวๆ 6,500 ราย ระดับที่ 2 เป็นประเภทมีปฏิบัติการสีเขียวคือประเภทลงมือแล้ว (Green Activity) กว่า 2,700 ราย ระดับที่ 3 ผู้ประกอบการที่มีระบบสีเขียว (Green system) ในการดำเนินกิจการ คือทำอย่างมีระบบราว 2,100 ราย และระดับสุดท้าย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ คือ องค์กรที่มีวัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) ผมขอเรียกว่า องค์กรที่มีหัวใจสีเขียว คือทำจริงจังทำด้วยใจอยู่ในจิตใต้สำนึก ไม่ได้ทำแบบฉาบฉวย ซึ่งมีผู้ประกอบการประเภทนี้และผ่านการรับรองแล้ว 30 ราย
อันที่จริงการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับกระบวนการการผลิต การพัฒนาสินค้า หรือบริการ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกำหนดให้เป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ใช่ว่าจะมีแต่ต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้เท่านั้น หากแต่ประโยชน์ในทางธุรกิจก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น เป็นการสร้างโอกาสทางการค้ากับกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือตลาดสีเขียว ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น
ที่สำคัญยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ธุรกิจและองค์กร ซึ่ง หมายถึงความเจริญก้าวหน้าเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว สำหรับประเทศไทย นับได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าดีใจ เพราะเราเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีภาคอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวมากเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชีย
ในปี 2558 ปีที่จะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมสีเขียว พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทั่วไทยกว่า 70,000 แห่ง สมัครใจเข้าร่วมโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว โดยเฉพาะเอสเอ็มอี โดยกระทรวงได้ทยอยสนับสนุนให้สินเชื่อกับเอสเอ็มอีที่เน้นความเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวไปแล้วกว่า 23,000 ราย ด้วยเงินสนับสนุน 1,600 ล้านบาท
จากเรื่องราวที่ผมได้นำหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังนี้ ถือเป็นการสร้างกระแสส่งเสริมให้มีกระบวนการและผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างสมดุลให้เศรษฐกิจเติบโตไปในทิศทางสีเขียว และโอกาสสำคัญที่ไทยจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสทองที่อุตสาหกรรมของเราจะได้สร้างเครือข่ายสีเขียวให้เกิดขึ้นกับทั้งภายในประเทศเองและขยายวงไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อความเป็นผู้นำในตลาดสีเขียวต่อไป
ที่มา:คอลัมน์: เล่าสู่กันฟัง หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
โดย บัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด(มหาชน)
|