สภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ทางการเมืองในรอบปีที่ผ่านมาส่งผลให้สินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการของไทย มีทิศทางที่ไม่สดใสมากนัก โดยเฉพาะสินค้าหลัก เช่น ข้าว ยางพารา มีตัวเลขการส่งออกที่ลดลงทั้งเชิงปริมาณและมูลค่า ในปี 2557 อุตสาหกรรมสินค้าเกษตรของไทยจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะเกษตรคือฐานรากที่สำคัญของประเทศไทย
หากนำข้อมูลเชิงสถิติในปี 2556 (ม.ค.-ต.ค.)มาวิเคราะห์ จะพบว่าด้านมูลค่าการค้าขายสินค้าเกษตรมวลรวมของไทยกับตลาดส่งออกที่สำคัญในกลุ่มอาเซียน อย่างบรูไน อินโดนีเซีย ลาว เวียดนาม กัมพูชา ฯลฯ หรือแม้แต่ประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยยังคงได้ดุลการค้าอยู่มาก ถึงแม้ว่าจะได้รับความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็ตาม
สิ่งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเกษตรกรไทย ศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติของไทยที่เหมาะกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ คนไทยเป็นคนที่มีความสามารถ แต่จะทำอย่างไรให้เกษตรกรไทยอยู่ดีกินดี สามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้เหมือนเกษตรกรประเทศอื่น อย่างญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน การพัฒนาเกษตรกรไทยจึงเป็นการสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมเกษตรของไทย
ยิ่งถ้ามองไปในอนาคต จะพบว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านคน จากปัจจุบันมีทั้งหมด 7,100 ล้านคน ทำให้ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นมหาศาล ในขณะที่พื้นที่ทำการเกษตรมีจำกัด หากเราสามารถบริหารจัดการพื้นที่ที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด อุตสาหกรรมเกษตรก็จะช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทยไปอีกนาน
และโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ คือ การรวมกลุ่มของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ 2 เรื่อง คือ โอกาสในการแสวงหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำเกษตรกรรมได้มากขึ้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังมีพื้นที่ว่างที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมอยู่จำนวนมาก ทั้งในแง่ของธรรมชาติและค่าแรง เมื่อผลิตแล้วนำเข้ามาแปรรูปในประเทศไทยแล้วส่งออกไปขายในต่างประเทศก็จะสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้ และโอกาสที่สอง คือ ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เพราะเมื่อเราต้องผลิตสินค้าและบริการแข่งในอาเซียนคุณภาพและประสิทธิภาพต้องสูงขึ้นตามไปด้วย ประเทศไทยต้องเตรียมการอย่างไรเพื่อรองรับโอกาสที่เกิดขึ้น?
จากประสบการณ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซี.พี.)ที่ก้าวไปลงทุนในเกือบทุกประเทศในอาเซียนตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เรื่องของ บุคลากร ถือว่าสำคัญมาก
แต่บุคลากรด้านการเกษตรของไทยวันนี้ยังมีจุดอ่อนอยู่มาก โดยเฉพาะในเรื่องของการบริการบริหารจัดการ
การพัฒนาการเกษตรรุ่นใหม่ จึงต้องเน้นความเป็น Smart Officer
ในฐานะที่เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เปิดคณะนวัตกรรมการจัดการการเกษตร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการการเกษตรที่ทันสมัย จูงใจให้เด็กรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญเรื่องการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมเกษตร อาทิ เครื่องเพาะกล้า เครื่องดำนา รถเก็บเกี่ยว จักรกลในสวน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยฯลฯ
นักศึกษาในหลักสูตรนี้จะได้เรียนเกี่ยวกับ การจัดซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพ การขนส่งสินค้า การตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ บัญชีการเงิน งบประมาณ การจัดทำบันทึกต้นทุน กำไร รวมไปถึงการวางแผนในการทำธุรกิจการเกษตร เพราะวัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้ ต้องการปลูกฝังให้บัณฑิตจบแล้วไปเป็น 'ผู้จัดการ'ไม่ใช่ 'ผู้ใช้แรงงาน'
เปลี่ยนจากการทำเกษตรกรรมแบบเก่า เป็น Smart Agriculture
การเกษตรยุคใหม่จะนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้งานซึ่งมีผู้เรียกการเกษตรยุคใหม่นี้ว่าเป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) ตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยีดาวเทียมที่รู้จักกันในปัจจุบัน คือ ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลกหรือ จีพีเอส (GPS: Global Positioning System) มาทำงานร่วมกับจักรกลเกษตรทันสมัย โดยเริ่มต้นจากการเก็บตัวอย่างดินในแปลงเกษตรโดยระบุตำแหน่งที่ทำการเก็บตัวอย่างด้วยระบบจีพีเอส เพื่อนำตัวอย่างดินไปทำการวิเคราะห์ในห้องปฎิบัติการ จากนั้นเก็บผลวิเคราะห์ดินพร้อมข้อมูลตำแหน่งจุดพิกัดการเก็บตัวอย่างลงในระบบคอมพิวเตอร์และเก็บผลการคำนวณปริมาณปุ๋ยที่ต้องใส่ลงไปในแปลงตามจุดพิกัดที่กำหนดลงในระบบคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นกัน กลายเป็นแผนที่ดิน (Soi Map) ข้อมูลจากแผนที่ดินเหล่านี้จะเชื่อมต่อไปที่ระบบคอมพิวเตอร์ในรถแทรกเตอร์ที่มีอุปกรณ์ใส่ปุ๋ยที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ในตัวรถแทรกเตอร์ และเมื่อรถแทรกเตอร์เคลื่อนตัวอยู่ในแปลงมาถึงจุดพิกัด ต่าง ๆ ระบบจีพีเอสที่อยู่ตัวรถ จะรับสัญญาณระบุพิกัดจานดาวเทียม และแจ้งให้คอมพิวเตอร์รับรู้เพื่อจะสั่งงานให้อุปกรณ์ใส่ปุ๋ยตามสูตรในปริมาณที่ได้กำหนดไว้สำหรับแปลงในแต่ละพิกัดตามข้อมูลในแผนที่ดินที่ได้ติดตั้งไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อนหน้านี้แล้ว
ระบบนี้ในต่างประเทศได้นำมาใช้แล้วไม่ว่าจะเป็น อเมริกา บราซิล ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ประเทศไทยก็มีโอกาสพัฒนาไปถึงจุดนั้น เพราะมีหลายธุรกิจที่สามารถทำได้หากมีการจัดโซนนิ่งการปลูกที่ชัดเจน เช่น ไร่อ้อยที่มีพื้นที่ติดกันเป็นหมื่นไร่ หรือการทำนาข้าว
นโยบาย Smart Farmer Smart Officer ที่กระทรวงเกษตร กำลังดำเนินการอยู่จึงถือว่าเดินมาถูกทิศถูกทางแล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องทำต่อคือสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร เพราะในระยะแรกอาจจะต้องใช้งบลงทุนสูงแต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นหลังเก็บเกี่ยวถือว่าคุ้ม และการทำเช่นนี้จะทำให้อุตสาหกรรมเกษตรของไทยก้าวไปสู่ความทันสมัยและอยู่ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน
และหากนำงานวิจัยต่างๆมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ก็จะทำให้อุตสาหกรรมเกษตรก้าวไกล เช่น วิจัยพันธุ์ที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม เบต้าแคโรทีน เข้าไปในข้าวช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารและทำให้จำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้นด้วย
เกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต แต่ต้องมองอย่างมียุทธศาสตร์ วันนี้ประเทศไทยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญหลายอย่าง นอกจากปาล์มแล้วยังมีมันสำปะหลังและอ้อย ที่สามารถพัฒนาเป็นพลังงานทดแทนได้ ประเทศไทยส่งออกมันสำปะหลังเป็นอันดับ 1 ของโลก ส่วนอ้อยหลังจากแปรรูปเป็นน้ำตาลประเทศไทยส่งออกปีละ 7 ล้านตัน เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล ในแถบเอเชียมีหลายประเทศที่นำเข้าน้ำตาลทราย เฉพาะอินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย และอินเดีย นำเข้าน้ำตาลปีละ 14.9 ล้านตัน นั่นหมายความว่าส่วนที่เหลือได้นำเข้าจากบราซิล ซึ่งถ้ามองในแง่ของโลจิสติกส์ จะเห็นว่าประเทศไทยใกล้กว่าบราซิลมาก ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ประเทศในแถบเอเชียเป็นตลาดของเรา
ในส่วนของผลไม้ก็เช่นกัน จากสถิติการส่งออกผลไม้ไปประเทศจีน เฉพาะทุเรียน ในปี 2550 ตัวเลขอยู่ที่ 75,182 ตัน ในปี 2555 ตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 204,500 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 300 สะท้อนให้เห็นว่าจีนมีแนวโน้มในการนำเข้าทุเรียนจากไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นทำอย่างไรประเทศไทยจะสามารถผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพและส่งออกไปขายได้เพียงพอกับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น
ทั้งหมดนี้ จะเห็นว่า สินค้าเกษตรของไทยยังมีโอกาสอีกมากมายในเวทีการค้าโลก สิ่งสำคัญอยู่ที่ยุทธศาสตร์ ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องช่วยกันยกระดับ 'เกษตรกร'ให้ก้าวขึ้นมาเป็น 'เถ้าแก่'ด้วยวิธีบริหารจัดการการเกษตรแบบทันสมัย นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มคุณภาพให้กับสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรของไทยในปี 2557 ก็จะมีแนวโน้มที่รุ่งโรจน์กว่าที่ผ่านมา
โดย นายมนตรี คงตระกูลเทียน รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์
|