การรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community)หรือ AEC ในปี 2558 อุตสาหกรรมไข่ไก่ไทยจะยู่ตรงไหน? ใน AEC
หากนำข้อมูลอุตสาหกรรมไก่ไข่ในประเทศต่าง ๆ ใน AEC มาวิเคราะห์เปรียบเทียบก็จะเห็นภาพชัดเจนว่า แม้อุตสาหกรรมไข่ไก่ของไทยจะมีข้อได้เปรียบอยู่มาก แต่ในโอกาสก็มีอุปสรรคอยู่เหมือนกัน ดังนั้นอุตสาหกรรมไข่ไก่ของไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ก่อนที่จะกล่าวถึงอุตสาหกรรมไข่ไก่ใน AEC ขอฉายภาพสถานการณ์ไข่ไก่โลก ให้เห็นภาพรวมของอุตสาหกรรมนี้ก่อน
ตัวเลขล่าสุดปี 2554 ผลผลิตไข่ไก่ทั้งโลก อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านฟอง หรือคิดน้ำหนักเป็นประมาณ 65 ล้านตัน มีจีนเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่ง ได้ผลผลิตประมาณ 37% ของผลผลิตรวมของโลก มีอัตราการเติบโต จากปี 2553 ประมาณ 11% ผลผลิตของ ASEAN คิดเป็นประมาณ 5% ของผลผลิตรวมของโลก
สัดส่วนการผลิตไข่ไก่สด ทั้งโลก ปี 2554
ที่มา : FAO, 2012
การส่งออกไข่ ของทั้งโลก จะอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่น ล้านฟอง(3% ของผลผลิตรวม) มีเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก
ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มประเทศ ยุโรป โดยมีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้น มากกว่าปีก่อน ถึง 62% การที่การส่งออกไข่ของยุโรป เติบโตมากเพราะ มีสินค้าที่ส่งออกส่วนหนึ่ง เป็นสินค้า”ไข่แปรรูป” การนำเข้า ประมาณ 3 หมื่นล้านฟอง มีกลุ่มที่นำเข้า 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1/ กลุ่มยุโรป และ 2/ตะวันออกกลาง, และ 3/เอเชีย (คือ จีน และ สิงคโปร์)
ส่วนการนำเข้า EU เป็นผู้นำเข้ากลุ่มใหญ่เช่นกัน โดย EU จะนำเข้า และ นำมาแปรรูป เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและการส่งออก
สำหรับประเทศไทยจากภาพรวมอุตสาหกรรมไข่ไก่ไทย ปี 2552-2556 จะเห็นว่าธุรกิจไก่ไข่ของไทย ผลิตเพื่อ รองรับการบริโภคในประเทศเป็นหลัก มีการส่งออก นำเข้าบ้างเล็กน้อย มีต้นทุนการผลิต ห่างจากราคาหน้าฟาร์มไม่มาก เฉลี่ย 5 ปีอยู่ที่ประมาณ 20 สตางค์ ดังนั้นเมื่อใดที่ราคาไข่ไก่ผันผวนเพียงเล็กน้อย เกษตรกรก็จะตกอยู่ในภาวะขาดทุนได้ง่ายๆ
อุตสาหกรรมไข่ไก่ไทย ปี 2552-2556
รายการ
|
หน่วย
|
2552
|
2553
|
2554
|
2555
|
2556
|
เฉลี่ย 5 ปี
|
ผลผลิตไข่ไก่
|
ล้านฟอง
|
10,580
|
10,800
|
11,363
|
13,320
|
13,519
|
11,916
|
การส่งออกไข่ไก่
|
ล้านฟอง
|
419
|
365
|
146
|
75
|
181
|
237
|
การนำเข้าไข่ไก่
|
ล้านฟอง
|
0.23
|
0.54
|
2.94
|
0.91
|
Na
|
1.16
|
การบริโภคในประเทศ
|
ล้านฟอง
|
10,161
|
10,436
|
11,220
|
13,246
|
13,338
|
11,680
|
อัตราบริโภค
|
ฟอง/คน/ปี
|
158
|
163
|
173
|
200
|
210
|
181
|
ต้นทุนการผลิต
|
บาท/ฟอง
|
2.22
|
2.42
|
2.61
|
2.58
|
2.80 *
|
2.53
|
ราคาหน้าฟาร์ม
|
บาท/ฟอง
|
2.37
|
2.65
|
3.01
|
2.56
|
3.02 *
|
2.72
|
กำไร / ขาดทุนของฟาร์ม
|
บาท/ฟอง
|
0.15
|
0.23
|
0.40
|
-0.02
|
0.22
|
0.20
|
ที่มา : คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์
หมายเหตุ : * เป็นค่าเฉลี่ย 10 เดือน
อุตสาหกรรมไข่ไก่ไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ใน AEC แล้วไข่ไก่ของไทยจะเป็นอย่างไร ?
การผลิตไข่ไก่สดในอาเซียน ข้อมูลล่าสุดในปี 2554 มี 7 หมื่นล้านฟอง หรือ 3.5 ล้านตัน อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ 33 % ไทย 17 %
สัดส่วนการผลิตไข่ไก่สด อาเซียน ปี 2554
ที่มา : FAO, 2012
ในขณะที่อัตราการบริโภคโดยเฉลี่ยทั้งอาเซียนอยู่ที่ 107 ฟองต่อคน/ปี โดยบรูไนมีการบริโภคมากที่สุด 333 ฟอง/คน/ปี สิงคโปร์ 315 ฟอง/คน/ปี มาเลเซีย 249 ฟอง/คน/ปี ไทย 159 ฟอง/คน/ปี อินโดนีเซีย 104 ฟอง/คน/ปี ฟิลิปปินส์ 90 ฟอง/คน/ปี พม่า 89 ฟอง/คน/ปี เวียดนาม 68 ฟอง/คน/ปี ลาว 55 ฟอง/คน /ปี และกัมพูชา 27 ฟอง/คน/ปี
ทั้งนี้ประเทศที่มีการส่งออกไข่ไก่สดในอาเซียนมีประมาณ 1 แสนล้านตัน หรือ 1,700 ล้านฟอง มากที่สุด คือ มาเลเซีย 89 % ส่งออกไปฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ พม่า ลาว และเวียดนาม ส่วนไทยมีการส่งออกในตลาดนี้เพียง 9 % และอื่นๆ 2 % ในขณะที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่นำเข้ามากที่สุด 99 % โดยนำเข้าจากมาเลเซีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สวีเดน และสหรัฐฯ ส่วนประเทศอื่นๆในอาเซียนมีการนำเข้าจากประเทศกลุ่มนี้เพียง 1 %
ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ดูเหมือน ผู้ผลิต ผู้ค้า ไก่ไข่ ในเวียดนาม น่าจะเป็นประเทศที่มี ยุทธ์ศาสตร์ หรือกลยุทธ์ การปรับตัวของอุตสาหกรรมไก่ไข่ที่น่าสนใจมาก เพราะแม้เวียดนาม จะมีกำลังการผลิตที่ 5,877 ล้านฟอง/ปี (เพียง ครึ่งหนึ่งของไทยเท่านั้น)
อุตสาหกรรมไข่ไก่เวียดนาม เปรียบเทียบกับไทย (หน่วย:ล้านฟอง)
หมายเหตุ: ของไทยคิดเฉพาะไข่ไก่สด
แต่ผลผลิตของเวียดนามใช้บริโภคในประเทศ และยังไม่เพียงพอกับความต้องการแต่ละปี จึงต้องนำเข้าประมาณ 2 แสนฟอง ในขณะที่มีการส่งออกประมาณ ปีละ 22 ล้านฟอง ราคาหน้าฟาร์มอยู่ที่ 2.70 บาท/ฟอง ราคาขายปลีก 3.30-3.50 บาท/ฟอง (ใกล้เคียงกับของไทย) แต่เวียดนามมีกลยุทธ์ หรือยุทธ์ศาสตร์ ที่จัดการกับราคาไข่ตกต่ำได้น่าสนใจมาก กล่าวคือ ผู้เลี้ยงไก่ไข่เวียดนามจะ พยายามรักษา ระดับราคา ไก่ไข่แก่ ที่จะปลดไว้ให้สูง (ราคาไก่ปลดที่สูงเฉลี่ยถึง 85-90 บาท/กก--เทียบกับไทยอยู่ที่ 50-60 บาท/กก.) เมื่อใดก็ตาม ที่ราคาไข่ไก่มีท่าทีตกต่ำ นักธุรกิจไก่ไข่ของเวียดนาม จะพร้อมใจกันปลดไก่ไข่ทันทีทำให้แก้ปัญหาOver Supply ได้ลดปัญหาเรื่องราคาตกให้แก่เกษตรกรได้ ทำให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพ ได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ชาวเวียดนาม ยังรู้จักใช้กลยุทธ์การตลาดบริหารราคาสินค้าตามฤดูกาล กล่าวคือ ถึงแม้ โดยปกติโดยชาวเวียดนามจะชอบบริโภคไข่เป็ดมากกว่าไข่ไก่ ทำให้ช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ไข่เป็ดจะราคาสูงมากและขายดีมาก เพราะใช้ไข่เป็ดมาทำไส้ไข่เค็มในขนม ดังนั้นในช่วงนั้นนักธุรกิจเวียดนาม จึงใช้กลยุทธ์ราคาไข่ไก่ไม่สูงมาก เพื่อจูงใจให้คนหันมากินไข่ไก่แทนไข่เป็ด ทำให้ไข่ไก่ในฤดูกาลดังกล่าวจะขายดีมาก แลในช่วงปีใหม่จะใชเกลยุทธ์ราคาแบบเดียวกัน ทำให้ไข่ไก่จะขายดีมาก เกิดแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการแปรรูปมาทำเป็นเบเกอรี่ขายได้จำนวนมาก
อีกทั้ง สภาพการค้าส่ง-ค้าปลีกไก่ไข่ของเวียดนามมีการจัดระบบที่ดี ทำให้เกิดความยั่งยืนที่น่าสนใจ กล่าวคือ ระบบการค้าส่งของเวียดนามมี ผู้ค้าส่ง หรือ ล้ง อยู่ 10 ราย และ ทุกรายมี Brand เป็นของตนเอง ทำให้เกิดยุทธ์ศาตร์ไก่ไข่ของเวียดนาม ในระดับประเทศที่น่าสนใจ เพราะผู้ประกอบการที่มี Brand ทุกราย ตั้งใจรักษาภาพลักษณ์ Brand ของตนเอง ดังนั้นการแข่งขันจึงแข่งกันที่คุณภาพ-ไม่ได้แข่งกันที่ราคา เกิดแนวทางในการรักษาเสถียรภาพราคาร่วมกัน
จากกรณีศึกษา ของเวียดนาม จึงทำให้ได้แง่คิด ที่น่าสนใจว่า หากจะทำให้ไก่ไข่ไทย มีเสถียรภาพทางราคา ได้มากกว่าในปัจจุบัน การตลาดไข่ไก่ของไทยจะต้องทำให้ระบบธุรกิจไก่ไข่ มีตลาดรองรับในทุกขั้นตอน ของ Supply Chain เช่น เวียดนามมีโรงเชือดไก่ไข่ปลด ในจำนวนพอเพียง รวมทั้งมีตลาดรองรับไก่ไข่ปลด ทำให้เมื่อมีปัญหาไก่ไข่ล้นตลาด นักธุรกิจเวียดนามพร้อมที่จะใช้กลยุทธ์ ปลดไก่แก่ได้ทันที ทำให้ ภาวะไข่ไก่ Over Supply และ ราคา ไข่ไก่ ตกต่ำของเวียดนาม คลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งการใช้กลยุทธ์ราคา ในช่วงฤดูกาลที่ต้องการเร่งยอดขาย และกลยุทธ์Branding เพื่อรักษาคุณภาพไก่ไข่ทั้งระบบ ทำให้ทั้งระบบของเวียดนามมีความยั่งยืน
ส่วนมาเลเซียมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 5 ราย รวม 14 ฟาร์ม นอกนั้นเป็นเกษตรกรรายย่อย ปี 2554 มาเลเซียผลิตได้ 23 ล้านฟอง/วัน เทียบกับไทย ผลิตได้ 32 ล้านฟอง/วัน แต่มาเลเซีย มีการส่งเสริมการผลิตไข่ไก่ ในรูปแบบไข่มูลค่าเพิ่ม เช่น ให้มีการเพิ่มสารอาหารในไข่ไก่ ส่งเสริมการแปรรูปไข่มากขึ้น มีการส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่อย่างจริงจัง ปี 2553 มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 249 ฟอง/คน/ปี ถือเป็นรูปแบบของอุตสาหกรรมไข่ไก่ที่ดี
จากข้อมูลเปรียบเทียบดังกล่าวทั้งหมดจะเห็นว่าเกษตรกร และ นักธุรกิจไข่ไก่ของไทยยังมีโอกาสอยู่อีกมาก เพราะอัตราการบริโภคไก่ไข่ของคนไทยยังต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ ได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ไก่ไข่ (พ.ศ.2557-2561) ภายใต้เป้าหมายยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 3 ข้อ คือ 1) ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่สดจาก 210 ฟอง/คน/ปี ใและเพิ่มเป็น 270 ฟอง/คน/ปี ในปี 2560 (คณะทำงานยุทธศาสตร์ไก่ไข่, 2557), 2) เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นแหล่งผลิตไข่ไก่คุณภาพ โดยฟาร์มไก่ไข่เชิงพาณิชย์ ต้องเป็นฟาร์มมาตรฐานทั้งหมดในปี 2558, 3)ขยายตลาดส่งออกไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ร้อยละ 5 ต่อปี
ดังนั้น เมื่อเปิด AEC ในปี 2558 กิจกรรมการค้าขาย การลงทุน และการท่องเที่ยวของอาเซียนจะเติบโตขึ้น ตามมาด้วยเศรษฐกิจของอาเซียนดีขึ้น จึงเป็นโอกาสให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ของไทยขยายตลาดไข่ไก่เพิ่มขึ้นได้ แต่เกษตรกรต้องพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพไข่ไก่ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มไข่ไก่ออกมาให้หลากหลาย และสร้างความแตกต่างจากไข่ไก่ธรรมดา โดยการสร้างแบรด์ไข่ไก่ขึ้นเป็นของตัวเอง เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคของดีมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม และป้องกันไม่ให้ไข่ไก่จากประเทศอื่น ๆ เข้ามาขายแข่งได้
หมายเหตุ: ข้อมูลจากการเขียนบทความนี้ ได้จากการค้นคว้าเพื่อเป็นข้อมูล ประกอบการเสวนา ของสมาคมวิทยาศาสตร์สัตว์ปีกโลก เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556
โดย ดร.พรศรี เหล่ารุจิสวัสดิ์
รองกรรมการผู้จัดการ สำนักที่ปรึกษาฯ บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย)
|