เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมี บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ เป็นบริษัทหลักในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารนั้น ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตและการทำงานตามมาตรฐานสากลตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร(Supply Chain)มาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านผู้ผลิตอาหารคุณภาพปลอดภัยระดับโลก
ปัจจุบันซีพีเอฟมีการดำเนินกิจการครอบคลุมถึง 12 ประเทศ และมีการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 40 ประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลกซึ่งครอบคลุมประชากรโลกกว่า 3,000 ล้านคน กล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น'ครัวของโลก'(Kitchen of the World)
อย่างไรก็ตาม กระแสโลกที่สำคัญในวันนี้ คือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร(Food Security) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่
1.ความเพียงพอต่อความต้องการ(Availibility) จากแนวโน้มประชากรโลกปัจจุบัน ประมาณ 7,000 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นโดยตลอด ชุมชนเมืองขยายตัวเพิ่มขึ้น มีการแย่งทรัพยากรที่ใช้ผลิตอาหาร ไปใช้ในการเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ในด้านอื่นๆ เหลือที่ดิน แหล่งน้ำ และปัจจัยที่จะใช้ผลิตอาหารลดลง จึงมีความกังวลว่า จะผลิตอาหารรองรับประชากรที่จะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคนในอีก 40 ปีข้างหน้าได้อย่างไร
2.ความมีเสถียรภาพ(Stability) เนื่องจากสภาวะโลกร้อน(Global Warming) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาพภูมิอากาศปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ส่งผลให้วัฏจักรการผลิตของภาคการเกษตรเปลี่ยนแปลงไป ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย กระทบต่อเสถียรภาพในการผลิตอาหาร ทั้งยังส่งผลให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และประเด็นสุดท้ายของเรื่องความมั่นคงทางอาหารก็คือเรื่อง
3.ความสามารถในการเข้าถึงอาหาร(Accessibility) ของประชากรโลกโดยเฉพาะประชากรโลกที่ยากจนหรือมีรายได้น้อย รวมถึงประเทศที่มีประชากรมากและผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอ หรือประเทศที่ต้องนำเข้าอาหาร
ปัจจุบันพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผู้คนทั่วโลกมีความตื่นตัวและห่วงใยในการรักษาสุขภาพกันเพิ่มมากขึ้น กระแสโลกที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ ด้านอาหารปลอดภัย(Food Safety) ซึ่งสอดคล้องกับวงการแพทย์ทั่วโลกต่างกังวลเรื่องเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ เพราะปัจจุบันการคิดค้นยาปฏิชีวนะใหม่ๆ ทำได้ยากขึ้นและต้นทุนสูงมาก ถ้ามีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ระมัดระวัง เชื้อโรคจะดื้อยาได้เร็วขึ้น และอาจเป็นวิกฤติของวงการแพทย์ ถ้าไม่มียาปฏิชีวนะใหม่ๆมาใช้รักษา ดังนั้นจึงมีการรณรงค์ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ทั้งในการรักษาคนและรวมถึงการไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นในวงการปศุสัตว์ด้วย
ซีพีเอฟตอบโจทย์ โดยการดำเนินธุรกิจผลิตอาหารในรูปแบบอุตสาหกรรม คือการผลิตจำนวนมากๆ โดยใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาการ เทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมดังนี้
1.มีการปรับปรุงโรงเรือนและอุปกรณ์ ทำให้สัตว์ที่เลี้ยงแบบหนาแน่น อยู่อย่างสุขสบาย ในระบบโรงเรือนแบบปิดและปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา และในแต่ละช่วงอายุของสัตว์ และใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ระบบอัตโนมัติ ทำให้คนสามารถปฏิบัติได้ง่ายและสะดวก ซึ่งโรงเรือนแบบปิดนี้ ยังทำให้สามารถป้องกันสัตว์พาหะนำโรค เช่น นก หนู และแมลงต่างๆ ไม่ให้เข้าไปในโรงเรือน เป็นการป้องกันโรคที่ดีอีกด้วย
2.มีการใช้เทคโนโลยีและวิชาการด้านการผลิตอาหารสัตว์ ทำการผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการตรงกับความต้องการของสัตว์แต่ละชนิด ตรงกับความต้องการของสัตว์ในแต่ละช่วงอายุ
3.มีการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์สัตว์ ตลอดจนคัดเลือกพันธุ์สัตว์ที่มีความต้านทานโรคและให้ผลผลิตสูง และตรงกับความต้องการของตลาด
4.มีระบบการจัดการดูแลที่ดี ปัจจุบันมีใช้เทคโนโลยีและระบบ IT เข้าช่วย ทำให้สามารถติดตามงาน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
5.มีระบบการป้องกันโรคที่ดี มีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ(Biosecurity Management) มีการแยกพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ออกจากพื้นที่อยู่อาศัย ทุกฟาร์มต้องปฏิบัติตามระบบมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ และเนื่องจากมีการการใช้อุปกรณ์ระบบอัตโนมัติ จึงใช้คนเข้าไปในโรงเรือนน้อยที่สุด (คนก็เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ)
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สัตว์ในฟาร์มที่เลี้ยงแบบหนาแน่นอยู่อย่างสุขสบาย ได้รับอาหารสัตว์ที่มีโภชนาการครบถ้วนตรงกับความต้องการในแต่ละวัน สัตว์ในฟาร์มจึงเติบโตเร็ว หรือให้ผลผลิตที่ดี และที่สำคัญในเมื่อสัตว์ไม่ป่วย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวะใดๆ เป็นการตอบโจทย์เรื่อง อาหารปลอดภัย(Food Safety)ได้เป็นอย่างดี
สำหรับ CPF นั้นให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารปลอดภัยมาโดยตลอด โดยทุกขั้นตอนในห่วงโซ่การผลิตอาหาร(Supply Chain)ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้(Traceability) ขบวนการผลิตอาหารต้องได้มาตรฐานGMP&HACCP (มาตรฐาน GMP หรือ Good Manufacturing Practice เป็นระบบประกันคุณภาพในการผลิตอาหารเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมั่นใจต่อการบริโภค ส่วน HACCP(Hazard Analysis and Critical Control Point) เป็นมาตรฐานการผลิตที่มีมาตรการป้องกันอันตรายที่ผู้บริโภคอาจได้รับจากการบริโภคอาหาร) ด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งกระแสโลกทุกภาคส่วนในภาคธุรกิจอาหารจะต้องให้ความสำคัญ โดยต้องคำนึงด้วยว่าการผลิตอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการ(Demand)ของคนรุ่นปัจจุบัน จะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นเพื่อตอบโจทย์ปัญหาสำคัญ ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร และด้านอาหารปลอดภัย การผลิตอาหารในรูปแบบอุตสาหกรรม หรือเกษตรอุตสาหกรรมจึงน่าจะเป็น 1 ในทางออกที่จะทำให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างมากพอและปลอดภัยต่อการบริโภคเพื่อรองรับความต้องการของประชากรโลกที่มีจำนวนมากขึ้นทุกวัน โดยภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสโลก จะต้องบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหารหรือ Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยใช้ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ(Biosecurity Management) เพื่อควบคุมคุณภาพมาตรฐานและลดเสียหายที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังต้องบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมๆ กับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการกำหนดเขตการผลิตที่เหมาะสม(Zoning) สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน เพื่อที่จะนำประเทศไทยก้าวสู่การเป็นครัวของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ...
โดย...นายณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
|