การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ในช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย หากดูจากเอกสารที่ได้มีการลงนามกันในรูปแบบของ MOU และแถลงการณ์ของผู้นำทั้งสองฝ่าย จะเห็นชัดเจนว่าการเจรจาครั้งนี้จะเน้นไปในด้านการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หลักๆ 3 ด้านด้วยกัน
1.ความร่วมมือด้านการค้าขาย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของไทย อาทิ ข้าว ยางพารา เป็นต้น เป็นเรื่องของการเพิ่มอัตราตัวเลขทางการค้า มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่ที่ 1 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ.2015
2. การขยายขอบเขตความร่วมมือนอกจากด้านการค้าขาย คือการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแล้ว ยังรวมถึงเรื่องการใช้สกุลเงินของแต่ละประเทศในการซื้อขาย ซึ่งก็เท่ากับเป็นการเพิ่มมิติของความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปในด้านการเงินและการคลังไปด้วย
3. ความร่วมมือในการเสริมสร้างระบบสาธารณูปโภคของประเทศไทย ซึ่งผู้นำจีนแสดงความพร้อมที่จะเข้ามามีบทบาททางด้านนี้โดยเฉพาะในเรื่องของรถไฟความเร็วสูง
การเจรจาครั้งนี้ในระยะยาวจึงน่าจะเป็น win win ของทั้งสองฝ่าย เพราะประเทศไทยมีผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่มีอยู่ในสต๊อกจำนวนมาก ขณะเดียวกันความรู้ความสามารถด้านรถไฟความเร็วสูงของจีนก็สามารถมาช่วยปรับปรุงระบบคมนาคมให้กับคนไทย ในอนาคตอันใกล้ได้
ยุคท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และท่านนายก หลี่ เค่อเฉียง ได้ให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนเป็นพิเศษ ด้วยภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้มีความสำคัญเป็นพิเศษต่อจีนในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของจีน และระบบการคมนาคมที่ใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงที่จีนกำลังเสนอต่อประเทศอาเซียนจะเป็นแกนในการเชื่อมผลประโยชน์กับทั้ง 10 ประเทศของภูมิภาค ดังนั้น จีนจึงให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นพิเศษ
จีนออกมาย้ำถึง พลังความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับ 10 ประเทศ ซึ่งมีประชากร 600 ล้านคน ตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามข้อตกลงจะสร้างเขตการค้าเสรี 'ที่ใหญ่ที่สุดของโลก'เมื่อปี ค.ศ.2001 ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจีนได้พยายามพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจีนเปรียบเปรยว่าเป็น '10 ปี แห่งความสัมพันธ์ระดับทอง'และต่อจากนี้ไปอีก 10 ปี ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็อาจจะยกระดับขึ้นเป็น '10 ปีแห่งความสัมพันธ์ระดับเพชร' ที่มีความสำคัญเพิ่มระดับมากยิ่งขึ้นอีก
ทั้งนี้ ทั้งนั้น จีนให้ความสำคัญกับประเทศไทยมาก เนื่องจากในอาเซียน ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคจึงมีความหมายต่อประเทศจีนเป็นพิเศษ ฉะนั้นโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทยจึงมีความหมายต่อยุทธศาสตร์ของจีนเป็นอย่างมาก
นอกเหนือจากนั้น เรื่องการท่องเที่ยว ปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเข้ามาเที่ยวเมืองไทยถึง 5 ล้านคน (จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งหมดที่มาเที่ยวประเทศไทยถึง 18 ล้านคน) นับเป็นตัวเลขที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้น ผู้นำจีนจึงประกาศจะตอบสนองคำขอของรัฐบาลไทยที่จะให้ฝ่ายจีนยกเว้น การออกวีซ่าการเดินทางระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นเพียงหนึ่งหรือสองประเทศในโลกเท่านั้น ที่จีนมีความตกลงละเว้นการตรวจลงตรา(visa application)ตรงนี้จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศได้มากยิ่งขึ้น สิ่งที่ตามมาคือตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
โดย ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์
|