กรอบการขับเคลื่อนการพัฒนาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2555-2559) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและสังคมไทยให้มีคุณภาพ มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะการสร้างฐานทางปัญญาใน 'การก้าวสู่สังคมและเศรษฐกิจสีเขียว'ที่มีแบบแผนการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การเตรียมความพร้อมประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนสู่ 'สังคมสีเขียว'นั้น สำนังานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ได้กำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนา โดยคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญๆ ได้แก่ บทบาทและกระบวนทัศน์การพัฒนาขององค์การระหว่างประเทศ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากความต้องการสินค้าและบริการที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยในการผลิต มาสู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นปัจจัยเร่งตัวหนึ่งที่ทำให้ต้องปรับกระบวนทัศน์และขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งด้านการค้า การลงทุน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เร็วขึ้น
การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมสีเขียว จึงเป็นประเด็นท้าทายในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาที่ไม่ได้ตีกรอบแค่ภาครัฐแต่รวมถึงภาคเอกชนด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทที่ปรึกษา KPMG ได้ระบุถึง 10 แนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นในโลกในอีก 10-20 ปีข้างหน้าว่าจะประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ความเป็นเมืองมากขึ้น การขาดแคลนน้ำ การขาดแคลนทรัพยากร ความมั่นคงทางอาหาร การทำลายป่า ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์ และประเด็นด้านพลังงานและเชื้อเพลิง
แนวโน้มทั้ง 10 เรื่องนี้จะส่งผลอย่างยิ่งต่อการประกอบการของภาคธุรกิจ เพราะจะสร้างทั้งโอกาสและความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความผันผวนของปริมาณและราคาวัตถุดิบ/พลังงาน กฎระเบียบทั้งจากภาครัฐและเอกชนด้วยกัน การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และผลกระทบทางภายภาพ
ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (supply chain)ให้มีความยั่งยืน และการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีความยั่งยืน ซึ่งนอกจาก 10 แนวโน้มดังกล่าวที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว ยังมีสิ่งท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันอีกหลายเรื่อง อาทิ
- กระแสการรายงานหรือการเปิดเผยข้อมูล เช่น ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้น้ำขององค์กร CDP (Carbon Disclosure Project) ข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าจาก Green Energy ของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (USEPA) รวมถึงข้อมูลการใช้พลาสติกขององค์กร PDP (Plastic Disclosure Project) - กระแสการจัดทำผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฎจักรชีวิตของสินค้า (Footprint) ได้แก่ carbon footprint และ water footprint ซึ่งได้เป็นกระแสหลักของธุรกิจสีเขียวแล้ว รวมถึง carbon footprint ขององค์กรด้วย - มาตรการเพื่อความยั่งยืนของภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ และห้างค้าปลีก เช่น ดัชนีวัดความยั่งยืนของ suppliers ของ walmart และ P&G - กระแสการจัดทำดัชนีวัดความยั่งยืนหรือวัด Performance เกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจกของตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ เช่น Sustainability Index ของ NASDAQ และ Low-Carbon Index ของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้
แนวโน้มและสิ่งท้าทายข้างต้นจึงเป็นแรงกดดันอย่างยิ่งต่อภาคธุรกิจให้ต้องเร่งปรับตัวให้ธุรกิจต้อง Green ยุทธศาสตร์สีเขียว (Green Strategies) จึงเป็นภาคบังคับของธุรกิจปัจจุบันที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
โดย นายธงชัย บุณยโชติมา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
|