แม้สัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และยูโรโซน ในช่วงระหว่าง 2 เดือนที่ผ่านมา จะเริ่มทยอยมีภาพในเชิงบวกขึ้นมาบ้าง แต่ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ปะทุขึ้นมาใหม่ และดันให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ประกอบกับสัญญาณความระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ลากยาวเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง ก็ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศยังคงมีภาพที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร คงต้องดูดัชนีและตัวแปรหลายๆ อย่างประกอบกัน ดัชนีตัวหนึ่งที่น่าจะสะท้อนของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังได้ดีตัวหนึ่ง คือ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย
ประเทศไทยมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันคิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีรวมของประเทศ และจากการที่ปัจจุบันที่มีการพัฒนาบริการสาธารณะในกรุงเทพฯอย่างรวดเร็ว มีรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบนดิน ทำให้ทุกอย่างขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเติบโตอย่างมาก ในเขตเมือง แต่ประเทศไทยไม่ได้มีเฉพาะกรุงเทพฯ แต่ยังมีอีก 77 จังหวัด ที่รัฐบาลมีนโยบายหลายด้านที่สนับสนุนให้คนที่อยู่ในกรุงเทพฯกลับไปอยู่ต่างจังหวัด เช่น ค่าแรง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ทำให้พื้นที่ในต่างจังหวัดที่เคยซบเซากลับคึกคัก มีการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไปในหลายหัวเมืองสำคัญของประเทศ
ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สินก็ไม่ใช่แค่การสร้างที่อยู่อาศัยอย่างเดียว แต่ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมากมาย เช่น วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ที่จะเติบโตตามไปด้วย ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการในระยะนี้คือ ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเยอะๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเติบโตได้
มาดูตัวแปรสำคัญๆ เช่น ตัวแปรด้านธุรกิจเกษตร ประเทศไทยมีประชากรจำนวนมากอยู่ในภาคเกษตร แต่วันนี้ภาคเกษตรของไทยมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล ที่ราคาตกต่ำ หลายคนมองว่าเป็นปัญหา แต่หากมองปัญหาให้เป็นโอกาส ไม่ใช่แค่เริ่มคิด แต่ต้องเริ่มลงมือทำ แปรรูปภาคการเกษตรให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ เชื่อว่าอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทยยังสู้เขาได้ เพราะเกษตรกรไทยมีความเชี่ยวชาญและแข็งแกร่งมาก
ยกตัวอย่าง ยางพาราที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ เราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูป อย่าขายแค่วัตถุดิบ แต่ต้องขายคุณภาพด้วย ต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยพัฒนาการเกษตร
ในอดีตต้นยางต้องใช้เวลาปลูกถึง 7 ปีถึงจะได้น้ำยาง แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ต้นยางสามารถให้น้ำยางตั้งแต่ปีที่ 5 และอายุของการกรีดยางจากเดิมประมาณ 20 ปีก็ต้องโค้นทิ้งเพราะน้ำยางหมด ปัจจุบันการพัฒนาให้อายุการกรีดยางสูงขึ้นเป็น 30-40 ปี สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางได้มากมาย และถ้าสามารถดูแลกระบวนการผลิตน้ำยางให้เป็นยางแผ่นที่สวย ก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าได้มาก กระทรวงอุตสาหกรรมก็สนับสนุนให้อุตสาหกรรมรถยนต์นำไปใช้ กระทรวงคมนาคมก็นำไปใช้ทำพื้นถนนแทนยางมะตอย สิ่งเหล่านี้ที่ผ่านมาเราไม่เคยคิด แต่เมื่อมีปัญหา ทำให้เราคิดต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้มหาศาล เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส
เรื่องข้าวเช่นเดียวกัน ได้ยินมาว่ารัฐบาลจีนจะซื้อข้าวไทย 1.2 ล้านตัน ตรงนี้เราต้องพยายามขายให้หมด เพราะประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเป็น “ผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุด” แต่ประเทศไทยต้องเป็น “ผู้จัดจำหน่ายข้าวรายใหญ่ที่สุด” ของโลก อยากให้มองประเทศสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง สิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่มีอะไรเลย เกษตรก็ไม่มี แต่สิงคโปร์กลับเป็นประเทศที่มีคนเอาไปอ้างอิงในเรื่องราคาสินค้ามากที่สุด เพราะสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการค้าขาย
ประเทศไทยมีสินค้าเกษตรมากมาย ถ้ามีการพัฒนาต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ แล้วยกระดับประเทศให้เป็นศูนย์กลางการค้าขาย พม่ามีข้าวเยอะ ก็เอามาขายที่ประเทศไทย เขมร ลาวมีสินค้าอะไรดีก็นำมาขายที่ประเทศไทย ประเทศไทยต้องนำเข้าเพื่อที่จะส่งออก เพราะเรามีความพร้อมกว่าประเทศอื่น
ในอาเซียน 10 ประเทศเรามีข้อตกลงร่วมกันมากมาย แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราใช้ประโยชน์จากข้อตกลงอาเซียน 10 ประเทศเต็มที่เงินก็จะเข้ากระเป๋าเราอีกเป็นแสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าขายทุกคนใช้ประโยชน์ในเรื่องข้อตกลงภาษีต่างๆ
อุตสาหกรรมใดก็ตามที่รัฐบาลต้องการพัฒนาต้องนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ นำเครื่องจักรที่ดีที่สุดมาใช้ ตรงนี้จะสร้างฐานประเทศไทยให้แข็งแกร่ง โดยไม่จำเป็นต้องผลิตทุกอย่างเอง แต่สั่งวัตถุดิบสั่งจากประเทศเพื่อนบ้านมาผลิตแล้วส่งออกไปจำหน่างทั่วโลก
วันนี้ประเทศไทยมาถูกทาง ถ้าเราไม่เกิดปัญหา เราก็ไม่พยายามที่จะคิด แต่พอเจอปัญหา เราก็พยายามหาทางแก้ไข วันนี้จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะพัฒนาและทำอะไรอีกมากมาย
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยได้พัฒนาในมิติต่างๆซึ่งมีโอกาสอยู่มากมายอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อมีโอกาสเราต้องรีบฉกฉวยโอกาสให้เร็ว คนอ้วนมักเดินช้า คนผอมสูงจะคล่องตัวและเดินได้เร็ว เพราะฉะนั้นทำเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ผอมสูงได้ไหม ประเทศไทยจะได้เดินไปได้อย่างเร็วและคล่องตัว
เรียบเรียงจาก :งานเสวนามุมเศรษฐกิจกับซี.พี. หัวข้อ “มองเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 ณ ห้องริมสวน รร.แกรนด์ เมอร์คิว ฟอร์จูน
โดย นายสุนทร อรุณานนท์ชัย ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เครือเจริญโภคภัณฑ์
|