WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ความมั่นคงทางอาหารกับความจำเป็นสำหรับมนุษย์โลก
คุยกับซี.พี

อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นต่อมนุษย์ในการดำรงชีพและการทำให้มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ ซึ่งอาหารนั้นจะต้องมีความปลอดภัยถูกสุขลักษณะแก่ผู้บริโภค ท่ามกลางทรัพยากรโลกอันมีอยู่อย่างจำกัด  สวนทางกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลายคนถามถึง “ความมั่นคงทางอาหาร”  ของมวลมนุษย์  ท่ามกลางความกังวลจากหลายปัจจัย ได้แก่ 

1. ปัญหาความเสื่อมโทรมของฐานทรัพยากรอาหาร หรือจะเรียกได้ว่าพื้นที่ในการเพาะปลูกเริ่มมีจำนวนน้อยลง อีกทั้งผลผลิตต่อหน่วยของพื้นที่ให้ผลผลิตได้น้อยลงอีกด้วย ซึ่งอาจไม่เพียงพอกับการรองรับประชากรโลกของโลกในอนาคตที่มีอัตราการเกิดและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์กันอยู่ประมาณ 9 พันล้านคนภายใน 2-3 ปีนี้ อาจนำไปสู่ภาวการณ์ขาดแคลนตามหลักเศรษฐกิจศาสตร์ที่อุปทาน (Supply) มีไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ (Demand)  ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เพาะปลูก น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำ หรือแรงงาน เป็นต้น ดังนั้น จึงควรมีระบบการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่าเดิม

2. ปัญหาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอุตสาหกรรมทางการเกษตร ที่ผ่านมามีมุมมองในมิติเดียวคือ มิติทางด้านการผลิต หรือเก็บผลผลิตไว้ในคลังสินค้าเท่านั้น ไม่ได้มองในองค์รวมในการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนซึ่งประกอบด้วยหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดหา การขนส่ง คลังสินค้า สินค้าคงคลัง Outsourcing Contact farming ฯลฯ  ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างเกษตรกร ภาคเอกชนขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ในการเชื่อมโยงการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนให้เกิดขึ้นครบวงจรทั้งการผลิต และ การตลาด ตลอดจนการสร้างความพอใจให้ผู้บริโภคมากขึ้น ดังนั้น เมื่อวงจรของการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่มีห่วงโซ่ที่ยาวมาก มักพบปัญหาว่าในหลายห่วงโซ่ยังทำหน้าที่แต่ละบทบาทไม่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ขนส่งสินค้า ร้านค้าจัดจำหน่าย เป็นต้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดกระบวนการผลิตอาหารหรือความมั่นคงทางอาหารมีน้อยลง 

อย่างไรก็ดี บทเรียนที่ผ่านจากปัญหาขาดแคลนสินค้าอาหารในภาวะน้ำท่วม ทำให้ผู้บริโภคตื่นตระหนกกักตุนอาหาร และระบบการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนขาดเป็นช่วง ๆ จึงต้องนำผลผลิตจากแหล่งพื้นที่อื่นหรือนำเข้าจากต่างประเทศมาให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบการจัดจำหน่ายอื่นที่เหมาะกับสถานการณ์ในช่วงนั้น ก็จะทำให้ปัญหารุนแรงน้อยลงได้ 

นอกจากนี้ ระบบการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ดีจะก่อให้เกิดอาหารที่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถควบคุมความปลอดภัยได้ตลอดทั้งกระบวนการผลิต รวมถึงสามารถสืบย้อนกลับผลผลิตได้ง่าย  ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ไม่เพียงแต่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้นทั้งระบบแล้ว ยังทำให้ระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศดีขึ้นด้วย อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้แก้ไขปัญหาความยากจนในระยะยาวด้วย 
 
3. ปัญหาการขาดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมทางการเกษตร ผู้ผลิต/เกษตรกรหลายรายยังคงเน้นวิธีการผลิตแบบเดิม ๆ บางส่วนยังคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุน ดังนั้น ก็กลับไปที่จุดเดิม (วงจรอุบาศก์) คือ ผลผลิตต่อหน่วยต่ำ ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้ทางการเกษตรจะต้องนำองค์ความรู้ตามหลักวิชาการผสมผสานกับสภาพความเป็นจริงมาใช้ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นอกจากจะทำให้เพิ่มผลผลิตแล้ว ยังสามารถนำมาใช้แปรรูปผลผลิตที่จะช่วยป้องกันผลผลิตล้นตลาดได้ รักษาคุณค่าทางโภชนาการทางอาหาร รวมถึงยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตและยกระดับราคาที่สูงขึ้นได้  

อย่างไรก็ดี หากมีการถ่ายทอด “องค์ความรู้” ทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมทางการเกษตรภายในห่วงโซ่การผลิตอาหารจะทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทขนาดใหญ่ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เป็นต้น

4. การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกและผลกระทบต่อการผลิตอาหาร ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวน และภาวะโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม การขาดแคลนน้ำ เป็นต้น ซึ่งสภาพดังกล่าวนั้นมักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ที่สำคัญการเกิดขึ้นแต่ละครั้งจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ดังนั้น ภาคเกษตรกรรมจึงนับได้ว่าเป็นระบบผลิตอาหารให้กับมนุษย์ หากภาคเกษตรกรรมล่มสลาย จะทำให้ความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติล่มสลายตามไปด้วย ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่มีความอ่อนไหวได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ว่าจะเป็นผลผลิตที่ได้รับความเสียหาย ผลผลิตลดต่ำลง ผลผลิตไม่ได้คุณภาพและปริมาณตามที่ต้องการ ฯลฯ อนึ่ง องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ออกมาเตือนและคาดการณ์ว่าราคาอาหารของโลกมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น และราคาธัญพืชอาหารหลักของประชากรโลก ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าว มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 ถึง 2 เท่าตัวภายในปี 2573 

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันส่งเสริมให้ภาคเกษตรเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เป็นรูปธรรม เพื่อการผลิตอาหารที่ดี ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ไม่จำเป็นต้องเกี่ยงว่าเป็นเกษตรอุตสาหกรรม หรือ เกษตรอินทรีย์ เพราะที่สุดแล้วต่างก็มีโจทย์ในการตอบสนองความมั่นคงทางอาหารเหมือนกัน

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

โดย ดร.สิทธิชัย ฝรั่งทอง ผู้อำนวยหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!