WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จับตา…เศรษฐกิจจีนภายใต้ผู้นำรุ่นใหม่
คุยกับซี.พี

เศรษฐกิจจีนกำลังปรับโครงสร้างใหม่  การชะลอตัวทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญหน้า  ก้าวต่อไปของการพัฒนาเศรษฐกิจจีนภายใต้ผู้นำรุ่นใหม่จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง 

ผู้นำจีนรุ่นที่ 5 มีภูมิความรู้ต่างจากผู้นำในอดีต ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง จบการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ ส่วนนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อ เฉียง จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์  ซึ่งภายหลังเข้าดำรงตำแหน่ง ฯพณฯสีจิ้นผิงได้ประกาศกฎเหล็ก 8 ข้อ ได้แก่ 1.งดจัดงานเลี้ยงสังสรรค์เอิกเกริก ลดจำนวนผู้ติดตาม ไม่ต้องมีการจัดการต้อนรับจากมวลชน ไม่ปูพรม ไม่จัดดอกไม้ ฯลฯ   2.ควบคุมการประชุมในนามของรัฐบาลกลางอย่างเคร่งครัด 3.เอกสารเนื้อหาที่ไม่มีแก่นสารจะไม่มีการถูกนำเสนอออกไป 4.การออกเดินทางเยี่ยมชมโดยทั่วไปจะไม่จัดการต้อนรับ-ส่งที่สนามบิน 5.ลดการควบคุมการจราจร โดยทั่วไปต้องไม่มีการปิดถนน 6.ลดจำนวนและปริมาณการรายงานข่าว  7.ไม่มีการตีพิมพ์หนังสือหรือจารึกลายลักษณ์อักษรเป็นการส่วนตัว 8.เข้มงวดการดำเนินงานเรื่องกฏระเบียบสวัสดิการด้านการให้ที่อยู่อาศัยและรถยนต์ 

กฎเหล็กทั้ง 8 ข้อที่ว่ามานี้ถือเป็นการแสดงวิสัยทัศน์และมองเห็นปัญหาพื้นฐานอย่างแท้จริง จนส่งผลให้ดัชนีการบริโภค(Consumer Price Index : CPI) และการใช้จ่ายลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดย CPI ไตรมาสแรกเติบโตอยู่ที่ระดับ 2.4% ต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 1.4% ทั้งนี้ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา CPI ของจีนอยู่ที่ระดับ 2.1 และ 2.7 ตามลำดับ

ในการนี้นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อ เฉียง ได้นำนโยบายไปสานต่อและประกาศเดินหน้านโยบายลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย 3 ประเภทได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่างประเทศ 2.ค่าพาหนะในการเดินทางปฏิบัติงาน 3.ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงรับรอง โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดลงให้ได้ 5%ภายในปีนี้(พ.ศ.2556) อีกทั้งยังปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณให้ได้ประโยชน์แก่สังคมและประชาชนอย่างสูงสุด

จากข้อมูลการลงทุน อัตราการเติบโตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคมรวมถึงอัตราการจ้างงานถือว่ายังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อาจเรียกได้ว่าประเทศจีนในขณะนี้เติบโตระดับกลาง ซึ่งมีอัตราการเติบโตภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อยู่ที่ระดับ 9.2%

ผู้นำจีนรุ่นใหม่ หรือ รุ่นที่ 5 ซึ่งปกครองประเทศอยู่ในขณะนี้คุมเข้มการอัดฉีดเงินเพื่อการขจัดปัญหาการปล่อยกู้นอกระบบที่ไร้ระเบียบซึ่งอาจสร้างปัญหาหนี้เสีย จีนได้หันมาเข้มงวดในด้านนโยบายการเงินมากขึ้น เช่น การขึ้นดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร (Inter Bank Rate) เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาแตะอยู่ที่ระดับ 13% ก็ได้ปรับลดลงเหลือ 8.5% รวมถึงตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDPไตรมาสแรกของปี 2556 ไต่อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าการคาดหมายที่7.7% ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ 8%

นอกจากนี้ผู้นำรุ่นที่ 5 ได้ประกาศชัดเจนว่าจะยอมให้เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ช้าลงและเลิกการโหมกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่แบบในอดีต เพื่อแลกกับการเติบโตที่ยั่งยืนโดยเน้นไปที่การสร้างรากฐานการบริโภคภายในแทนที่การพึ่งพาการส่งออกเหมือนในอดีต ซึ่งจีนได้รับบทเรียนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรวมมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านหยวน หรือ 5.7  แสนล้านเหรียญสหรัฐฯในปี พ.ศ.2551 มาแล้ว ซึ่งช่วยปกป้องจีนให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกมาได้

ในเวลานี้รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการควบคุมการปล่อยกู้นอกระบบธนาคารซึ่งกำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นวงกว้างและอาจก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่สินเชื่อ การปล่อยกู้ของธนาคารเงาหรือ Shadow Banks ซึ่งหมายถึงบริษัททรัสต์ บริษัทลิสซิ่ง โรงรับจำนำ ในปี  พ.ศ.2555 พุ่งสูงถึง 207%ของGDP จากเดิมที่มีแค่ 145%ในปีพ.ศ.2551 หรือคิดเป็นปริมาณหนี้สูงถึง 30 ล้านล้านหยวนจนถึงปลายปีที่ผ่านมา

สิ่งที่ต้องจับตามองอีกเรื่องหนึ่งคือเมื่อ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมารัฐบาลกลางได้อนุมัติแผนใหม่คลายกฎคุมเข้มการเงิน อนุญาตให้ธนาคารต่างชาติสามารถจัดตั้งกิจการสาขาย่อย โดยถือหุ้นเองทั้งหมดในเขตการค้าเสรีของเซี่ยงไฮ้เพื่อที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของภาคบริการการเงินจีนในระดับโลก ธนาคารต่างประเทศที่จะได้รับอนุญาตให้มาตั้งกิจการค้าในเขตการค้าเสรีในเขตผู่ตงใหม่นี้ จะได้รับอนุญาตให้สามารถร่วมทุนหรือถือหุ้นร่วมใหญ่ในกิจการการเงินอื่น ๆ ของแผ่นดินใหญ่ทั้งในส่วนที่เป็นกิจการสนับสนุนของรัฐและกิจการของเอกชน นโยบายใหม่นี้ยังลดระยะเวลา ลดขั้นตอนจำนวนมากของกระบวนการตรวจสอบต่าง ๆ ก่อนเปิดสาขา หรือตั้งเครือข่ายบนแผ่นดินใหญ่ ถือเป็นสัญญาณของความพยายามใหม่ ๆ ที่จะเริ่มต้นการปฏิรูปและเปิดเสรีทางการเงินในครั้งนี้ เพื่อสร้างเขตการค้าเสรีแผ่นดินใหญ่ครั้งแรกในเซี่ยงไฮ้ และผลักดันให้เซี่ยงไฮ้เป็นศูนย์กลางธุรกิจระดับโลก และศูนย์การเงินระหว่างประเทศ ยังเสมือนเป็นการเปิดโอกาสการพัฒนาการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญสำหรับเซี่ยงไฮ้ที่จะเติบโตเป็นฐานใหญ่ของเงินสกุลหยวนแห่งภูมิภาค

ในขณะเดียวกันผู้นำจีนรุ่นใหม่ได้ส่องกล้องมองเศรษฐกิจจีนอย่างถี่ถ้วน โดยดูด้วยว่ามีการลงทุนเกินความต้องการของจีนหรือไม่ ธุรกิจที่ลงทุนเกินความต้องการ เช่น LED, SOLARCELL  การค้าเหล็กกล้า  และกองทุนเอกชน ฯลฯ ที่ไม่มีศักยภาพในการแข่งขัน จะต้องเกิดสภาพล้มละลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่รัฐคงต้องปกป้องธุรกิจที่ดีไว้

ทั้งนี้การเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นได้ก่อหนี้ท่วมตัว เนื่องจากทุกพื้นที่ได้แข่งขัน โดยเฉพาะการกู้เงินเพื่อการพัฒนาก่อสร้างเมือง อาคารสำนักงานอันใหญ่โตโออ่า รวมถึงสาธารณูปโภค ถนนหนทาง ปรับวิวทิวทัศน์ ซึ่งต้องใช้เงินมหาศาล  ผู้นำรุ่นใหม่ได้เห็นปัญหานี้จึงชูนโยบายเน้นการยกระดับวิถีชีวิตประชากร รักษาสิ่งแวดล้อม ยกเลิกการอนุมัติโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่โอ่อ่าฟุ่มเฟือย และไปเน้นที่โครงการเกี่ยวกับการยกระดับการครองชีพของประชาชน ความเจริญก้าวหน้าของสังคม และสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ปัจจุบันอุปสงค์ในประเทศจีนยังมีเสถียรภาพและยังมีโครงการซึ่งต้องการความต่อเนื่องอยู่อีกมาก ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่องต่อไป

ในเวลาเดียวกันรัฐบาลจีนยังกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างชัดเจน โดยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในภาคกลางของจีน ด้วยการประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจจงหยวน(ภาคกลางของจีน)โดยมีมณฑลเหอหนานเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อน

ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจจงหยวนภาคกลางของจีน ได้กำหนดให้ภาคกลางเป็นฐานการผลิตอาหาร วัตถุดิบและพลังงาน อุปกรณ์ทันสมัยและอุตสาหกรรมไฮเทค ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการขนส่ง ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญใหม่ในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งประเทศอย่างรวดเร็ว

เขตเศรษฐกิจจงหยวนมีพื้นที่ครอบคลุม 30 เมือง และอีก 2 อำเภอใน 5 มณฑลภาคกลางของจีนได้แก่ เหอหนาน ซานซี อันฮุย เหอเป่ย และซานตง มีพื้นที่รวม 3 แสนตารางกิโลเมตรหรือมีขนาดใหญ่กว่าประเทศอังกฤษ และมีประชากรมากกว่า 170 ล้านคน(เทียบเท่ากับประชากรของประเทศบราซิล) ทั้งนี้ได้กำหนดระยะเวลาการพัฒนาเป็น 2 ช่วงอย่างเป็นระบบ เริ่มจากปี พ.ศ.2555 - 2563 รวมทั้งสิ้น 10 ปี

นโยบายสำคัญที่น่าสนใจและมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในยุคของผู้นำรุ่นใหม่คือนโยบายส่งเสริมให้นักธุรกิจจีนที่มีศักยภาพออกไปลงทุนต่างประเทศ

จากข้อมูลพบว่าสิ้นปี พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา จำนวนนักธุรกิจจีนที่ออกไปลงทุนต่างประเทศมีจำนวนกว่า 200 โครงการ

เดิมรัฐบาลจีนเคยใช้นโยบาย “เชิญเข้ามา” เพื่อดึงดูดและส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศเข้าสู่แดนมังกรมานานร่วม 30 ปี แต่ในบัดนี้ด้วยสถานการณ์และสถานะเศรษฐกิจของจีนที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลจีนจึงกลับหันไปเน้นนโยบาย “เดินออกไป” เพื่อส่งเสริมและผลักดันการออกไปลงทุนในต่างแดนของธุรกิจจีน ส่งผลให้กองทัพทุนจีนต่างตบเท้าเข้าแถวออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโต้โมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในจีนเจ้าของแบรนด์ MG ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ผลิตรถยนต์แบรนด์ MG ป้อนตลาดไทยและตลาดโลก


ปัจจัยที่น่าจับตามองอีกประการคือเรื่องการท่องเที่ยว  ปี พ.ศ.2555 จีนมีรายได้เม็ดเงินต่างชาติจากการท่องเที่ยวรวม 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และในไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2556 มีรายได้เม็ดเงินต่างชาติจากการท่องเที่ยว 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ การท่องเที่ยวก็ย้งคงมีพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนอยู่พอควร

ทั้งหมดนี้จึงมั่นใจได้ว่าย่างก้าวต่อไปในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนภายใต้การบริหารและการปกครองของผู้นำรุ่นใหม่ จะทำให้ประเทศจีนในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแรง…

โดย…ธนากร  เสรีบุรี  รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!