ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะลำบาก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือ ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ เหล่านี้เกิดปัญหานั้นก็เพราะการใช้จ่ายทางการคลังที่เกินตัว หรือ รัฐบาลใช้จ่ายเงินเกินตัว มีหนี้สาธารณะมากไป ทำให้ฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งความล่าช้าในการฟื้นตัวของ“เศรษฐกิจโลก”ในครึ่งหลังของปี2556 ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
ในขณะเดียวกัน ปรากฏว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในจีน และอาเซียนกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยซึ่งมีลักษณะค่อนข้างกระจาย(Diversify) มีทั้งอุตสาหกรรมและการบริการ ไม่ได้พึ่งพิงไปที่อุตสาหกรรมหนึ่ง อุตสาหกรรมใดโดยเฉพาะถือเป็นพื้นฐานที่ดี รวมถึงการที่ไทยเป็นประเทศมีสินค้าเกษตรเหลือส่งออก (Food surplus country) มากที่สุดในกลุ่มอาเซียน จึงเป็นปัจจัยด้านบวกที่เอื้ออำนวยต่อ การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
อย่างไรก็ตาม 'การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท'ยังคงเป็นปัญหาที่นักลงทุนวิตกกังวล ด้วยเกรงว่าอาจจะมี“มาตรการควบคุมเงินไหลเข้า' อย่างไรก็ตามการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย แต่เกิดขึ้นจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ ซึ่งควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพราะไม่สามารถควบคุมได้
การแข็งค่าของเงินบาท จะส่งผลกระทบกับรายรับ'ในรูปเงินบาท'ของผู้ประกอบการไทย ซึ่งในช่วงที่เหลือของปี 2556 ก็ยังคงมี'แรงกดดันต่อการแข็งค่า' ต่อเนื่อง จะทำให้การขยายตัวของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย 'ชะลอตัวลง'
ข้อเสนอแนะต่อการบริหารนโยบายเศรษฐกิจไทยปี 2556 นั้น ประการแรกเห็นว่าควรดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีการเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ
ประการต่อมา รัฐควรดูแลราคาสินค้าสำคัญ ๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง วัตถุดิบทางการเกษตร ให้มีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับราคาสินค้า'ในตลาดโลก'เพื่อลดแรงกดดัน 'เงินเฟ้อ'และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย
ประการที่สาม ต้องมีการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบให้กับ SMEs จากการแข็งค่าของเงินบาท การเพิ่มต้นทุนค่าแรง และความยืดเยื้อในการหดตัวของเศรษฐกิจยุโรป
ประการที่สี่ ควรเร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เร่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เศรษฐกิจใหม่(ชายแดน)และเศรษฐกิจโดยภาพรวม
แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2556 นั้น คาดว่าอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ที่ 4-5 % ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 5% และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ประมาณ 4.2 -5.2 %'ราคาส่งออก'มีความเสื่อมในครึ่งหลังของปี2556ในเกณฑ์สูง เงินเฟ้อเท่ากับ 2.2 – 3.3% บัญชีเดินสะพัด“เกินดุล”เท่ากับ 0.9% การลงทุนภาคเอกชนคงจะขยายตัว'ต่อเนื่อง' อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในเกณฑ์'ต่ำ'ความเชื่อมั่นในการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมการลงทุน(BOI) และการเบิกจ่ายงบประมาณบริหารจัดการทรัพยากร'น้ำ' ซึ่งคาดว่าจะคืบหน้าและสามารถเบิกจ่ายให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในครึ่งหลังของปี 2556
การบริโภคของภาคเอกชน(Private Consumption)ขยายตัว 4.2% การลงทุน(Investment)ขยายตัว 6.0% ส่งออกขยายตัว 4.5% เทียบกับหดตัวในปี 2555 ยานยนต์ขยายตัวสูงถึง16.8% ส่งออกข้าวขยายตัว 8.6% โดยพบว่าการส่งออกข้าวไปยังตลาดหลักคือสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ ส่วนการส่งออกข้าวไปยังตลาดจีน ฮ่องกง ออสเตรเลียอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้นในปี 2556 ขยายตัว 'ต่ำ'
โดย ดร.พิสิฏฐ ภัคเกษม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ปรึกษา เครือเจริญโภคภัณฑ์
|