WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เกษตรสมัยใหม่ ตอบโจทย์ปัญหาอาหารในจีน แนวทางสู่การสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยในอาหาร
คุยกับซี.พี


     จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วเปรียบเหมือนเด็กที่กำลังเจริญเติบโต ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจีนบริโภคอาหาร เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เพิ่มมากขึ้น แต่จีนมีที่ดินที่สามารถเพาะปลูกหรือเพื่อใช้ผลิตอาหารได้เพียงแค่ 7%เท่านั้น การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารเพื่อรองรับความต้องการบริโภคอาหารในแต่ละวันของประชากรจีนกว่า 1,300 ล้านคน จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง 

ในขณะเดียวกันการพัฒนาภาคชนบทให้เป็นเมืองมากขึ้น (Urbanization) ได้ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไปสู่การเลือกบริโภคโดยคำนึงถึงโภชนาการ ความสะดวกสบายและสุขภาพมากขึ้น แต่ปัจจุบันจีนยังมีปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาหาร 

ปัญหาอาหาร จึงเรื่องที่ยิ่งใหญ่และเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลจีน  เกษตรสมัยใหม่จะเป็นทางออกที่แก้ปัญหาอาหารของจีน

รัฐบาลควรออกนโยบายเพื่อสนับสนุนเกษตรกร เนื่องจากเกษตกรขาด 3 อย่าง คือ เงินทุน เทคโนโลยี และการตลาด

ด้านเงินทุน ถ้ารัฐไม่มีนโยบายสนับสนุนด้านเงินทุน เกษตรกรก็ไม่สามารถปฏิรูปการเกษตรสู่เกษตรสมัยใหม่ได้

ด้านเทคโนโลยีและการตลาด ต้องให้ภาคธุรกิจเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ โดยภาครัฐควรที่จะหาวิธีในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคเกษตร เพื่อให้ภาคธุรกิจเข้ามากระตุ้นการเกษตร


นอกจากนี้รัฐบาลจีนควรเสนอนโยบายหรือออกกฎต่าง ๆ ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถขยายพื้นที่เพาะปลูก หรือเพิ่มขนาดการผลิต ทั้งนี้เพราะการทำเกษตรในอนาคตไม่สามารถที่จะอาศัยสวนหลังบ้านเพื่อเลี้ยงสัตว์หรือปลูกพืชได้อีกต่อไป  

จีนควรเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจจากทั่วโลกเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรี่องความปลอดภัยในอาหาร  ทั้งนี้เพราะภาคธุรกิจมีศักยภาพในด้านเทคโนโลยีและมีประสบการณ์ด้านการตลาด ซึ่งไม่ได้หมายความว่าภาคธุรกิจจะเข้ามาแทนที่เกษตรกร แต่เป็นการส่งเสริมการทำงานของเกษตรกร โดยนำการผลิตของเกษตรกรมาทำเป็นรูปแบบของบริษัท และมีบริษัทให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี เทคนิคต่าง ๆ และการตลาด  

จีนมีประชากรจำนวนมหาศาล การผลิตด้านการเกษตรในประเทศไม่เพียงพอ แม้แต่เครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ไม่สามารถผลิตให้ได้เพียงพอกับความต้องการของประชากรจีน เพราะตลาดจีนมีขนาดใหญ่ การลงทุนก็มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้นจึงควรมีการสนับสนุนการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ การให้ภาคธุรกิจเข้ามาลงทุนด้านการเกษตร สนับสนุนให้ทำการเกษตร ไม่ได้หมายความว่าให้เข้าไปทำแทนเกษตรกร แต่เข้าไปช่วยให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบแข็งแกร่ง ทำการเกษตรแบบอุตสาหกรรม ในส่วนของกำไรก็ยังคืนให้เกษตรกร 

ยกตัวอย่าง เช่น นำเกษตรกรกลุ่มหนึ่งมาตั้งเป็นบริษัท สร้างฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ โดยมีภาคธุรกิจเข้าไปช่วยแนะนำการเลี้ยง และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิครวมถึงการประกันตลาด เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้าไปลงทุนเลี้ยงหมู เกษตรกรไม่ต้องเลี้ยงเอง พวกเขาเป็นเจ้าของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้พ่อแม่พันธุ์ อาหารสัตว์ เทคนิค ขณะเดียวกันก็ประกันราคาโดยการรับซื้อ เท่ากับประกันผลประโยชน์ของเกษตรกร

ภาคธุรกิจสามารถประกันผลประโยชน์ให้เกษตรกรได้เพราะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง  การนำหมู่บ้านเล็ก ๆ มารวมกันและทำเป็นพื้นที่การเกษตรแบบทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยีและเทคนิคของบริษัท รวมถึงตลาดของบริษัท การแปรรูปของบริษัททำให้ผลผลิตที่มีมากเกินความต้องการสามารถนำไปใช้ได้หมด ผลลัพธ์สุดท้ายทุกคนก็ได้ประโยชน์ รวมไปถึงผู้บริโภคด้วย เครือเจริญโภคภัณฑ์ประสบความสำเร็จจากการลงทุนทำการเกษตรใน 15 ประเทศได้เพราะแนวทางนี้  ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ คือ “3 ประโยชน์” หมายถึง การลงทุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ต้องก่อให้เกิดประโยชน์ประเทศ ประชาชน ในทุกแห่งที่เข้าไปลงทุน ผลประโยชน์ของบริษัทมาเป็นอันดับสุดท้าย

ผลิตผลทางการเกษตรเปรียบเหมือนน้ำมันบนดิน และมีความสำคัญมากยิ่งกว่าน้ำมัน เพราะเป็นแหล่งพลังงานของมนุษย์ ผลผลิตทางการเกษตรใช้เลี้ยงคนทั้งโลก น้ำมันเป็นพลังงานสำหรับเครื่องจักรเท่านั้น อย่างไรก็ตามหลายประเทศไม่เข้าใจในจุดนี้ พยายามกดราคาสินค้าเกษตร  ทั้ง ๆ ที่ราคาสินค้าเกษตรควรปรับสูงขึ้นตามความเหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรได้กำไร ถ้าเป็นเช่นนี้การเกษตรก็จะสามารถพัฒนาให้เป็นการเกษตรแบบสมัยใหม่ ซึ่งตรงกันข้ามกับการกดราคาสินค้าเกษตร ที่จะทำให้เกษตรกรหยุดอยู่กับที่

การนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร หรือการเข้าไปซื้อกิจการจากต่างประเทศก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาอาหารในจีนได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้เพราะการนำเข้าสินค้าเกษตรเท่ากับเป็นการตีตลาดสินค้าเกษตรในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ก็ทำได้เหมาะสม คือ ถ้าผลผลิตไม่เพียงพอ ก็ให้มีการนำเข้า แต่สำหรับผลผลิตที่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ก็จะมีการรับประกัน แต่ก็มีบางกรณี เช่น นำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ เพื่อใช้ที่ดินที่จะปลูกถั่วเหลืองไปเพาะปลูกหรือทำประโยชน์ทางการเกษตรอื่น

สำนวนจีนบทหนึ่งกล่าวว่า“โรคภัยทั้งหลาย เป็นผลมาจากการกินอาหาร”  ถ้าประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ประเทศก็ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการสาธารณสุข ถ้ามีการควบคุมความปลอดภัยของอาหารอย่างเข้มงวดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีโรงพยาบาลมากมาย หรือต้องเสียเงินจำนวนมหาศาลไปกับค่ารักษาพยาบาล

แต่ปัจจุบันเกษตรกรผู้มีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารยังไม่เข้าใจถึงเรื่องอาหารปลอดภัย ด้วยเหตุนี้กระบวนการพัฒนาการเกษตรในชนบทให้ดีขึ้นเพื่อทำให้คุณภาพอาหารในอนาคตปลอดภัยและดีขึ้น รัฐบาลจีนต้องแก้ปัญหาด้วยกฎหมาย และสอนให้เกษตรกรรู้ เข้าใจกฎหมาย ทำให้เกษตรกรรู้ว่าการผลิตแบบใดผิดกฎหมาย และหากทำผิดกฎหมายแล้วจะมีบทลงโทษอย่างไร นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตอาหารปลอดภัย  และในด้านของผู้ออกกฎหมายก็ควรร่วมมือกันทำงานเพื่อให้เกิดความสอดคล้องในการรักษากฎหมาย ขณะเดียวกันหน่วยงานการค้าและพานิชย์ นักธุรกิจ บริษัท  ก็ควรร่วมกันให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับความปลอดภัยในอาหาร ซึ่งจากประสบการณ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์เชื่อมั่นว่าเกษตรกรจะมีรายได้ที่มากขึ้นและร่ำรวยขึ้นเป็นรางวัลที่เกิดจากการพัฒนาเกษตรที่ดีขึ้นนั่นเอง

หมายเหตุ : สรุปและเรียบเรียงจากการเสวนาในหัวข้อ THE FOOD DILEMMA ในการประชุมระดับโลก Fortune Global Forum  2013 ซึ่งนิตยสาร Fortune จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 8 มิถุนายน 2556 ณ นครเฉิงตู ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดย นายธนินท์  เจียรวนนท์  ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!