'นวัตกรรม' มีความสำคัญมากทั้งในระดับองค์กรและในระดับประเทศ โดยเฉพาะในระดับประเทศนั้น นวัตกรรมถือเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาหรือยกระดับประเทศ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิต และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในบ้านเมืองให้ดีขึ้น ซึ่งในคำจำกัดความของคำว่า 'นวัตกรรม' นั้น หมายถึง แนวคิด การปฏิบัติ หรือ สิ่งต่างๆ ที่ใหม่และมีคุณค่า และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม
นวัตกรรมมีหลายประเภท แต่ที่สำคัญและเป็นพลังในการพัฒนาทั้งในระดับประเทศและองค์กรก็คือ 'Business Model Innovation' หรือ 'นวัตกรรมแบบจำลองธุรกิจ'หมายถึง นวัตกรรมเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาประเทศหรือดำเนินธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งในระดับประเทศก็หมายถึงแนวทางใหม่ ๆ ในการเปลี่ยนหรือพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนและก้าวไกลบนเวทีโลกนั่นเอง ส่วนในระดับองค์กรนั้น Business Model Innovation คือกลไกสำคัญที่จะเปลี่ยนและนำองค์กรให้ประสบความสำเร็จอย่างมีคุณค่าต่อสังคมและเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ไม่ว่าประเทศหรือองค์กรต่างก็มี 'โมเดล'บางประเทศเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม ก็เพราะใช้ Business Model Innovation ในการพัฒนาประเทศ อย่างเช่น ประเทศเกาหลีก็สร้าง Business Model ของประเทศ ให้โดดเด่นไปในด้านเทคโนโลยีซึ่งสามารถสร้างคุณค่าให้กับประเทศได้มากกว่าการทำการเกษตร เพราะประเทศตั้งอยู่ในเขตที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น ในแต่ละปีสามารถทำการเกษตรได้ไม่กี่เดือน สภาพภูมิประเทศก็เต็มไปด้วยภูเขา จึงต้องเปลี่ยน Model ของประเทศเพื่อยกระดับให้ประเทศอยู่ดี กินดี และแข่งขันได้บนเวทีโลก
ปัจจุบันโลกก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง การพัฒนาด้านต่าง ๆ ในแต่ละมุมโลกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับประเทศไทยนั้น ต้องหันกลับมามองว่าปัจจัยใดที่จะสร้างขีดความสามารถแก่ประเทศ และทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี อย่างเช่น ไทยมีจุดเด่นด้านการเกษตร มีแหล่งท่องเที่ยว มีวัฒนธรรม ก็ต้องสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ นี้ขึ้นมาเพื่อสร้างศักยภาพให้ประเทศไทยได้เติบโตและก้าวหน้าไปพร้อมกับโลกในยุคโลกาภิวัตน์
เครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นหนึ่งในองค์กรภาคเอกชนของไทยที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา Business Model Innovation ที่โดดเด่นคือ “การเลี้ยงไก่แบบครบวงจร” ซึ่งเป็นก้าวแรกในพลิกโฉมหน้าการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่เกษตรทันสมัย เป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ของไทยสู่มาตรฐานโลก ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และทำให้ประชาชนคนไทยได้มีอาหารโปรตีนชั้นดีราคาถูกสำหรับบริโภค ซึ่งผู้สร้างนวัตกรรมนี้คือ“คุณธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์
นอกจากนี้ยังมีอีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า Business Model Innovation ต้องขับเคลื่อนโดยผู้นำ นั่นก็คือ “โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ เทคโนธุรกิจ” ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการเปิดโลกทางการศึกษาเพื่อสร้างเยาวชนสู่การเป็นมืออาชีพด้าน การค้าปลีก ทั้งสร้างองค์ความรู้ด้านการค้าปลีก และส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชนไทย รวมถึงยังเป็นการตอบโจทย์ทางธุรกิจในการสร้างคนเพื่อรองรับการเติบโตของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ซึ่งผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมนี้ คือ “คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีบมจ.ซีพีออลล์ เป็นหัวหอกในการดำเนินธุรกิจ
ในส่วนของซีพีแรมซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในกลุ่มธุรกิจการตลาดและการจัดจำหน่าย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานนั้น ได้ต่อยอด Business Model Innovation ของ บมจ.ซีพีออลล์ โดยดำเนินโครงการเรียนฟรีมีรายได้ ของซีพีแรม ที่ร่วมมือกับโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ เปิดโอกาสทางการศึกษา ให้กับนักเรียนที่ตั้งใจเรียนแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือลูกหลานพนักงานในชุมชนใกล้เคียงและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ได้ศึกษาเล่าเรียนในระดับที่สูงขึ้น โดยได้จัดให้มีการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ จัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี โดยเรียนควบคู่ ไปกับการฝึกทำงานจริงที่ซีพีแรม
Business Model Innovation จึงเป็นสุดยอดนวัตกรรมที่มีพลังอย่างมหาศาลต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผู้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือพลิกโฉมให้เป็นไปตามที่ต้องการก็คือ “ผู้นำ”
ซีพีแรม “องค์กรแห่งนวัตกรรม” เปิดศูนย์นวัตกรรมอาหารโชว์ศักยภาพด้านนวัตกรรมอย่างครบเครื่อง
ซีพีแรมได้กำหนดเป้าหมายในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้(พ.ศ.2556-2560) ให้เป็นช่วงเวลาแห่งการก้าวสู่ยุคครบเครื่องด้วยนวัตกรรม(Innovation Convergence Period) ซีพีแรมจะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม โดยปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม(Innovation Culture)ผ่านวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งจะส่งเสริมให้คนในองค์กรเกิดความ“กล้า” ผ่านหลักการ “5 กล้า” เพื่อจุดประกายในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ได้แก่ 1.กล้าเรียนรู้ 2.กล้าคิด 3.กล้านำเสนอหรือกล้าแสดงความคิดเห็น 4.กล้าทำ 5.กล้ารับผิดชอบ
นวัตกรรมในองค์กรของซีพีแรมมีด้วยกัน 7 ประเภท ได้แก่ 1.นวัตกรรมแบบจำลองธุรกิจ(Business Model Innovation) 2.นวัตกรรมเทคโนโลยี(Technology Innovation) 3.นวัตกรรมองค์กร(Organization innovation) 4.นวัตกรรมกระบวนการ(Process Innovation) 5.นวัตกรรมผลิตภัณฑ์(Product Innovation) 6.นวัตกรรมบริการ(Service Innovation) 7.นวัตกรรมการจัดการ(Management Innovation)
นอกจากนี้ซีพีแรมได้วางแผนจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอาหาร หรือ CPRAM Innovation Center ขึ้นที่จังหวัดชลบุรี ภายในศูนย์ฯ จะแสดงนวัตกรรม ทั้ง 7 ด้านของซีพีแรม โดยมีจุดเด่นที่นวัตกรรมการผลิต กล่าวคือในศูนย์ฯแห่งนี้จะมีโรงงานอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งเป็นโรงงานที่มีการผลิตแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เช่น สายการผลิตซาลาเปาอัตโนมัติ และสายการผลิตขนมจีบเสียบไม้อัตโนมัติ ซึ่งเป็นแห่งเดียวในโลกที่ออกแบบขึ้นมาเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีสายการผลิตข้าวกล่องที่สามารถผลิตได้ 100,000 กล่องต่อวันทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และภายในศูนย์ฯนี้ยังมี ห้องประสบการณ์ลูกค้า ห้องR&D ห้องครัวทดลอง ร้านอาหารแห่งอนาคต รวมไปถึงสำนักงานอัจฉริยะ หรือ Smart Office ที่ให้พนักงานเลือกนั่งทำงานได้ทุกที่ มีห้องปลุกพลังความคิด ห้องประชุมที่ติดต่อสื่อสารด้วยเสียงและภาพในระบบ 3 มิติไปทั่วโลก พร้อม Smart Portal และ Digital Signage เพื่อการสื่อสารองค์กรและแบ่งปันความรู้
|
โดย : นายวิเศษ วิศิษฎ์วิญญู รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพีแรม จำกัด
|