- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Sunday, 28 June 2015 21:50
- Hits: 4932
หนึ่งในปรัชญาชีวิตที่ได้ถ่ายทอดมาสู่การดำเนินธุรกิจของเครือฯและเป็นหนึ่งในค่านิยมของเครือฯที่ยึดถือปฏิบัติ คือ ความซื่อสัตย์ สุจริต รู้คุณ (诚信仁义)
“คุณพ่อจะสอนเสมอว่า เราเป็นคน จะต้องซื่อสัตย์ต่อพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง คนที่เรารู้จักรวมถึงผู้อื่น ทำอะไรต้องทำให้ดี อย่าไปหลอกลวงลูกค้า โดยเฉพาะเกษตรกร
เกษตรกรทำงานเหน็ดเหนื่อยซื้อเมล็ดพันธุ์ไปห่อเล็กนิดเดียว แต่เมื่อลงมือปลูกบนผืนดินเป็นไร่ ต้องถางหญ้า รดน้ำใส่ปุ๋ยทุกวัน ถ้าได้เมล็ดพันธุ์ไม่ดีไปปลูก ผลผลิตที่ได้ย่อมไม่งาม น้ำหนักน้อย ขายไม่ได้ราคา
เพื่อให้เกษตรกรได้รับสินค้าคุณภาพ คุณพ่อคัดเมล็ดพันธุ์ผักที่ดี จากนั้นก็รักษาคุณภาพโดยบรรจุลงในซองกระดาษเคลือบดีบุก ตีพิมพ์วันหมดอายุลงบนซอง หากลูกค้าซื้อไปแล้วยังไม่ได้ปลูก ผลิตภัณฑ์หมดอายุก่อนสามารถนำมาแลกคืนได้ คุณพ่อให้เอาของดีที่สุด สร้างและรักษาตรายี่ห้อ ด้วยความซื่อสัตย์
นี่คือ คำสอนของคุณพ่อ ที่ “ธนินท์” นำมาใช้ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการ ยึดถือความสำคัญของ “คุณภาพ”ต้องมาเป็นอันดับแรกและซื่อสัตย์ต่อลูกค้า
ปรัชญาข้อที่สอง เมตตากรุณา สามัคคี (慈爱和气)
คำว่า “เมตตา” ตามพจนานุกรมไทย หมายความถึง ความรักและเอ็นดู ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นได้สุข แต่สำหรับ “สุภาษิตจีน” มีความหมายที่ลึกซึ้งยิ่งกว่า “ธนินท์” ขยายความให้ฟังว่า เป็นความรักอย่างมีเมตตาซาบซึ้ง เอ็นดู รักอย่างจริงใจ
“ธนินท์” มักพูดถึงคำสอนของคุณพ่อให้คนใกล้ชิดฟังเสมอ ที่สอดคล้องกับสุภาษิตนี้คือ คำว่า “เฉินจิ้ง” ที่ทุกคนต้องยึดมั่นในจิตใจเสมอ แปลเป็นภาษาไทยแยกออกเป็น 3 คำ
หนึ่ง ต้องรักษาคุณภาพ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องทำให้ดีที่สุด ทำให้มีคุณภาพดีที่สุด
สอง ต้องรู้จักรักอย่างมีเมตตาและจริงใจ และสามัคคีในหมู่พี่น้อง ความสามัคคีจักดลบันดาลให้ดินเป็นทองได้
สาม ต้องปฏิบัติตนให้มีความน่าเชื่อถือ จะนำชีวิตก้าวไปสู่ความสำเร็จ
ในครอบครัว “ธนินท์” มีความใกล้ชิดกับแม่มาก เพราะคุณพ่อต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศอยู่เสมอๆ แม่จะให้ความรัก ความเมตตากับลูก ๆ
ความรัก ความเมตตาของคุณแม่ไม่ได้ถ่ายทอดไปยังลูกๆ และคนในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังขยายไปถึงคนที่อยู่รอบๆ ตัวด้วย ตัวอย่างใกล้ตัวที่ “ธนินท์” มักเล่าให้ฟัง เวลารับประทานอาหาร แม่บ้านจัดโต๊ะเสร็จ คุณแม่จะบอกให้แม่บ้านไปกินข้าว ไม่ต้องคอยดูแล เพราะนึกถึงว่าแม่บ้านก็ต้องหิวเหมือนกัน และสิ่งเหล่านี้ก็ฝังอยู่ในจิตสำนึกของลูกๆ ทุกคน รวมถึง “ธนินท์” ด้วย
“หากสังเกตุจะเห็นว่า แม่คนไหนที่รู้จักให้ ลูกจะเป็นคนดี ถ้าแม่ที่ใจดีแต่ไม่รู้จักให้ ลูกหลานจะมีทั้งดีและไม่ดีบ้าง และแน่นอนว่าคนที่เห็นแก่ตัวจะถ่ายทอดยีนเห็นแก่ตัวไปให้ลูกบางคน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย แล้วต่อไปเมื่อเติบใหญ่จะเป็นผู้นำได้อย่างไร จะสร้างความน่าเชื่อถือในตัวตนของตัวเองได้อย่างไร”
จากการที่ได้เห็นคุณแม่เป็นผู้ที่มีความรัก ความเมตตา ที่มีต่อครอบครัวและผู้อื่นในการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้ฝังอยู่ในจิตใจของ “ธนินท์” แล้วถ่ายทอด ผ่านแนวคิดหลักปรัชญา 3 ประโยชน์ที่นำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจที่ต้องคิดถึง “ผู้อื่น” ก่อน คือ ประโยชน์ของประเทศชาติต้องมาก่อน ตามด้วยประโยชน์ประชาชน และบริษัทเป็นอันดับสุดท้าย
“ธนินท์” มักพูดเสมอว่า คนเราต้องรู้จักให้ก่อน แล้วสิ่งดีๆ ในชีวิตจะตามมาอย่างไม่คาดฝันจน ถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน
ในวันที่จีนต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตเทียนอันเหมิน นักลงทุนต่างชาติแห่ถอนการลงทุนออกจากประเทศจีน แต่เครือฯกลับยืนหยัดที่จะพัฒนาธุรกิจในประเทศจีนต่อไปทั้งๆ ที่รู้ว่ายากลำบากยิ่งนัก
จากเหตุการณ์ครั้งนั้นรัฐบาลจีนจึงมองเครือฯเป็นมิตรแท้ ทำให้เชื่อถือ ไว้วางใจ จึงให้โอกาสเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการพัฒนาธุรกิจมาถึงปัจจุบัน
การเอื้อมมือออกไปให้กับคนที่กำลังเดือดร้อน เปรียบเสมือนการส่งถ่านไปกลางหิมะถือเป็นคุณธรรมอันมีค่าสำหรับชาวจีน
ด้วยเหตุนี้ ความซื่อสัตย์ ความเมตตา ความสามัคคี จึงพลิกดินเป็นทองได้ เป็นปรัชญาที่สามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงานได้ ถ้าใช้ในครอบครัวพี่น้องก็จะรักใคร่กลมเกลียว สามัคคีกัน ถ้านำไปใช้ในการทำงานก็จะเกิดความสมานฉันท์ ก่อให้เกิดความร่วมแรงใจกันทำงานนำไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด
โดย CP Group / วันที่โพสต์ 2 มี.ค. 2558 โดย เรียบเรียงจากคอลัมน์ “ส่องเลนส์ความคิดประธานธนินท์”