WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พัฒนาบุคลากรอย่างเข้มข้น'สูตรลับความสำเร็จธุรกิจเบเกอรี่'ซีพีแรม'
โดย รำไพพรรณ พรตรีสัตย์ รองประธานกรรมการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด (กิจการเบเกอรี่)

CPรำไพพรรณ      'เบเกอรี่' คือผลิตภัณฑ์ขนมอบชนิดต่างๆ ทั้งขนมปัง พาย เค้ก คุกกี้ ไปจนถึงขนมเปี๊ยะชนิดต่างๆ เพิ่งเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนไทยเมื่อ 40 กว่าปีที่ผ่านมา การผลิตเบเกอรี่เป็นเรื่องของทั้งศาสตร์และศิลป์ แหล่งให้ความรู้ในอดีตที่พัฒนาบุคลากรในธุรกิจนี้คือ สมาคมผู้บริโภคข้าวสาลีของสหรัฐอเมริกา (US Wheat Associates) และสถาบันวิจัยด้านขนมปัง (Bread Research Institute) ของออสเตรเลีย ทั้งสองหน่วยงานทำหน้าที่ส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ พัฒนาทั้งการผลิต และการบริโภคเบเกอรี่ที่มีคุณภาพ

       ธุรกิจเบเกอรี่ของบริษัท ซีพีแรม จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้น 25 ปีก่อน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2532 พร้อมๆ กับการเปิดสาขาแรกของ 7-Eleven จากทีมงาม 3-4 คนในวันนั้น มาเป็นธุรกิจในปัจจุบันที่มีพนักงาน 4,000 คน ผู้นำของซีพีแรมได้ตระหนักถึงการพัฒนาทีมงานให้มีความสามารถหลากหลาย เพื่อให้เป็นทีมงานที่แข็งแกร่ง และนำพาธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง โดยทีมงานกลุ่มนี้คือ

      Baking Scientist นักวิทยาศาสตร์ผู้มีความรู้ด้านการทำขนมอบ เพราะการผลิตเบเกอรี่เป็น “ศาสตร์” ของการทำให้ขนมที่ผลิตจากแป้งสาลีขึ้นฟู หรือขึ้นชั้นเป็นขนมปัง พาย เค้ก หรือคุกกี้ การพัฒนาให้สินค้าออกมาได้รูปร่างและความอร่อยถูกใจ ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาตร์หลายด้าน ด้านที่สำคัญที่สุดคือ วิทยาศาสตร์การอาหาร ในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ผลิตบัณฑิตด้านนี้สู่ตลาด แต่ก็ไม่มีสาขาเบเกอรี่โดยตรง ดังนั้นการฝึกอบรมทั้งภายในบริษัท และการเข้าฝึกฝนจากสถาบันขนมอบเฉพาะด้าน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างคนคุณภาพด้านเบเกอรี่อย่างแท้จริง โดยแต่ละคนจะต้องได้รับการ Coaching และมีพี่เลี้ยงควบคู่ไปด้วย พร้อมทั้งได้รับมอบหมายให้ทำ Project ต่างๆ และหมุนเวียนงานไม่น้อยกว่า 3-5 ปี

     Baking Technologist การผลิตเบเกอรี่ทำได้ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ระดับอุตสาหกรรมในแบบใช้คนงานฝีมือเป็นหลัก จนถึงระดับอุตสาหกรรม ผลิตโดยเครื่องจักรอัตโนมัติ วิทยาการและเทคโนโลยีด้านขนมอบ จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้เหมาะสมกับรูปแบบการจัดการโรงงาน การส่งพนักงานไปดูงานแสดงเครื่องจักรในต่างประเทศ รวมถึงการเยี่ยมชมโรงงานผลิตทั้งเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา นับเป็นวิธีการส่งเสริมทักษะ และความรู้ที่ดียิ่งของเหล่าวิศวกรโรงงาน และช่างเทคนิคต่างๆ การมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญปฏิบัติการโรงงานจากต่างประเทศเข้ามาให้ความรู้และแนะนำวิธีการทำงานให้กับทีมงาน ถือเป็นการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ที่มีคุณค่ายิ่ง

Merchandising Leader เป็นบุคลากรอีกกลุ่มหนึ่งที่จำเป็นในธุรกิจเบเกอรี่ ทำหน้าที่เป็นผู้ค้นหาความต้องการของลูกค้า เพื่อคิดและจัดทำกระบวนการตลาด เพื่อเสนอประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการบริโภคเบเกอรี่ให้แก่ลูกค้าตามความมุ่งหวัง ซึ่งความสำเร็จในเรื่องนี้นอกจากการรู้จักลูกค้าเป็นอย่างดีในแต่ละสภาวะแล้ว ยังต้องการผู้ประสานความสามารถของทุกฝ่ายในกระบวนการตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ส่งมอบเครื่องจักรโรงงานผลิต ผู้จัดส่งและร้านจำหน่ายให้ร่วมผนึกกำลัง สร้างคุณค่าสูงสุดให้แก่ผู้บริโภคอย่างแท้จริง

     Strategist ผู้บริหารกลยุทธ์ถือเป็น “ขงเบ้ง” แห่งบุคลากรทั้งหลาย เป็นจอมทัพที่กำกับทิศทางธุรกิจ ท่ามกลางกระแสสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่เปลี่ยนแปลง โดยมุ่งสร้างความพึงพอใจ และความผูกพันกับลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจเติบโตและสร้างกำไรอย่างยั่งยืน การพัฒนาผู้นำของธุรกิจเบเกอรี่ให้จัดวางและบริหารกลยุทธ์ได้อย่างเฉียบคมเป็นสิ่งสำคัญ ซีพีแรมจึงมีการจัดตั้ง SET หรือ Strategic Engagement Team ประกอบด้วยผู้นำในหน่วยงานหลักที่สำคัญทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์องค์กร มุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมคาดการณ์ผลลัพธ์ และพร้อมเปลี่ยนแปลงแผนในแต่ละช่วงร่วมกัน นอกจากเวทีนี้จะฝึกฝนให้ทีมงานร่วมกันบริหารองค์กรอย่างเป็นระบบอย่างมืออาชีพแล้ว ยังเป็นเวทีพัฒนาผู้นำให้เก่งและรับผิดชอบผูกพันองค์กรร่วมกันอีกด้วย

     Innovator บุคลากรกลุ่มนี้คือ “นวัตกร” ผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถใช้ความรู้ทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ด้านเทคโนโลยีขนมอบ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนากระบวนการ พัฒนาระบบการจัดการและพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ในกิจการเบเกอรี่ เพราะความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาพร้อมๆ กับวิทยาการด้านการผลิตก็พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่ต้นทุนการผลิต ทั้งคุณภาพวัตถุดิบ และค่าจ้างแรงงานไม่คงที่ ดังนั้นองค์กรจึงต้องกระตุ้นให้เกิดวัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรมในองค์กร โดยนำระบบการพัฒนาปรับปรุงงานเข้ามาใช้ตั้งแต่ 7 ส , ISO , Kaisen , YQM , LEAN และเกณฑ์การการจัดการเพื่อความเป็นเลิศ TQA ซึ่งระบบต่างๆ เหล่านี้เป็นการพัฒนาให้บุคลากรในองค์กรตื่นตัวต่อการปรับปรุงและคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ซึ่งผู้นำแต่ละระดับสมทบด้วยการจัดรางวัล การให้คำยกย่องชมเชย การเผยแพร่ผลงานที่เป็นแบบอย่าง การส่งเสริมการประกวดทั้งระดับภายในองคการ ในเครือ ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ล้วนเป็นการสร้างบรรยากาศของนวัตกรรมในธุรกิจทั้งสิ้น การประมวลองค์ความรู้เหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพคือ การทำให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดไป

     ธุรกิจเบเกอรี่มุ่งหวังจะตอบสนองผู้บริโภคด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ อร่อย มีประโยชน์ และความสุขกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักว่า หนทางเดียวที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จได้คือ การพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรให้สร้างประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าเขาจะเป็น“คนดี” หรือ “คนเก่ง” หรือไม่เพียงไร แต่ด้วยความเป็นบ้านหลังใหญ่ที่รวมคนทั้งหลายให้เกิดความผูกพัน สามัคคี และช่วยกันสร้างประโยชน์ตามกำลังของแต่ละคน ความฝันของธุรกิจที่จะเป็นองค์กร 100 ปี ผู้สร้างรอยยิ้มให้แก่ลูกค้า ด้วยทีมงานที่มีความสุข ย่อมเป็นจริงได้เสมอ

นางรำไพพรรณ พรตรีสัตย์ รองประธานกรรมการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด (กิจการเบเกอรี่) ให้สัมภาษณ์วารสาร MBA Connected by PIM ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2557 โดย CP Group / วันที่โพสต์ 29 ธ.ค. 2557  

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!