- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Sunday, 28 June 2015 21:03
- Hits: 3993
ในภาพรวมเห็นด้วยกับนโยบายด้านเศรษฐกิจเร่งด่วนของรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะการอนุมัติงบประมาณ 92,000 ล้านบาท จ่ายค่าจำนำข้าวให้กับชาวนา เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ส่วนการอนุมัติงบประมาณ 'ค้างท่อ' ก็ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการหลายราย ก็ตอบรับในทางบวกว่า นโยบายต่างๆ ของรัฐบาล คสช. เดินมาถูกทางแล้ว เคยได้ยินนักธุรกิจต่างชาติรายหนึ่งพูดว่า 'ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้แล้ว' ด้านการเมืองก็คลี่คลายลง ความมั่นใจจึงเกิดขึ้นทันที หลังจากค้าขายลำบากมานาน ทุกคนเริ่มเห็นอนาคตจากเดิมมืดมน จากนี้ไปกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะเกิดขึ้นตามมา
สำหรับแผนแม่บทคมนาคมเป็นเรื่องที่ค้างมานาน ถึงแม้รัฐบาลชุดก่อนจะริเริ่มไว้ แต่ก็ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ มาถึงรัฐบาลชุดนี้ ก็ต้องดูว่าจะเริ่มตรงไหนก่อนหลัง หากทำได้เร็วจะยิ่งดี แต่ต้องมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ เพราะโครงการด้านคมนาคมที่เกิดขึ้นมาจะมีประโยชน์มหาศาล ไม่ใช่แค่ที่ดินที่จะมีมูลค่าสูงขึ้นเท่านั้น ยังมีการลงทุนในพื้นที่รอบๆ โครงการมากขึ้น รวมทั้งเรื่องของการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีการคมนาคมขนส่งด้วย
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จุดแข็งของไทยคือการเมืองนิ่ง แต่จุดอ่อนคือการแก้ไขปัญหาจะเร็วแค่ไหน และความเชื่อมั่นในอนาคตจะเป็นอย่างไร โดยเศรษฐกิจของไทยยังคงเชื่อมโยงกับภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะนี้สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มดี แต่กลุ่มยุโรปยังมีปัญหา ทำให้ส่งออกของไทยยังไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ 5% คาดว่าทั้งปีจะโตไม่เกิน 2% ขณะที่การลงทุนที่ผ่านมายังน้อย ถึงแม้บีโอไอจะตั้งเป้าไว้ 7 แสนล้านบาท แต่การบริโภคภายในประเทศและการท่องเที่ยวเริ่มกระเตื้องขึ้น ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้า ปัจจัยเรื่องการมีรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งหรือไม่ อาจไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่ที่เป็นห่วงคือ รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามายกเลิกนโยบายของรัฐบาล คสช. ทิ้งหรือไม่ หากมีการเปลี่ยนแปลง จะทำให้เสียเวลาเริ่มต้นกันใหม่ แต่หากทุกอย่างราบรื่นคาดว่าจีดีพีปีหน้าจะไปถึง 4%
สำหรับ ภาคเอกชนของไทย ในสภาวะปัจจุบันอยากให้มองภาพใหญ่ในระดับภูมิภาคและระดับโลก ไม่ใช่มุ่งแค่ปัญหาภายในอย่างเดียว เพราะเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำธุรกิจส่งออก แต่เราอยู่ในข้อต่อที่สองที่สามของห่วงโซ่ในธุรกิจ เช่น ระดับสากลเจรจากันเรื่องลดภาวะโลกร้อนด้วยการส่งเสริมคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ มีประเทศที่ร่วมเจรจามากกว่าสมาชิก WTO เราจะนำเรื่องนี้มาใช้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจได้อย่างไร เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ข้อกำหนดนี้ได้ นั่นหมายความว่า ทุกธุรกิจต้องเป็นสากลให้เร็วที่สุด และต้องมาช่วยกันคิดว่าจะเพิ่มมูลค่าธุรกิจให้กับสินค้าได้อย่างไร ทุกวันนี้ผู้บริโภคยุคใหม่จะไม่ถามแล้วว่าสินค้าราคาเท่าไหร่ แต่จะถามว่าทำมาจากอะไร และมีกระบวนการผลิตอย่างไร
ที่มา : คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และรองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย : วารสาร TMB Borderless ฉบับที่ 20 โดย CP Group / วันที่โพสต์ 17 ต.ค. 2557