WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Riceberry

 

ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ ทางเลือกใหม่ช่วยชาวนากินดีอยู่ดี

    ข่าวการสูญเสียชีวิตของคนดัง มีชื่อเสียงด้วยโรคมะเร็งนั้น ทำให้เกิดการตื่นตัวเรื่องการดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงจึงได้รับความนิยมมากขึ้น ตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าวพันธุ์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้คนในยุคปัจจุบัน ‘กินข้าวไม่ได้เพียงแค่ให้อิ่มท้องเท่านั้น แต่กินเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ อีกด้วย  ในบางคนอาจจะยังไม่คุ้นหูสักเท่าไหร่กับคำว่า ‘ข้าวไรซ์เบอร์รี่’แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ทราบว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่นี้มีคุณประโยชน์มากมายเพียงใด  เราจึงต้องมาทำความรู้จักข้าวสายพันธุ์นี้กันให้มากขึ้นเสียก่อน

    ข้าวไรซ์เบอร์รี่ จัดเป็นข้าวสีม่วงที่สร้างความตื่นตัวในตลาดข้าวเพื่อสุขภาพอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้แล้ว เพราะเป็นพันธุ์ข้าวที่ได้จากการผสมระหว่างข้าวหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีลักษณะเมล็ดที่เรียวยาว สีม่วงเข้ม และมีกลิ่นหอมมะลิ ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นทางด้านโภชนาการ คือ มีโปรตีนเป็นสองเท่าของข้าวหอมมะลิ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีดัชนีน้ำตาลต่ำ-ปานกลาง และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากมายต่อร่างกาย ซึ่งจากคุณสมบัติข้อนี้ นอกจากจะใช้รับประทานเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด โรคสมองเสื่อม และบำรุงร่างกายชะลอความแก่ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงได้รับความนิยมและความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    ด้วยคุณสมบัติด้านโภชนาการที่โดดเด่นของข้าวไรซ์เบอร์รี่ ทำให้มีการปลูกข้าวพันธุ์นี้กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งหากปลูกไว้กินเองคงไม่เป็นไร แต่สำหรับผู้ที่ตั้งเป้าปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่เพื่อต้องการขายความมีคุณค่าทางโภชนาการสูงนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ในการผลิตที่ถูกต้องตามลักษณะพันธุ์ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะได้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่มีลักษณะผิดแปลกไปจากพันธุ์เดิม ทั้งสีสันและปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่นี้จึงต้องอาศัยการเอาใจใส่และดูแลเป็นพิเศษ  ซึ่งการทำแบบอินทรีย์จะได้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่มีคุณค่าทางโภชนาการในปริมาณสูงตามลักษณะพันธุ์มากที่สุด 

   กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงจัดทำ 'โครงการเพิ่มผลผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์' ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการดำเนินกิจกรรมการยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และการตลาดผลิตภัณฑ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในเชิงเศรษฐกิจอย่างพอเพียง เน้นการสร้างมาตรฐานคุณภาพการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ให้ได้รับมาตรฐานสากล (IFOAM) เพื่อเป็นจุดขาย และทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ

   การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่จำเป็นต้องใช้กระบวนการผลิตที่ดีและเหมาะสม แต่เกษตรกรทั่วไปมักคุ้นเคยกับการทำนาหว่านและใช้สารเคมีในการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้จึงไม่ผ่านกระบวนการลดความชื้น และขาดการสร้างตลาดส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยมักประสบปัญหา ด้วยเหตุนี้จึงสอดคล้องกับ’โครงการเพิ่มผลผลิตข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์’ ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการขยายพื้นที่การเพาะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล และเพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้เกิดการรวมกลุ่ม มีระบบการบริหารจัดการการผลิต การแปรรูป รวมถึงการตลาดที่เข้มแข็ง

   อีกทั้ง ยังช่วยส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เกิดการรวมกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เรียกว่า 'Riceberry Valley' ที่มีระบบการบริหารจัดการการผลิต การแปรรูป และการตลาด และมีคณะกรรมการที่เข้มแข็ง ซึ่งนอกจากเกษตรกรในโครงการจะได้รับเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตแล้วนั้น เกษตรกรยังจะได้รับความรู้ต่างๆ ทั้งทฤษฎี และปฎิบัติจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนวิทยากรที่มาจัดอบรมความรู้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการทำระบบมาตราฐานเกษตรอินทรีย์ การทำข้าวอินทรีย์ตามลักษณะของพันธ์ข้าวโครงการเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้พัฒนา และนำแนวทางแก้ไขความเสี่ยงไปใช้แก้ไข ปรับปรุงแปลงนาข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ให้ได้รับมาตรฐานสากล (IFOAM) อีกด้วย

   ดังนั้น การทำนาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์จึงเป็นการทำนาแบบทางเลือกใหม่ของเกษตรกรชาวนาที่หันมาทำนาแบบปลอดสารพิษ  เพราะนอกจากไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี อันเป็นการลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับการปลูกข้าวขาวธรรมดาที่ต้องใช้สารเคมีและการลงทุนที่สูงอีกด้วย หากเกษตรกรคนไหนที่คิดจะปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ จึงควรตระหนักและหาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถ่องแท้ก่อนตัดสินใจ หรือสามารถสอบถามข้อมูลต่างๆ ผ่านทางกระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 084-920-8758, 085-408-0178 หรือ http://www.riceberryvalley.org เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเริ่มปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์กันดีกว่า

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!