- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Monday, 01 June 2015 08:51
- Hits: 3958
การรังแกกันในโรงเรียนเป็นเรื่องคุกคามความปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน
จากผลการวิจัย'การรังแกกันของนักเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา : รูปแบบ ความชุก ผลกระทบ แรงจูงใจ และมาตรการป้องกัน ใน 5 จังหวัดของประเทศไทย ระบุว่านักเรียนเคยถูกรังแกด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ” ที่จัดทำและเผยแพร่โดย องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ร่วมกับองค์การยูเนสโกและมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2557 ได้เปิดเผยถึงข้อมูลที่น่าตกใจว่า กว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มนักเรียนโดยเฉพาะที่ระบุว่าตนเองเป็น คนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ และ คนข้ามเพศ (LGBT)เคยถูกรังแก หรือแม้แต่ 1 ใน 4 ของกลุ่มที่ระบุตัวเองว่าไม่ได้เป็น LGBT ก็ยังคงถูกรังแกเหตุเพราะถูกมองว่าอ่อนแอ หรือแปลกแตกต่างไม่เข้ากลุ่ม และเพียง 1 ใน 3 ของนักเรียนที่ถูกรังแกเลือกที่จะตอบสนองต่อเหตุการณ์เช่น ปรึกษาเพื่อน สู้กลับ หรือบอกครู ดังนั้นการให้การศึกษาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและเหมาะสมทั้งในประเด็นด้านสิทธิเด็กและความเท่าเทียม และเรื่องเพศภาวะ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนมัธยมที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น หรือวัยเจริญพันธ์นั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ควรละเลยในความเหลื่อมล้ำของการเลิอกปฏิบัติและความปลอดภัยในโรงเรียน ดังนั้นองค์การแพลน ฯ และองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ ได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรอีก 2 องค์กรคือ มูลนิธิพาธทูเฮลท์ (Path2Health) และ มูลนิธิเอ็ม พลัส (M Plus) ร่วมจัด งานประชุมสัมมนาวิชาการ “โครงการรณรงค์สร้างสิทธิความเท่าเทียมด้านเพศภาวะ ยุติความรุนแรงและการรังแกกันในสถานศึกษาในประเทศไทย” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก the Swedish International Development Agency (SIDA) ประเทศสวีเดน and the Dutch Ministry of Education, Science and Culture
ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยได้ดำเนินโครงการร่วมกับ โรงเรียนนำร่อง 12 โรงเรียน ในจังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมมือกันรณรงค์ยุติความรุนแรงและสร้างสถาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อนักเรียน เพื่อป้องกันความรุนแรงหรือการรังแกกัน และส่งเสริมให้โรงเรียนมีกิจกรรม กฎระเบียบหรือมาตรการรองรับต่อการใช้ความรุนแรงและการรังแกกันในสถานศึกษา โดยเฉพาะการรังแกจากเหตุของเพศภาวะ ทั้งนี้เพื่อสร้างเสริมสิทธิเด็กและการคุ้มครองป้องกัน ให้เด็กนักเรียนรู้สึกปลอดภัยมั่นคง มีส่วนร่วมและได้รับการยอมรับนับถือในฐานะพลเมืองของสังคม โดยร่วมวางแผนและดำเนินการออกแบบคู่มือสื่อการเรียนการสอนสำหรับคุณครูและนักเรียน ในเรื่องความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติ เรื่องความเท่าเทียมด้านเพศภาวะ กระบวนการเข้าถึงความช่วยเหลือและการดำเนินงานด้านบริหารจัดการเพื่อช่วยยุติความรุนแรงและการรังแกกันในบริบทของโรงเรียน เพื่อนำไปปรับใชัให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตประจำวันในการป้องปราม หรือแก้ปัญหาการล่วงละเมิดโดยความรุนแรงและการรังแกต่างๆที่เกิดขึ้นในโรงเรียนและชุมชน
ดร.สายพันธุ์ ศรีพงศ์พันธุ์กุล นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “ในบทบาทของภาครัฐได้ศึกษาและให้ความสนใจและสนับสนุนมาตรการต่างๆต่อเรื่องการปกป้องคุ้มครองเด็ก โดยให้ความสำคัญกับการยุติความรุนแรงและการรังแกกันโดยเฉพาะในโรงเรียนภายใต้พื้นที่ของสพฐ. ทั้งในเรื่องนโยบาย แผนงาน การดำเนินงานเพื่อยุติและป้องปรามปัญหาเรื่องความรุนแรงและการรังแกกันในโรงเรียน โดยจะเน้นถึงการแก้ปัญหาระหว่างผู้เกี่ยวข้องสำคัญหลักๆ 3 กรณี คือ 1. กรณีระหว่างนักเรียนกับนักเรียน 2. กรณีระหว่างครูกับนักเรียน และ 3. กรณีระหว่างบุคลากรในโรงเรียนกับนักเรียน ซึ่งทางสพฐ.ให้ความสนใจและยินดีสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเพื่อสร้างเสริมศักยภาพด้านความปลอดภัย เพื่อเปลี่ยนแปลงและลดความรุนแรงในกรณีดังกล่าว”
คุณภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการ มูลนิธิพาธทูเฮลท์ กล่าวว่า “ในฐานะองค์กรที่ผลักดันเรื่องสุขภาวะเยาวชน เราเห็นว่าการรังแกหรือใช้ความรุนแรงต่อกันในสถานศึกษา สามารถแก้ไขได้หากสร้างความเข้าใจ และทัศนะที่เคารพในความแตกต่าง และการปฏิบัติต่อกันด้วยความเท่าเทียมเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เราต้องการสร้างในเยาวชนและพลเมืองของเรา โรงเรียนนำร่องทั้ง12 แห่งในโครงการจะเป็นการทดลองสร้างเครื่องมือและวิธีดำเนินงานแบบทั้งครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนร่วมกันสร้างคุณลักษณะของผู้เรียนดังว่า เพื่อลดการรังแกและส่งเสริมการเคารพสิทธิและอยู่ร่วมกันในความแตกต่างทั้งเรื่องเพศและเรื่องอื่นๆ ที่มีการกระทำความรุนแรงต่อกัน”
คุณป้อมปราณณ์ เนตยวิจิตร์ ผู้จัดการโครงการป้องกันการรังแกและความรุนแรงในโรงเรียน องค์การแพลนฯ กล่าวเสริมว่า การรังแกกันและความรุนแรงในรูปแบบต่างๆที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เป็นเรื่องที่รุนแรงเข้มข้นและแพร่หลายล่วงละเมิดออกสื่อออนไลน์ต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่ดูอ่อนแอหรืออ่อนด้อยกว่าเด็กอื่น รวมทั้งกลุ่มนักเรียน LGBT ที่ดูจะชัดเจนในเรื่องการการรังแกและล่วงละเมิดในเรื่องเพศภาวะ เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรให้ความสนใจและร่วมแก้ไขอย่างจริงจัง จากการที่ได้ร่วมพูดคุยกับผู้บริหารสถานศึกษา คุณครูและศึกษานิเทศน์ที่มาร่วมประชุมในวันนี้ ทำให้เราได้เห็นประโยชน์ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ ซึ่งมีวิธีการจัดการกับปัญหาความรุนแรงที่แตกต่างกันในบริบทโรงเรียน แต่ปัญหาความรุนแรงจะลดลงมากหากบุคลากรในโรงเรียน ผู้ปกครอง นักเรียน รวมถึงชุมชนต่างเห็นความสำคัญของปัญหาและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน เพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนรู้สึกมั่นคงปลอดภัย อยากไปเรียนหนังสือ มีความมั่นใจภูมิใจในตัวเอง มีทักษะชีวิตและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ยอมรับนับถือในความแตกต่างของเพศและวัย เคารพซึ่งกันและกัน ผู้ปกครองควรเปิดใจรับฟัง ยอมรับในสิ่งที่ลูกตัวเองเป็น พร้อมให้ความรักความเข้าใจ เด็กๆควรมีสิทธิในการแสดงออกในความเป็นตัวตน ครูควรมีการปรับทัศนคติให้มีมุมมองบวกต่อนักเรียนเหล่านั้น รวมถึงกลุ่มที่เป็น LGBT ด้วยเช่นกัน”