- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Saturday, 30 May 2015 14:00
- Hits: 2854
FAO เผยโลกสูญเสียอาหาร จากขั้นตอนการขนส่ง 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นมาทั่วโลกพร้อมผนึก รัฐบาลไทย รณรงค์ให้คนไทยมีจิตสำนึก ลดการกินทิ้งกินขว้าง หรือ Save Food
'อาหารคือชีวิต อย่าได้คิดกินทิ้งกินขว้าง'การสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิต และการกินทิ้งกินขว้าง กลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านอาหาร ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอาหารจำนวนมหาศาลที่มีการสูญหาย หรือสูญเสียไปในแต่ละปี จากขั้นตอนการขนส่งถึง 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นมาทั่วโลก ดังนั้นองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO จึงได้จัดโครงการ'รณรงค์ลดการสูญเสียอาหารและการทิ้งอาหาร'หรือ SAVE FOOD ขึ้น เพื่อสร้างจิตสำนัก และความตื่นตัวในสังคมให้ตระหนักถึงการสูญเสียอาหารในปริมาณอันมาหาศาลที่ผลิตได้ในภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิก ที่ต้องถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย โดยมุ่งเน้นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกวิถีทางเพื่อลดการสูญเสียอาหาร และการกินทิ้งกินขว้าง และส่งเสริมให้มีการบริโภคอย่างยั่งยืน
มร.ฮิโรยูกิ โคนูม่า ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้แทนเอฟเอโอประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เปิดเผยว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นองค์การที่ทำงานเพื่อมุ่งเน้นยกระดับการบริโภคอาหารและมาตรฐานการครองชีพของประชากรในโลกให้ดีขึ้น เพิ่มสมรรถนะในการผลิต และการจัดสรรผลิตผลการเกษตรของโลกให้สูงขึ้น ช่วยปรับปรุงสภาวะของชนบทให้ดีขึ้น และยังรวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกเพื่อให้มนุษยชาติพ้นจากความหิวโหย แต่ในปัจจุบันกลับมีอาหารจำนวนมากที่ถูกผลิตขึ้นมาในโลก แต่กลับถูกทิ้งเสียเปล่าไป ทั้งจากการจัดเก็บหรือการขนส่งที่ไม่ถูกวิธี ทำให้อาหารเน่าเสีย หรือจากการสั่งหรือซื้ออาหารมากเกิน จนเหลือทิ้ง เป็นต้น ฉะนั้น FAO ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดโครงการรณรงค์ “ลดการกินทิ้งกินขว้าง”
โดย โครงการรณรงค์'ลดการกินทิ้งกินขว้าง'เป็นกิจกรรมในระดับภูมิภาค ดำเนินการโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) และ กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เข้าร่วมโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนักและความตื่นตัวในสังคมให้ตระหนักถึงการสูญเสียอาหารในปริมาณอันมาหาศาล ที่ผลิตได้ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ต้องถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย โดยมุ่งเน้นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกวิถีทางเพื่อลดการสูญเสียอาหารและการกินทิ้งกินขว้างและส่งเสริมให้มีการบริโภคอย่างยั่งยืน
การสูญเสียอาหาร หมายถึง การลดลงในเชิงปริมาณของอาหารที่มีอยู่เพื่อการบริโภคของมนุษย์ การสูญเสียอาหารเกิดขึ้นตลอดวงจรของห่วงโซ่อาหาร ในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งประชากรโลก 1 ใน 9 คน กำลังทนทุกข์กับความหิวโหย และ 62% ของผู้หิวโหยอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดย 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นมาทั่วโลก หรือคิดเป็นน้ำหนักถึง 1.3 พันล้านตัน ต้องสูญเสียไปอย่างไร้ค่า ผักผลไม้ 15-50 % ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ถึงมือผู้บริโภค เนื่องจากเน่าเสียระหว่างขนส่ง ข้าว 12-37% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สูญเสียไประหว่างการเก็บเกี่ยว การแปรรูป การขนส่ง และการจัดเก็บ 30% ของผักผลไม้เสียหายไประหว่างการขนส่ง เพราะอากาศร้อน และถูกกระแทกจากการจัดเก็บที่ไม่ดีเพียงพอ ซึ่งสาเหตุหลักของการสูญเสียอาหารภายหลังกระบวนการเก็บเกี่ยวเกิดจาก
· ขาดการวางแผนการผลิต
· ความเสียหายที่เกิดจากการทำลายของแมลงและโรคต่างๆ
· ขาดระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีพอ เช่น ถนนสำหรับขนส่งผลผลิต แหล่งน้ำ ไฟฟ้าและตลาดที่จะรองรับ
· ขาดสถานประกอบการที่มีความเย็นและแห้ง สำหรับจัดเก็บและบรรจุอาหาร
· ขาดระบบขนส่งที่ดีสำหรับขนส่งอาหาร
· ระบบการบรรจุอาหารที่ไม่เหมาะสมและคุณภาพไม่ดีพอ ทำให้บรรจุภัณฑ์เกิดแตกทำให้
อาหารตกหล่นและเสียหายได้
· การมีความรู้พื้นฐานอำจำกัดเกี่ยวกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการอาหารภายหลังกระบวนการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปอาหาร
การกินทิ้งกินขว้าง หมายถึง การสูญเสียอาหารที่เกิดจากการตัดสินใจที่จะทิ้งขว้างอาหารในขณะที่อาหารนั้นยังบริโภคได้อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการให้บริการด้านอาหารและในหมู่ผู้บริโภคเอง การกินทิ้งกินขว้างที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้ จะเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ เช่น จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีและสิงคโปร์ การกินทิ้งกินขว้างได้กลายเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ในย่านตัวเมืองของประเทศทีพัฒนาแล้วของภูมิภาคนี้
· ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉลี่ยมีการกินทิ้งกินขว้างอาหารประมาณ 11 กิโลกรัม ต่อคน ต่อปี
· ประเทศที่พัฒนาแล้ว (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) มีการกินทิ้งกินขว้างอาหารประมาณ 80 กิโลกรัม ต่อคน ต่อปี (แหล่งข้อมูลจาก เอฟเอโอ 2011)
ในแต่ละปี อาหารจำนวน 1 ใน 3 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ที่ผลิตได้ในโลกถูกทิ้งไป มีมูลค่าถึง32 ล้านล้านบาท อาหารสูญเสียไป และกลายเป็นขยะ ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึง 7% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปลดปล่อยสู่บรรยากาศโลก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปรากฏการณ์โลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มร.ฮิโรยูกิ โคนูม่า กล่าวต่อไปว่า การสูญเสียอาหาร และการกินทิ้งกินขว้าง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในแง่การสูญเสียโอกาสในการหล่อเลี้ยงประชากรที่กำลังเจริญเติบโตของภูมิภาคแห่งนี้และยังกระทบต่อระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน และระดับความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการของภูมิภาคแห่งนี้
การสูญเสียอาหารและการกินทิ้งกินขว้างทำให้สิ้นเปลืองแรงงานและสูญเสียทรัพยากรดินและน้ำที่ใช้ในการผลิตอาหาร นอกจากนี้ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยในระหว่างกระบวนการผลิตอาหารยังส่งผลต่อการเกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
การส่งเสริมการบริโภคอาหารอย่างยั่งยืนจะช่วยลดผลกระทบเหล่านี้ โดยช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร การเสื่อมโทรมของทรัพยากร และมลภาวะต่างๆ ที่เกิดจากการสูญเสียอาหารและการกินทิ้งกินขว้าง และทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น การสูญเสียอาหาร และการกินทิ้งกินขว้างมีผลกระทบในแง่ลบต่อเศรษฐกิจ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งทำให้รายได้ของผู้ผลิตลดลง และทำให้ราคาอาหารสูงขึ้นสำหรับผู้บริโภค ดังนั้นการลดการทิ้งอาหารจึงส่งผลดีในแง่เศรษฐกิจต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
มร.ฮิโรยูกิ โคนูม่า กล่าวอีกว่า โครงการนี้มุ่งหวังที่จะแสวงหาแนวทาง และความคิดริเริ่มใหม่ๆ ในการลดการทิ้งอาหารโดยให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม และให้ความร่วมมือกัน ทั้งจากระดับผู้กำหนดนโยบาย และผู้แทนจากรัฐบาลที่เป็นนักวิชาการและนักกำหนดนโยบาย ผู้แทนจากองค์กรเกษตร สมาคมผู้ผลิตและผู้บริโภค ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจการให้บริการด้านอาหาร องค์กรสตรี องค์กรประชาสังคม สถาบันการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร หุ้นส่วนในการพัฒนาและองค์กรต่างๆ ในภูมิภาคแห่งนี้
“หากเราสามารถช่วยผู้ผลิตอาหารลดการสูญเสียอาหารด้วยวิธีการเก็บเกี่ยว การแปรรูปและจัดเก็บอาหาร การขนส่งและการตลาดที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมไปกับการรณรงค์อย่างยั่งยืนในการเปลี่ยนแปลงนิสัยการบริโภคของผู้บริโภค เราก็จะสามารถบรรลุถึงเป้าหมายของการเป็นโลกที่มีแต่คนสุขภาพดีและปราศจากความหิวโหย และ“การลดการสูญเสียอาหาร และลดการกินทิ้งกินขว้างจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค”มร.ฮิโรยูกิ โคนูม่า ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้แทนเอฟ เอ โอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวทิ้งท้าย