- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Thursday, 14 May 2015 12:24
- Hits: 2904
ต่างมุมมอง 'คอนแทรคฟาร์ม'ช่วยเกษตรกรไทยก้าวไกล
แม้ว่าระบบเกษตรกรพันธสัญญา ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยมาแล้วกว่า 40 ปี และปัจจุบันมีเกษตรกรทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์อยู่ในระบบไม่น้อยกว่า 150,000-200,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งผูกพันอยู่กับบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมหลายสิบบริษัท น่าจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นระบบที่ประสบความสำเร็จในประเทศได้ แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ NGO และแม้แต่เกษตรกรเอง ยังมีมาโดยตลอดโดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเป็นธรรมของสัญญา ทำให้เกษตรกรตกเป็นเบี้ยล่าง แล้วทำไมเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จและร่ำรวยจากระบบนี้ยังมีเป็นจำนวนมาก...พวกเขาทำอย่างไรกัน?
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านข้อคิดเห็นของ นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ในระหว่างการลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และผลจากการทำเกษตรพันธสัญญา ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า เกษตรพันธสัญญา ถือเป็นรูปแบบการประกอบกิจการด้านการเกษตรรูปแบบใหม่ที่มีประโยชน์ ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร พัฒนาให้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น ถ้ามีการดำเนินงานที่ดี ก็จะนำไปสู่การกระจายรายได้แก่เกษตรกรมากยิ่งขึ้น ดังนั้นไม่ควรยกเลิกระบบเกษตรพันธสัญญา แต่ควรจะต้องมีการกำกับดูแลปรับปรุงให้เกิดความยุติธรรม และรูปแบบของเกษตรพันธสัญญามาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีบทบาททางการเกษตรในอนาคต เพราะเป็นระบบที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมหรือกำหนดทิศทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจจะกระต่อประเทศชาติได้
ก่อนหน้านี้ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็กล่าวกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ว่า การปฏิรูปภาคเกษตร ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่อยากทำให้เป็นเกษตรรูปแบบพันธสัญญา ให้มีสัญญาที่เป็นธรรม เพราะอยากจะเปลี่ยนชีวิตเกษตรกร ตามด้วยการมีประกันภัยภาคเกษตร ซึ่งแนวคิดนี้ สุดท้ายแล้วเกษตรกรต้องพึ่งบริษัทใหญ่เป็นพี่เลี้ยง ที่ใช้เทคโนโลยีเข้าควบคุมการผลิตและโรงงานทั้งหมด ซึ่งสิ่งสำคัญคือ สัญญาไม่เป็นธรรม ดังนั้นต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะทำให้อยู่ร่วมกันด้วยดี และกำลังคิดเรื่องนี้เพื่อออกกฏหมายเขียนลงในรัฐธรรมนูญ
เห็นได้ว่าทั้งนักกฎหมายและนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของเมืองไทย เห็นพ้องว่าระบบเกษตรพันธสัญญามีความสำคัญต่อการปฏิรูปและพัฒนาภาคการเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศ แต่จะต้องปรับแก้สัญญาให้มีความเป็นธรรมกับเกษตรกรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ส่วนตัวผู้เขียนเห็นด้วยว่า คอนแทรคฟาร์มเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งในด้านการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ ที่แต่เดิมนั้นรูปแบบดั้งเดิม สู่ระบบฟาร์มทันสมัยใช้เทคโนโลยี และการจัดการที่มีประสิทธิภาพ สู่ความสามารถในการแข่งขันทั้งในเรื่องต้นทุนการผลิต คุณภาพสินค้าและความปลอดภัยทางอาหาร
อย่างไรก็ตาม การเกษตรของไทยมีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่และมีความเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะด้านปศุสัตว์ที่มีการพัฒนาทั้งรูปแบบการเลี้ยง ระบบการจัดการที่เข้าสู่มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น แน่นอนการลงทุนต้องสูงขึ้นตามไปด้วย เกษตรกรที่ต้องลงทุนด้วยวงเงินสูงได้จำเป็นต้องมีหลักประกันที่มีมูลค่าน่าเชื่อถือเพื่อยืนยันความสามารถในการจ่ายหนี้ ซึ่งหลักประกันด้านตลาดและหลักประกันด้านราคาจะเป็นหลักประกันสำคัญเรื่องรายได้ของเกษตรกร
คอนแทรคฟาร์ม จึงถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมด้านการเกษตรอย่างหนึ่งที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ โดยการทำสัญญาซื้อล่วงหน้าให้กับเกษตรกร ด้วยการกำหนดราคาไว้ล่วงหน้าและมีการกำหนดว่าจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมด จึงกลายเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งของเกษตรกรว่ามีรายได้แน่นอน ทำให้กล้าที่จะลงทุน อีกหนึ่งข้อดีของระบบนี้ คือการช่วยลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร เนื่องจากมีหลักประกันที่ทำให้เขามั่นใจว่า เมื่อถึงเวลาแล้วจะสามารถขายสินค้าได้มีตลาดรองรับผลผลิตและราคาพบปะแน่นอน หรือมีกติกาเรื่องราคาที่ชัดเจน
จากเกษตรกรภายใต้เกษตรพันธสัญญาทั่วประเทศ 150,000-200,000 รายนั้น ในจำนวนนี้เป็นสัญญาในภาคปศุสัตว์ประมาณ 50,000 ราย ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ต้องเป็นคนในวงการจึงจะรับทราบข้อมูล ยกตัวอย่างบริษัทผู้ผลิตและส่งออกไก่ขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวน 35 บริษัท ที่เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออก ต่างมีบทบาทและดำเนินธุรกิจในระบบคอนแทรคฟาร์มกับเกษตรกร โดยแต่ละบริษัทจะมีการกำหนดรูปแบบสัญญาเป็นมาตรฐานของตัวเอง ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่จะวางมาตรฐานไว้สูง โดยให้ความสำคัญกับการกำกับการผลิตมาก เพราะต้องเข้มงวดและควบคุมเรื่องคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนความน่าเชื่อถือและภาพพจน์ของบริษัท
สำหรับ บริษัทขนาดใหญ่ที่ผู้เขียนเห็นออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับระบบเกษตรกรพันธสัญญา คือ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) ว่ามีจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการคอนแทรคฟาร์มจำนวน 5,000 ราย หรือประมาณ 10% ของจำนวนคอนแทรคฟาร์มภาคปศุสัตว์ทั่วประเทศ ที่น่าสนใจคือเกษตรกรที่ร่วมโครงการกับบริษัทนี้มากกว่า 10 ปี มีมากกว่า 50% ในกลุ่มนี้ยังรวมถึงเกษตรกรรุ่นแรกที่ทำสัญญากับบริษัทตั้งแต่บริษัทริเริ่มนำรูปแบบคอนแทรคฟาร์มมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2518 คำถามที่ตามทำไมเกษตรกรเหล่านี้จึงไม่หนีหายไปไหน อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขายังคงซื่อสัตย์และยอมรับข้อตกลงของสัญญามาเป็นระยะยาวนานเช่นนี้
สำหรับ ผู้เขียน การที่เราจะเลือกและยอมรับใครหรือสิ่งใด ความพึงพอใจและความมั่นใจจะเป็นตัววัดที่สำคัญและเป็นคำตอบ จากประสบการณ์การลงพื้นที่ พบว่าเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในโครงการคอนแทรคฟาร์มนั้น เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า มีวินัยในการทำงานและปฏิบัติตามคำแนะนำทางวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยีของผู้แทนบริษัทซึ่งทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ที่น่ายกย่องคือเกษตรกรจำนวนไม่น้อยนอกจากจะเพิ่มผลผลิตและคุณภาพได้มาตรฐานตามเป้าหมายแล้ว พวกเขายังสามารถพัฒนาต่อยอดสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเองและยังถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในละแวกเดียวกันด้วย
สิ่งที่เกษตรกรได้เรียนรู้นั้น ถูกนำไปถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นไปเพียงแต่ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรคอนแทรคฟาร์มให้ดีขึ้น ที่สำคัญรุ่นลูก-รุ่นหลานของพวกเขาได้รับการศึกษาที่ดีจากรายได้ที่มั่นคงของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้คนรุ่นลูกกลับไปสานต่อธุรกิจของครอบครัวและพร้อมจะพัฒนาปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค สู่การผลิตอย่างยั่งยืนต่อไป
บรรจบ สุขชาวไทย : [email protected]