WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ใต้เงา'ไม้เรียว' คสช. เร่งอธิบดี-ผู้ว่าฯ เบิกงบ- อัดฉีด'ศก.'


มติชนออนไลน์ :


      กรณีนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ส่งหนังสือถึงหัวหน้าทุกส่วนราชการ ซึ่งรวมถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดที่กำกับดูแลส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อกำชับให้ส่วนราชการ หน่วยงานอื่นของรัฐและผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งรัดการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่กำหนด

    และให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดนำผลการดำเนินงานไปใช้ประกอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับอธิบดีขึ้นไป

  ตามหนังสือดังกล่าว ได้กำชับให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เจ้าสังกัดกำกับดูแลหน่วยงานให้เดินตามแผนการเบิกจ่ายภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด โดยให้นำผลการดำเนินการในเรื่องนี้ไปใช้ประกอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับอธิบดีขึ้นไปด้วย 

     นอกจากนั้น การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

     โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการจัดทำสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2558 เพื่อเร่งรัดจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมาย และให้สำนักงบประมาณรวบรวมและรายงานผลให้ ครม.ทราบเป็นระยะ เพื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะได้ติดตามการดำเนินการต่อไป

      แสดงว่าการใช้จ่ายและเบิกงบประมาณของภาครัฐโดยเฉพาะงบด้านการลงทุนเพื่อหวังใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่มีความคืบหน้า จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องถือไม้เรียว หรือ คาดโทษ ลงไปในระดับหัวหน้าหน่วยราชการ 

     จากประเด็นดังกล่าว จึงได้สอบถามไปยังหัวหน้าหน่วยราชการถึงปัญหาในการเบิกจ่ายงบประมาณ โดย "นายชูศักดิ์ เกวี" อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) มองว่า ปัจจุบันกรมได้เบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ไปแล้ว 26.30% คิดเป็นวงเงิน 14,767.93 ล้านบาท จากงบประมาณการลงทุนที่ได้รับ 56,161.54 ล้านบาท ถือว่าสามารถเบิกจ่ายได้เร็วและสูงกว่าที่กรมคาดการณ์ไว้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่เบิกจ่ายได้เพียง 10% โดยคาดว่าสิ้นเดือนมีนาคมนี้ จะสามารถเบิกจ่ายได้ถึง 30% และเพิ่มเป็น 40% ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2558 เพราะจะเริ่มดำเนินการโครงการต่างๆ มากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการลงทุน อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้งปีจะสามารถเบิกจ่ายได้ในระดับ 85-90% สูงกว่าปีงบประมาณ 2557 ที่เบิกจ่ายได้ประมาณ 80%

     "กระบวนการเบิกจ่ายของกรม ถือว่าอยู่ในระดับดี เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเห็นการเบิกจ่าย เพื่อการลงทุน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้น" นายชูศักดิ์ระบุ 

     ขณะที่ "นายนเร เหล่าวิชยา" รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บอกว่า กรณีที่กระทรวงติดอันดับการเบิกจ่ายน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับหน่วยงานอื่นนั้นยังไม่สามารถพูดอะไรได้ ต้องขอดูรายละเอียดก่อน เพราะยังไม่เห็นเอกสาร จึงยังไม่ขอแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว 

     ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามกระทรวง พบว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นลำดับแรกที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณน้อยที่สุด ในส่วนรายจ่ายประจำ เบิกจ่ายได้เพียง 1,834.59 ล้านบาท คิดเป็น 36.02% จากงบประมาณ 5,093.08 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายลงทุน 255 ล้านบาท คิดเป็น 8.99% ของงบประมาณที่ได้รับ 2,838 ล้านบาท 

     ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ.และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.ได้กำชับให้ สป.สธ.เบิกจ่ายงบประมาณทั้งหมดภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ซึ่ง สป.สธ.ได้จัดทำแผนการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณส่งไปยังสำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้ว และกำลังเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ 

     "การเบิกจ่ายของ สป.สธ. คาดว่าเกือบทั้งหมดจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคมนี้ แต่มีส่วนของโครงการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างและอาคารต่างๆ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ และต้องขอขยายระยะเวลาออกไปในเดือนเมษายนนี้ เนื่องจากยังไม่ได้ผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการ และบางโครงการเปิดให้ยื่นซองประมูลแล้ว แต่ไม่มีภาคเอกชนเข้ายื่นซองประมูล ส่งผลให้ต้องเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง คาดว่าน่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในเดือนเมษายน

      เมื่อสอบถามไปยังหัวหน้าหน่วยราชการระดับจังหวัด คือ ผู้ว่าราชการนั้น "นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์" ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 อย่างเต็มที่ โดยได้มอบหมายให้นายนาวิน สินธุสอาด นายชนะ แพ่งพิบูลย์ นายศภุชัย เอี่ยมสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ติดตามเร่งรัดเบิกจ่าย ใช้งบประมาณ 3 โซน คือ โซนเหนือ โซนกลาง โซนใต้ รวม 25 อำเภอ พร้อมทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้ได้ 92% และเบิกจ่ายไม่น้อยกว่า 50 % ภายในมีนาคมนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นและรากหญ้า 

     จังหวัดเชียงใหม่ได้รับงบพัฒนาตามยุทธศาสตร์จังหวัดรวม 300 ล้านบาท ท้องถิ่นอีก 200 ล้านบาท รวม 500 ล้านบาท ไม่รวมงบส่งเสริมอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ 40 ตำบล ตำบลละ 1-2 ล้านบาท 

     ส่วนงบพัฒนาจังหวัดที่ผ่านกระทรวง ทบวง กรม อีก 10,000 ล้านบาท แต่การจัดสรรงบ เพิ่งส่งมาให้จังหวัดไม่นานมานี้ ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า 

     แม้เชียงใหม่ จะเบิกจ่ายงบสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ แต่ยังต่ำกว่าเป้า 20% เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาหมอกควันฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ทำให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ต้องเสียเวลาจัดการแก้ปัญหาการเบิกจ่ายงบต้องล่าช้าตามไปอีก 

     "นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องสำนักงบประมาณ ดึงอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ที่อนุมัติเปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงการ กลับไปที่ส่วนกลาง ทำให้การอนุมัติล่าช้า ซึ่งสำนักงบประมาณ เพิ่งคืนอำนาจให้ผู้ว่าฯ ดูแลสั่งการ และใช้อำนาจตามเดิมไม่กี่วันมานี้ ซึ่งทำให้การเบิกจ่ายคล่องตัวขึ้น" นายสุริยะกล่าวว่า 

      "นายศิริพัฒ พัฒกุล" รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ชี้แจงว่า ในส่วนของจังหวัดขณะนี้ได้ดำเนินการตรงเป้าเรียบร้อยแล้ว มีการประชุมกันทุกสัปดาห์ งบใดซ้ำซ้อนจะตัดออกหมดทุกงบ เพื่อดูแลงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าและให้เกิดการพัฒนามากที่สุด

      การประชุมแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นงบลงทุน งบพัฒนา หรืองบยุทธศาสตร์ ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานั้นการจ่ายงบลงทุนในงวดแรกยังไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นงบก้อนแรกที่ได้มีการเบิกจ่ายเงินน้อยมาก งานจึงเดินไปอย่างสะดวก มีเพียงบางโครงการของงบท้องถิ่น อาทิ งบการก่อสร้างสนามกีฬา ของบาง อบต. ต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่ หรือบางโครงการก่อสร้างในการเสนอแผนลืมประเมินการถมที่ เนื่องจากสภาพความเป็นจริงการก่อสร้างจะต้องมีการถมพื้นที่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ต่ำไม่สามารถก่อสร้างได้ จึงต้องมีการแก้แผนใหม่ให้แล้วเสร็จ ขณะนี้เรื่องได้ส่งผ่านไปยังกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาแล้ว ดังนั้นทางจังหวัดจึงจำเป็นต้องตรวจเข้มโครงการเหล่านี้ 

      โดยสรุปภาพรวมของจังหวัดเป็นไปตามเป้า ไม่น่าห่วงแต่อย่างใด ทั้งนี้การทำแผนของบไปยังส่วนกลาง ที่จะต้องผ่านหลายหน่วยงานหลายองค์กร กว่าจะไปกว่าจะกลับต้องตรวจทานกันหลายรอบ เมื่อแผนโครงการหลักไม่ผ่าน แผนสำรองก็ต้องส่งเข้าไปแทนจึงทำให้โครงการบางโครงการต้องชะงัก ไม่เหมือนงบลงทุนที่ต้องผ่านส่วนท้องถิ่นไม่ต้องผ่านขั้นตอนมาก ผู้บริหารท้องถิ่นนำลงมาดำเนินการได้ แต่ส่วนจังหวัดที่ส่งมายังผู้ว่าจะต้องมีคณะกรรมการหลายหน่วยงานต้องตรวจสอบ จึงทำให้ล่าช้า

      "ในปีนี้ ทางจังหวัดได้ทำการตรวจสอบงบทุกกระทรวงอย่างเข้มงวด และจะตรวจทุกขั้นตอนของแผนไม่ให้พลาด เพราะเมื่อมีข้อบกพร่องแล้วกว่าจะผ่านไปผ่านมามันช้าอาจจะไม่ทันการ สำหรับปีนี้ผ่านไปได้เกินกว่าเป้าที่วางไว้และมั่นใจว่าโครงการจะเดินไปได้ตามแผนอย่างแน่นอน" นายศิริพัฒระบุ 

     เหล่านี้ คือ คำชี้แจงบางส่วนของหัวหน้าหน่วยราชการ หลังจากรัฐบาลเงื้อไม้เรียว จ่อฟาดหากไม่ปฏิบัติให้เข้าเป้า

     ใครจะเป็นเหยื่อไม้เรียวรัฐบาล คสช.รายแรก ต้องลุ้น!....

เจอแล้วหน่วยงานอั้น ยังไม่เบิกจ่ายงบฯ ปี 58 แม้แต่บาทเดียว

มติชนออนไลน์ : วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 10:45:46 น

     รายงาน ข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกรณีนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งหนังสือถึงหัวหน้าทุกส่วนราชการ รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดกำกับดูแลส่วนราชการและรัฐ วิสาหกิจต่างๆ เพื่อกำชับให้ส่วนราชการ หน่วยงานอื่นของรัฐ และผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พบว่า

    การเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี 2558 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณวันที่ 1 ตุลาคม 2557-13 มีนาคม 2558 กรมบัญชีกลางได้รายงานว่า หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณรายจ่ายลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ต่ำที่สุด 10 อันดับ คือ อันดับที่ 1 กรมประชาสัมพันธ์ ยังไม่ได้มีการเบิกจ่ายแม้แต่บาทเดียว จากงบลงทุนที่ได้รับจัดสรร 1,169 ล้านบาท

                2.กรมการท่องเที่ยว เบิกจ่าย 6 หมื่นบาท คิดเป็น 0.05% จากงบลงทุนที่ได้รับจัดสรร 1,384 ล้านบาท

                3.สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เบิกจ่าย 8.34 ล้านบาท คิดเป็น 0.33% จากงบลงทุนที่ได้รับจัดสรร 2,533 ล้านบาท

                4.กรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย เบิกจ่าย 52 ล้านบาท หรือ 1.40% จากงบลงทุนที่ได้รับ 3,765 ล้านบาท

                5.กรมที่ดินเบิกจ่าย 74 ล้านบาท คิดเป็น 4.16% จากงบลงทุนที่ได้รับ 1,798 ล้านบาท

                6.กรมการปกครองเบิกจ่าย 94 ล้านบาท คิดเป็น 7.86% จากงบลงทุนที่ได้รับ 1,204 ล้านบาท

                7.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เบิกจ่าย 586 ล้านบาท คิดเป็น 8.53% จากงบลงทุนที่ได้รับ 6,868 ล้านบาท

                8.กรมราชทัณฑ์เบิกจ่าย 122 ล้านบาท คิดเป็น 8.61% จากงบประมาณที่ได้รับ 1,423 ล้านบาท

                9.กรมเจ้าท่า เบิกจ่าย 337 ล้านบาท คิดเป็น 8.86% จากงบประมาณที่ได้รับ 3,813 ล้านบาท

                10.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเบิกจ่าย 1,578 ล้านบาท คิดเป็น 9.71% จากงบประมาณที่ได้รับ 16,253 ล้านบาท

                ทั้งนี้ หน่วยงานที่เบิกจ่ายงบลงทุนได้สูงที่สุดคือ มหาวิทยาลัยมหิดล เบิกจ่ายได้ถึง 78.86% รองลงมาคือ ศาลยุติธรรมเบิกจ่ายได้ 69.10% สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 54.90% กองบัญชาการกองทัพไทย เบิกจ่าย 51.08% กรมพัฒนาที่ดิน 36.35% กรมชลประธาน 35.53% และกรมทางหลวงชนบท 33.09%

                การจัดอันดับกระทรวงที่เบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมต่ำกว่า 10 อันดับแรก พบว่ากระทรวงที่เบิกจ่ายได้ต่ำสุดคือ

                1.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเบิกจ่าย 2,089 ล้านบาท คิดเป็น 26.35% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับกว่า 7,931 ล้านบาท

                2.กระทรวงคมนาคมเบิกจ่าย 32,140 ล้านบาท คิดเป็น 29.03% จากงบประมาณ 110,722 ล้านบาท

                 3.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเบิกจ่าย 10,581 ล้านบาท คิดเป็น 34.99% จากงบประมาณ 30,245 ล้านบาท

                4.กระทรวงอุตสาหกรรมเบิกจ่าย 2,057 ล้านบาท คิดเป็น 35.13% จากงบประมาณ 5,856 ล้านบาท

                5.กระทรวงกลาโหมเบิกจ่าย 70,541 ล้านบาท คิดเป็น 36.56% จากงบประมาณ 192,949 ล้านบาท

                6.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เบิกจ่าย 30,251 ล้านบาท คิดเป็น 37.35% จากงบประมาณ 80,999 ล้านบาท

                7.กระทรวงวัฒนธรรมเบิกจ่าย 2,692 ล้านบาท คิดเป็น 38.20% จากงบประมาณ 7,047 ล้านบาท

                8.กระทรวงสาธารณสุขเบิกจ่าย 43,593 ล้านบาท คิดเป็น 39.75% จากงบประมาณ 109,658 ล้านบาท

                9.ส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเบิกจ่ายได้ 47,579 ล้านบาท คิดเป็น 39.80% จากงบประมาณ 119,538 ล้านบาท

                10.กระทรวงพลังงานเบิกจ่าย 793 ล้านบาท คิดเป็น 40.13% จากงบประมาณ 1,976 ล้านบาท

                ในส่วนของกระทรวงที่เบิกจ่ายงบสูงๆ อาทิ หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญมีการเบิกจ่ายไปถึง 74% กระทรวงแรงงานเบิกจ่ายไปถึง 63.07% กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเบิกจ่าย 60.93% กระทรวงมหาดไทยเบิกจ่าย 49.26% กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเบิกจ่าย 46.51% กระทรวงพาณิชย์เบิกจ่ายไปได้ 46.34% และสำนักนายกรัฐมนตรีเบิกจ่าย 45.31% 

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!