- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Sunday, 08 March 2015 22:54
- Hits: 3384
คณบดีเศรษฐศาสตร์ เห็นด้วยบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
หลังจากเมื่อวันที่ 2 มี.ค. นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการแนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้ายเจ้าของรัฐวิสาหกิจในลักษณะรวมศูนย์ โดยแบ่งองค์กรเจ้าของรัฐวิสาหกิจเป็น 2 หน่วยงาน คือ 1.บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ 2.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นต่อแนวทางการจัดตั้ง บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติขึ้นมาเป็นโฮลดิ้ง ทำหน้าที่เป็นเจ้าของบริหารงานและถือหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ว่า เป็นนโยบายที่น่าจะทำให้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจดีขึ้น ลดการแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ในทางที่มิชอบหรือเบี่ยงเบนไปจากพันธกิจหลักขององค์กรนั้นๆ ลดสภาวะการเป็นองค์กรเพื่อพนักงานและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ มาเป็นองค์กร เพื่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียมากขึ้น ซึ่ง หมายถึงกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น ประเทศชาติ ประชาชน เอกชน รัฐวิสาหกิจจะถูกตรวจสอบเพื่อให้การบริหารงานมีความโปร่งใสมากขึ้น
หากบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยลดภาระทางการคลังและบริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น รัฐวิสาหกิจสามารถมีเงินทุนในการลงทุนโครงการต่างๆได้ด้วยตัวเอง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องค้ำประกันเงินกู้หรือกู้เงินให้ อย่างไรก็ตาม การใช้บริษัทโฮลดิ้งมาถือหุ้นรัฐวิสาหกิจถือว่าเป็นการแปรรูปอย่างหนึ่ง เนื่องจากบรรษัทแห่งชาติจะเข้ามาถือหุ้นแทนกระทรวงการคลัง แม้นกระทรวงการคลังถือหุ้นในบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ แต่กรรมการบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติและผู้บริหารไม่ใช่ข้าราชการ การแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจทางการเมืองจะลดลง โดยกรรมการและผู้บริหารต้องเป็นนักบริหารมืออาชีพและโปร่งใส หากสามารถสรรหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีธรรมาภิบาลโปร่งใสมาบริหารได้ จึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐวิสาหกิจในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ประสบการขาดทุนอย่างมาก มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้
อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า บรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาตินี้สามารถเข้าไปถือหุ้น รัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่ได้แปลงสภาพด้วยกระบวนการ Corporatization (โดยหลายรัฐบาลที่ผ่านมา) การดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปโดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจไทยต้องดำเนินงานให้สามารถตอบสนองต่อพันธกิจและเป้าหมายของรัฐอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การบริหารรัฐวิสาหกิจของไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง และให้การดำเนินงานขององค์กรรัฐวิสาหกิจสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการกำกับดูแลและบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจเสียใหม่ เพื่อให้องค์กรรัฐวิสาหกิจสามารถให้บริการที่ได้มาตรฐาน แข่งขันได้และตอบสนองกับความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี ส่วนรัฐวิสาหกิจไหนที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ขาดทุนจำนวนมากจากความไร้ประสิทธิภาพและการทุจริตคอร์รัปชัน และเอกชนสามารถดำเนินการผลิตสินค้าหรือให้บริการได้ดีกว่ามากและไม่มีความจำเป็น
ในการดำรงอยู่ของรัฐวิสาหกิจแห่งนั้น ก็ควรยุบรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นเพื่อประโยชน์ของประเทศโดยรวมแต่รัฐบาลต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบจากการยุบหน่วยงานโดยเฉพาะบรรดาพนักงานทั้งหลาย นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีการทำงานซ้ำซ้อนกันมาก ควรมีการควบรวมกิจการกันโดยใช้กลไกบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติดำเนินการได้ เช่น องค์กรเกี่ยวกับยางพาราสามแห่งสามารถควบรวมกิจการกันได้ องค์กรเกี่ยวกับให้บริการโทรคมนาคมสองแห่งสามารถควบรวมกิจการกันได้ องค์กรเกี่ยวกับการผลิตไพ่ (ซึ่งรัฐไม่จำเป็นต้องทำแล้ว) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาด้วยเหตุผลทางการเมืองในอดีต แต่ในปัจจุบันไม่มีเหตุผลในการดำรงอยู่เพื่อดำเนินพันธกิจแล้ว เพราะเอกชนสามารถทำได้ดีกว่ามากและสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆเปลี่ยนไป
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต วิเคราะห์ถึงเศรษฐกิจไทยตอนนี้ด้วยว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้มีลักษณะซึมตัวลงแต่ไม่ใช่ภาวะชะงักงัน (Stagnation) ไม่ได้กระเตื้องดีขึ้นอย่างที่คาดไว้ จำเป็นต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ส่วนผลของการลดดอกเบี้ยอาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากจากหนี้ครัวเรือนสูง ปัญหาความเชื่อมั่นทำให้การลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาคเอกชนไม่เดินหน้าเต็มที่ สร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองด้วยการร่างรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักการประชาธิปไตย ทางด้านส่งออกคาดการณ์ว่าไตรมาสแรกน่าจะติดลบแต่ทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 2-3% ตนจะติดตามภาวะเศรษฐกิจไปอีกระยะหนึ่งแล้วจะปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ใหม่ โดยเฉพาะต้องรอดูปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอนสูง การเติบโตส่งออก การลงทุนต่ำกว่าคาด ส่วนการบริโภคกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เงินเฟ้อน่าจะขยายตัวไม่ถึง 1% ในปีนี้ โดยคาดว่าในไตรมาสแรกอัตราเงินเฟ้อน่าจะติดลบ (ไม่ต่ำกว่า-0.5%) แต่ยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืดเพราะปัจจัยหลักของการติดลบเป็นเรื่องต้นทุนการผลิตลดลงจากราคาน้ำมันมากกว่าการชะลอตัวลงของกำลังซื้อหรืออุปสงค์ภายใน เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มยังเก็บได้เพิ่มขึ้นอยู่