WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

CPF12

ไก่ไทยกินได้ปลอดภัย....ไม่มีสารเร่งโต

โดย รศ.ดร.ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

     ปัจจุบันกระแส 'รักสุขภาพ'ได้รับความนิยมสูงมาก ผู้บริโภคคำนึงถึงอาหารปลอดภัยและเพื่อสุขภาพ (Safety and Healthy Food)กันอย่างจริงจังและสนใจศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะจากสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงได้ง่ายและกระจายได้เร็ว ขณะที่ข้อมูลก็มีทั้งดีและร้าย เช่น ข่าวเรื่องเด็กกินไก่แล้วโตเร็ว เป็นสาวเร็ว หรือหน้าอกใหญ่ จนทำให้บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองสงสัยว่า “การเลี้ยงไก่ใช้ฮอร์โมนเร่งโตจนทำให้เด็กๆเป็นหนุ่ม-สาวเร็วหรือไม่?”และอีกหลายๆคนก็เชื่อไปแล้วว่าไก่ไทยถูกเลี้ยงด้วยฮอร์โมนเร่งโต ในฐานะที่เป็นอาจารย์และนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวงการปศุสัตว์จึงอยากให้ข้อมูลของการผลิตไก่ไทยที่เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงสำหรับผู้บริโภค ดังนี้ครับ

      ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับ 4 ของโลก เราส่งออกเนื้อไก่ไปญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (อียู)เป็นส่วนใหญ่ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ระบุว่าปี 2557 ไทยส่งออกไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ถึงปีละ 560,000 ตัน มีมูลค่าสูงถึง 78,000 ล้านบาท มีตลาดสำคัญ คือ อียู (นำเข้า 270,000 ตัน) และญี่ปุ่น (นำเข้า 240,000 ตัน) รวมทั้งตลาดอื่นๆ คือ สิงคโปร์ เกาหลี ตะวันออกกลาง และแคนาดา โดยมาตรฐานของอาหารที่จำหน่ายในกลุ่มประเทศเหล่านี้สูงมากซึ่งข้อกำหนดหรือมาตรฐานการเลี้ยงของประเทศผู้ผลิตต้องสูงเช่นกัน เช่น การห้ามให้สารเร่งการเจริญเติบโตในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมน สารเคมีต่างๆ หรือแม้แต่ยาปฏิชีวนะ ยิ่งไปกว่านั้นบางประเทศยังห้ามใช้ปลาป่นเป็นส่วนประกอบของสูตรอาหารเพราะเกรงจะมีเชื้อโรคบางชนิดปะปน มีการตรวจสอบย้อนกลับในทุกๆขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร พันธุ์ และการเลี้ยง จึงสรุปได้ว่าเนื้อไก่ที่ผลิตและส่งออกมีมาตรฐานสูงมากจนเป็นไปไม่ได้เลยว่ามีการใช้สารเร่งการเจริญเติบโตต่างๆในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไทย

    บางคนอาจตั้งคำถามอีกว่า “มาตรฐานการผลิตเพื่อการส่งออกและเพื่อบริโภคในประเทศต่างกันหรือไม่?” ในแง่การผลิตไม่ว่าจะเป็นอาหาร การจัดการ การชำแหละ หากจะแยกเป็น 2 มาตรฐานในการดำเนินการแล้วนับว่ายุ่งยากและไม่คุ้มค่า ที่สำคัญกรมปศุสัตว์เองก็มีข้อกำหนดที่มีมาตรฐานระดับเดียวกับต่างประเทศเพื่อควบคุมการผลิตให้ได้มาตรฐาน ดังนั้นในเชิงกฎหมาย วิชาการ และการผลิตแล้ว เนื้อไก่บริโภคในประเทศจึงมีมาตรฐานเดียวกับที่ส่งออกต่างประเทศ

   อย่างไรก็ตามอาจมีคำถามตามมาว่า “ทำไมเดี๋ยวนี้ไก่ถึงโตเร็วนัก ?” คำตอบอยู่ที่การพัฒนาขององค์ความรู้ด้าน พันธุ์ อาหาร และการจัดการ หลายๆท่านอาจยังไม่ทราบถึงการพัฒนาองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การเลี้ยงสัตว์ว่าไปไกลขนาดไหน ผมขอเล่าสั้นๆดังนี้ครับ 1) การพัฒนาสายพันธุ์ไก่เกิดขึ้นตลอดเวลา (ไม่ใช่ตัดต่อพันธุกรรม) โดยเฉลี่ยพันธุกรรมไก่เนื้อจะโตเร็วขึ้น 50 กรัมทุกๆปี แปลว่า ไก่ที่เลี้ยงปีนี้จะโตกว่าที่เลี้ยงเมื่อ 10 ก่อน 500 กรัม หากเลี้ยงด้วยอาหารและการจัดการเดียวกัน 2) อาหารไก่ถูกพัฒนาไประดับโมเลกุล กรดอะมิโนหรือพลังงานงานที่กินถูกให้ตรงตามพันธุกรรมมีการคำนวณโภชนะทุกชนิดให้กับไก่อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะโรงงานอาหารสัตว์ที่ทันสมัยควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำการผสม อัดเม็ด หรือทำให้อาหารสุกอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3) การจัดการที่เน้นความสะอาด ปลอดภัย ควบคุมอุณหภูมิ แสง และความชื้นตลอดเวลาโดยระบบอัตโนมัติเพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนสัตว์และการแพร่ระบาดของเชื้อโรค การเลี้ยงที่มีสัดส่วนพื้นที่ต่อตัวให้เหมาะสมไม่หนาแน่นจนเกินไป (ยึดหลักสวัสดิภาพสัตว์) การพัฒนาองค์ความรู้ทั้ง 3 ทำให้จากที่เคยเลี้ยงไก่ 42 วัน ได้น้ำหนัก  2 กิโลกรัม เป็น 2.6 กิโลกรัม ใช้เวลาเพียง37-38 วัน เท่านั้น

    จากที่กล่าวมา ด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหรือของไทยเอง และเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่ที่ก้าวหน้ามากจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่อุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไทยจะใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโต ประกอบกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศห้ามใช้ยาเฮ็กโซเอสตรอล (Hexoestrol) ซึ่งเป็นยาที่ใช้สำหรับตอนสัตว์ปีกและเป็นฮอร์โมนสำหรับรักษาสัตว์ โดยมีคำสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาที่มีเฮ็กโซเอสตรอลไม่ให้จำหน่ายในประเทศไทยมาตั้งแต่มิถุนายน 2529 หรือนานเกือบ 30 ปีมาแล้วสอดคล้องกับ บทความเรื่อง “โรคเป็นสาวก่อนวัย...ภัยที่ไม่ควรมองข้าม” ของ ศ.นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา หัวหน้าหน่วยต่อมไร้ท่อและเมตาโบลิซึม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ย้ำชัดว่า ในทางปฏิบัติยังไม่เคยพิสูจน์ตรวจพบอาหารที่มีการปนเปื้อนฮอร์โมน

     ที่สำคัญไปกว่านี้ ด้วยกฎระเบียบที่จะเข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอาจห้ามใช้ยาปฏิชีวนะทุกชนิด (แม้แต่รักษา) หรือการห้ามทำวัคซีน (เพื่อป้องกันโรค) ก็ได้ ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์และนักสัตวบาลทั้งหลายกำลังพยายามหาวิธีเลี้ยงไก่ไม่ให้ป่วยเลย (ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะและวัคซีนไม่ตัดต่อพันธุกรรม) โดยยืนบนพื้นฐานการพัฒนาด้าน พันธุ์ อาหาร และการจัดการ ดังนั้น ประเด็นการใช้ฮอร์โมนในการเลี้ยงไก่จึงเป็นเรื่องล้าสมัยมากในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่และวิชาการ

      ขอให้ทุกท่านได้หายสงสัยในเรื่อง “ฮอร์โมน กับ การเลี้ยงไก่” ได้เลยครับ เพราะยังมีประเด็นอื่นๆที่ทันสมัยกว่าไว้คอยถกเถียงอีกต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!