- Details
-
Category: บทความทั่วไป
-
Published: Thursday, 12 February 2015 13:43
-
Hits: 5133
ถึงเวลายุติความเชื่อผิดๆ ของสัตว์ปีกไทย
โดย ศ.นสพ.ดร.จิโรจ ศศิปรียจันทร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อุตสาหกรรมสัตว์ปีกของประเทศไทย มีพัฒนาการและเติบโตมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อุตสาหกรรมไก่เนื้อ ที่สามารถส่งออกเป็นอันดับ 4 ของโลก การที่ประเทศใหญ่ๆ หลายๆประเทศในโลกไว้วางใจ และมีการนำเข้าไก่จากไทย นั่นหมายความว่า คุณภาพของเนื้อไก่จากบ้านเรา มีความปลอดภัยและมีมาตรฐานในระดับโลก
ไทยเรามีพัฒนาการความรู้ด้านระบบฟาร์มมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาสุขศาสตร์ การบริหารจัดการฟาร์ม การป้องกันโรค แต่ละมาตรฐานมีหน่วยงานของรัฐกำกับดูแล ซึ่งล้วนเป็นการช่วยลดความสูญเสียของเกษตรกรทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน ประชาชนชาวไทยก็จะได้อาหารโปรตีนคุณภาพไว้บริโภค เพราะมาตรฐานไก่ส่งออกหรือบริโภคในประเทศต่างก็ใช้กระบวนการผลิตในมาตรฐานเดียวกัน
เกษตรกรในระบบอุตสาหกรรม จะได้รับความรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นระบบประกันคุณภาพอย่างหนึ่ง โดยมีตลาดเป็นตัวบังคับ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องดูแลให้มันเป็นไปตามระบบ ให้มีการผลิตไก่ที่มีสุขภาพดี คุณภาพดี สูญเสียน้อย นั่นหมายถึง ต้องให้ความรู้แก่ เจ้าหน้าที่ทุกระดับตั้งแต่คนเลี้ยง สัตวบาล สัตวแพทย์ และฟาร์มมาตรฐานทุกฟาร์มจะต้องมี สัตวแพทย์ เป็นผู้ดูแล ด้านสุขภาพและควบคุมการให้ยา ข้อมูลต่างๆของไก่แต่ละรุ่นจะมีการบันทึกอย่างเป็นระบบและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
ด้วยความที่ประเทศไทยใช้ระบบฟาร์มมาตรฐานมาตั้งแต่ก่อนปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่มีไข้หวัดนกครั้งแรกในประเทศไทย ทำให้ประเทศเราไม่ได้เสียหายยับเยิน ในตอนนั้นแม้จะมีโรคระบาดในประเทศ แต่ไทยก็ยังขายไก่ปรุงสุกได้ และการที่เรากลับมายืนหยัดเป็นผู้ส่งออกอันดับ 4 ของโลกได้อีกครั้งในวันนี้ ก็เป็นผลพวงมาจากมาตรฐานการเลี้ยงที่ดีนั่นเอง
ทั้งๆ ที่ไก่ไทยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่ผู้เขียนซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการสัตว์ปีกมานานกว่า 30 ปี กลับได้ยินความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้หลายประเด็น หลายๆเรื่องเป็นแต่เพียงการกล่าวลอยๆ หรือบอกต่อๆกันมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ บิดเบือนความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่คนรุ่นหลังหรือเยาวชน ที่กำลังเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติเสียเปล่าๆ
ยกตัวอย่างเรื่องมาตรฐานการเลี้ยงไก่ ซึ่งต้องวัดกันที่อัตราความเสียหายที่ลดลงมาก เช่น ในอดีตเราเลี้ยงไก่หลังบ้าน 20 ตัว ตายไป 2 ตัว นี่ถือว่าเสียหายถึง 10% ขณะที่ปัจจุบันเลี้ยงไก่นับแสนนับล้านตัว จะมีอัตราเสียหายในเกณฑ์ปกติ 2-3% เท่านั้น นั่นหมายความไก่ในปัจจุบันมีสุขภาพแข็งแรง และเจริญเติบโตได้รวดเร็ว อันเนื่องมาจากพันธุกรรมที่ดี ควบคู่กับการเลี้ยงดูและการจัดการที่ดี
พอเห็นว่า ไก่แข็งแรงและเจริญเติบโตรวดเร็ว ก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาอีกว่า ระบบอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ในบ้านเราพึ่งพาสารเคมีสูง ประเด็นนี้ก็มีตรรกะการคิดง่ายๆเลยว่า การใส่อะไรเข้าไปในขั้นตอนการผลิต มันคือ “ต้นทุน” ใส่สารเคมีเข้าไปแล้วส่งขายไม่ได้ ประเทศคู่ค้าปฏิเสธการซื้อ แล้วจะใส่ไปเพื่ออะไร หรือถ้าเนื้อไก่มีพิษภัย หน่วยงานรัฐของไทย ทั้งสาธารณสุข ทั้งกรมปศุสัตว์ ก็ต้องออกมาจัดการทันที
คำว่า 'สารเคมี'ในที่นี้คงครอบคลุมถึงฮอร์โมนเร่งโตและยาปฏิชีวนะ นำไปสู่ข้อกล่าวหาที่ว่า ไก่เป็นสาเหตุเด็กโตเร็วและทำให้เกิดการดื้อยา ซึ่งจากตรรกะข้างต้น ผนวกกับประสบการณ์ ผู้เขียนกล้ายืนยันว่า 'ไม่ใช่!!'...
มันเป็นความเชื่อแต่ครั้งโบราณ เพราะในอดีต ยุโรปและอเมริกาสามารถใช้ฮอร์โมนเร่งให้ไก่อ้วนตัวโตได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ต่อมาก็มีการประกาศห้ามใช้เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาแล้ว ที่สำคัญ วิธีการใช้ฮอร์โมนนั้น ต้องจับไก่ทีละตัวไปฝังฮอร์โมน ถ้าเลี้ยงน้อยๆสัก 2 หมื่นตัว กี่วันจึงจะแล้วเสร็จ? วันนี้ประเทศเราผลิตไก่ราวๆสัปดาห์ละ 30 ล้านตัว มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้เลยที่จะนำไก่ทีละตัวมาฝังฮอร์โมน อีกประการหนึ่งคือ นอกจากจะผิดกฎหมาย เสี่ยงถูกดำเนินคดีแล้ว ฮอร์โมนที่ต้องลักลอบใช้เช่นนี้ย่อมมีราคาแพง ทำให้ต้นทุนสูง จึงไม่มีผู้ประกอบการใดเขาทำกัน เพราะมันไม่คุ้มค่าเลย
'ความเชื่อในประเด็นนี้จึงควรยุติได้แล้ว ทั้งเรื่องสารเคมี ฮอร์โมนเร่งโต หรือ ยาปฏิชีวนะ'