- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Wednesday, 12 November 2014 21:55
- Hits: 4278
กฎหมายเอื้อแต่นายทุนรายใหญ่-แผนงานช่วย SME ล้มเหลว
แนวหน้า : กฎหมายเอื้อแต่นายทุนรายใหญ่-แผนงานช่วย SME ล้มเหลว จวกนโยบายรัฐต้นตอ‘เหลื่อมล้ำ’
นักวิชาการจวกนโยบายรัฐกลางเวทีเสวนาใหญ่ประจำปีธรรมศาสตร์ อัดรัฐบาลบริหารผิดพลาด สร้างความเหลื่อมล้ำให้สังคมไทยสูงขึ้น ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ได้รับความช่วยเหลือ หน่วยงานรัฐทำงานไปคนละทาง ขณะที่กฎหมายทางการค้าก็เอื้อแต่นายทุนรายใหญ่ จี้เร่งภาษีที่ดิน และเก็บในอัตราสูง ดัดหลังพวกเศรษฐีนักเก็งกำไร
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2558 สมาคมเศรษฐกิจศาสตร์ธรรมศาสตร์ ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจไทย หัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำปัจจุบันเกิดจากความล้มเหลวของการกำกับดูแลของรัฐที่เน้นความมั่นคงมากเกินไปมากกว่าเพิ่มประสิทธิภาพ มีข้อจำกัดของนโยบายการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ซึ่งมองว่าในปัจจุบันรัฐช่วยในด้านนโยบายให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเท่านั้น แต่ยังขาดยุทธศาสตร์และแผนธุรกิจ
นอกจากนี้ การช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีของภาครัฐยังไม่มีความร่วมมือกันในการให้ความช่วยเหลือ โดยยังกระจัดกระจาย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเงินทุนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) หรือการสนับสนุนการลงทุนอย่างบีโอไอ หรือการช่วยเหลือทางด้านแรงงาน ส่งเสริมอาชีพของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และรัฐให้ทุนแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีมากไป แต่ยังไม่ครบวงจร ทำให้การแก้ไขเกิดความล้มเหลว เกิดความเหลื่อมล้ำกันทางธุรกิจขนาดเล็กก็เล็กลง ธุรกิจขนาดใหญ่ก็เล็กลงเมื่อเทียบกับการแข่งขันจากต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำยังเกิดจากความล้มเหลวของการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า โดยรายได้ภาคธุรกิจไทยมีแนวโน้มกระจุกตัวมากขึ้น คนรวยขยายขึ้นแต่คนจนก็กลับน้อยลง เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าบริษัทขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง และบริษัทขนาดใหญ่หลายรายมีข้อได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจากปัจจุบันเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจผูกขาดตามกฎหมายซึ่งมีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ในไทยยังไม่เกิดประสิทธิภาพจากองค์กร เพราะอยู่ที่กติกาของรัฐมากกว่าอยู่ในกลไกของตลาด ส่งผลใหไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
ด้านนางปัทมาวดี โพชนุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความล้มเหลวของรัฐ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จากโครงการภาครัฐที่มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินที่อยู่อาศัยของประชาชน แต่หลังจากที่รัฐบาลเตรียมออกกฎหมายภาษีที่ดิน มองว่าเป็นเรื่องที่ประเทศไทยควรมีเพื่อลดปัญหาการเหลื่อมล้ำ เพราะคนที่มีอำนาจซื้อชอบซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร ปล่อยให้เช่าที่ โดยบางที่ดินปล่อยให้รกร้างไม่เกิดประโยชน์
อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ดินอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่หากเก็บในอัตราต่ำก็อาจจะไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะผู้มีอำนาจซื้อมากก็จะมีกำลังในการซื้ออยู่ดี ดังนั้น ทางรัฐบาลควรพิจารณาถึงอัตราการเก็บและพิจารณาถึงผลลัพธ์หลังจากออกกฎหมายดังกล่าวด้วย
นอกจากภาษีที่ดินแล้ว อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงวิธีอื่นเพื่อจัดสรรที่ดินให้เกิดประโยชน์ เช่น การจัดตั้งกองทุนที่ดิน โดยเกิดจากทางองค์การบริหารส่วนตำบล กับทางชุมชนในพื้นที่ เพื่อซื้อที่ดินเพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ที่ไม่มีที่ทำกิน และให้ร่วมกันสร้างประโยชน์จากที่ดินนั้นคืนเป็นกำไรให้กองทุนอีกที เพื่อสร้างความเข้มแข็งอีกด้วย
ด้านนายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีตศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำศึกษาเกิดจากครู ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณเกี่ยวกับการศึกษาไป 25% แต่การศึกษากลับอยู่ในกลุ่มต่ำสุดของโลก เนื่องจากที่ผ่านมามีการจัดฝึกอบรมพิเศษให้กับครูเพิ่มเติม แต่ไม่ได้นำไปใช้ในการเรียนการสอนของนักเรียน ซึ่งมองว่าควรแก้ไขให้มีการปฏิรูปคุณภาพของการเรียนการสอนในชั้นเรียน เพิ่มศักยภาพนักเรียน ไม่ใช่แค่เพิ่มศักยภาพครู เพราะปัจจุบันเมื่อเทียบผลการเรียนกับการศึกษาแล้วถือว่าระดับชั้นมัธยมต่ำกว่ามาตรฐานกว่าระดับชั้นประถม
ด้านนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวในงานเสวนา'กับดัก : ค่านิยม คุณธรรม คอร์รัปชั่น'ว่าหนทางที่จะแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นได้นั้น กุญแจสำคัญคือประชาชน โดยภาครัฐต้องจัดระบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมทำให้เกิดกระบวนการทุกอย่างเกิดความโปร่งใส และต้องกระทำอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ประชาชนก็ต้องมีความตื่นตัวและมีจิตสำนึกร่วมกันว่าการโกงและทุจริตเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลยุทธ์ของคอร์รัปชั่นนั้น เป็นการทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้รับผลประโยชน์เพียงสั้นๆ แล้วกระจายภาระหรือหนี้สินไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งจากการลงทุนของภาครัฐ และการแจกจ่ายเงินให้ลงทุน แล้วสร้างกำไรที่เกิดจากความได้เปรียบดังกล่าว เมื่อนานเข้าก็กระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน ทำให้เกิดการชะลอตัว วิธีแก้ปัญหานั้นต้องลดทอนอำนาจและบทบาทของรัฐลง โดยสถาบันต่างๆ ในประเทศทั้งเอกชนและประชาชนต้องร่วมมือกัน เพื่อทำให้สังคมประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้