สถานการณ์เศรษฐกิจที่ขยายตัวระดับต่ำในปีนี้ ทำให้หลายคนกังวลว่าภาวะเช่นนี้จะต่อเนื่องไปถึงปีหน้าหรือไม่? จากการประมวลข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจของสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยสถาบันทางเศรษฐกิจในทั้งไทยและต่างประเทศได้ประมาณการไว้ที่ร้อยละ 3.5-4.8 เร่งขึ้นจากปี 2557 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0-1.7 เนื่องจากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการขยายตัวของการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐเป็นหลัก รวมทั้งหวังว่าการท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การบริโภคจะขยายตัวไม่มาก จากข้อจำกัดเรื่องรายได้เกษตรกรที่ยังหดตัวตามราคาสินค้าเกษตรที่ต่ำและหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ในขณะที่การส่งออกฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกแต่ไม่สูงมากเหมือนในระยะที่ผ่านมา เนื่องจากการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า
อย่างไรก็ดี เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังแข็งแกร่ง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี 2557 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ระดับร้อยละ 0.5-3.0 และอัตราว่างงานล่าสุดในเดือน ก.ย.2557 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 14.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯคิดเป็นร้อยละ 3.6 ต่อ GDP ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ที่ 188.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
หากดูข้อมูลการขยายตัวเศรษฐกิจในระดับโลก จะพบว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน โดย IMF ประมาณการว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2558 เร่งขึ้นจากปีนี้ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวร้อยละ 2.3 ขณะที่ประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนาจะขยายตัวร้อยละ 5.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 และ 4.4 ในปีนี้ตามลำดับ อย่างไรการประมาณการเหล่านี้เป็นระดับสูงสุด ทั้งนี้ยังไม่นับรวมผลจากความเสี่ยงจากสถานการณ์การเมือง และเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้การขยายตัวชะลอลงทั้งเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว
ในส่วนของการค้าสินค้าโลก ในปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 4.0 เร่งขึ้นจากปี 2557 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 การขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกครั้งนี้เริ่มต้นจากประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่เอเชียยังขยายตัวต่อเนื่อง
เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง จากการจ้างงานที่ปรับดีขึ้นส่งผลต่อการใช้จ่ายภาคเอกชน และคาดว่าจะยุติมาตรการ QE ในเดือนนี้ เศรษฐกิจยุโรป ขยายตัวในระดับต่ำและเงินเฟ้อต่ำมาก เศรษฐกิจประเทศหลักอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศสชะลอตัว ทำให้ธนาคารกลางยุโรปต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เศรษฐกิจญี่ปุ่น ฟื้นตัวช้าลงหลังการปรับขึ้นภาษีการบริโภค (VAT) แต่ค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าส่งสัญญาณดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจจีน สามารถขยายตัวได้ในระดับเป้าหมายร้อยละ 7.4-7.5 ในปีนี้ โดยรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กับการปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจ เศรษฐกิจอาเซียน 5 เติบโตอย่างมั่นคง นำโดยเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้นหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่วนมาเลเซียและฟิลิปปินส์ยังขยายตัวดี จากแรงส่งของภาคส่งออกและนโยบายที่สนับสนุนเศรษฐกิจของรัฐบาล
ในกรณีของประเทศไทยประเด็นที่น่าสนใจในเวลานี้ คือ ตัวชี้วัดกำลังซื้อในชนบท ในช่วงปี 2555-2557 รายได้เกษตรกรปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยหดตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี สะท้อนกำลังซื้อของคนในชนบทที่ลดลง ขณะที่เมื่อดูอัตราเงินเฟ้อชนบท มีการปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับร้อยละ 3-5 ต่อปี บ่งชี้ว่าขณะที่คนในชนบทมีฐานะลดลง สินค้ากลับมีราคาแพงขึ้น ส่งผลถึงมาตรฐานการครองชีพ (Standard of living) ที่ถดถอยต่อเนื่อง
ดังนั้นการเพิ่มรายได้เกษตรกรจึงเป็นสิ่งจำเป็น แนวทางหนึ่ง คือ การดูแลราคาสินค้าเกษตรเพื่อให้การขยายตัวของรายได้เกษตรกรอยู่ในระดับที่ดีกว่าอัตราเงินเฟ้อชนบทหรือเทียบเท่าการขยายตัวของ GDP ที่ประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปี โดยกำลังซื้อของคนชนบทที่เพิ่มขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนามาตรฐานการครองชีพของคนในประเทศให้ดีขึ้น
โดย..สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์
|