- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Monday, 13 October 2014 00:14
- Hits: 4266
สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสถาบันอิศรา เปิดตัวโครงการครบรอบ ๖๐ ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ‘ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ’จัดกิจกรรมวิชาการสู่การปฏิรูปสื่อ พร้อมจัดตั้ง ๖ กองทุนขับเคลื่อนปฏิรูปสื่อทุกมิติ
นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวาระ ครบรอบ ๖๐ ปีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๘ ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๙๘ ตลอดระยะเวลา ๖๐ ปี สมาคมนักข่าวฯมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ร่วมรณรงค์ให้มีการวางหลักเสรีภาพบนความรับผิดชอบของสื่อมวลชนและประชาชน ให้ความสำคัญกบการพัฒนาศักยภาพสื่อ โดยจัดการอบรมให้กับสื่อมวลชนในทุกระดับทั้ง นักข่าวใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วงการ นักข่าวรุ่นกลาง บรรณาธิการ
นอกจากนี้ สมาคมนักข่าวฯและสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยังทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการสร้างเครือข่ายวิชาการวิชาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ รวมทั้งการดูแลด้านสวัสดิภาพและสวัสดิการขั้นพื้นฐานของสมาชิก นอกจากนี้มีเครือข่ายสื่อมวลชนที่เข้มแข็งทุกแขนงทั้งในและต่างประเทศและได้ส่งเสริมความร่วมมือองค์กรสื่อในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นองค์กรก่อตั้งสมาคมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อในเอเซียอาคเนย์ (South East ASEAN Press Alliance-SEAPA) ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมและเฝ้าระวังด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อในอาเซียน
นายประดิษฐ์กล่าวว่าในวาระ ๖๐ ปีสมาคมนักข่าวฯ สมาคมนักข่าวฯร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สถาบันอิศรา ได้จัดทำโครงการ ๖๐ ปี สมาคมนักข่าวฯขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ๑. เพื่อเผยแพร่บทบาทสมาคมนักข่าวฯ ด้านการต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชน ๒. เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ทักษะและจิตสำนึกให้กับสื่อมวลชนในการทำหน้าที่เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ๓.เพื่อสร้างศักยภาพและส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านจริยธรรมสื่อมวลชนและกลไกในการกำกับด้านจริยธรรมให้มีความเข็มแข็งทั้งในองค์กรวิชาชีพสื่อ นักวิชาการด้านสื่อสารมวล
ชนและประชาชนทั่วไป ๔. ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสื่อภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร เพื่อให้ตระหนักถึงบทบาท และความรับผิดชอบของวิชาชีพสื่อที่มีต่อสังคมและประเทศชาติ และ ๕. เพื่อจัดกิจกรรมระดมทุน ภายใต้แนวคิด “ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ”
นายประดิษฐ์กล่าวว่า ในยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ หรือ Media Landscape ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ทางด้านการสื่อสาร ส่งผลให้ที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อ ผู้บริโภคข่าวสาร ต้องวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วให้ทัน ที่สำคัญธุรกิจสื่อได้พัฒนาการจากกิจการขนาดเล็กไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมสื่อที่มีเป้าหมายในเชิงธุรกิจมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงาน จาก Single Newsroom มาสู่ Convergence Newsroom เพื่อตอบสนองการส่งข่าวสาร ข้อมูล หลายแพลตฟอร์ม ส่งผลให้ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนถูกเปลี่ยนสถานะจาก'คนข่าว'เป็นเพียง'คนงาน'ในโรงงานอุตสาหกรรมสื่อ กองบรรณาธิการซึ่งควรมีความเป็นอิสระ ก็ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้ประกอบการธุรกิจสื่อ ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ของนักข่าวที่ต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะและ ได้สร้างผลกระทบต่อการทำงานตามหลักจริยธรรมวิชาชีพของสื่อมวลชน
จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการอภิวัฒน์สื่อเพื่อปรับความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนกับผู้ประกอบการธุรกิจสื่อ, ธุรกิจโฆษณา และความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทสื่อมวลชนกับสังคมและประชาชนใหม่
อย่างไรก็ตามในยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีงคนข่าว’ก็ต้องปรับตัวเป็นคนข่าวที่มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณของคนข่าว ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีสวัสดิการที่เหมาะสม เพื่อรักษาไว้ศักดิ์ศรีความเป็นสื่อมวลชน ตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพบนความรับผิดชอบ มีเป้าหมายในการทำหน้าที่สื่อมวลชนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องและผลประโยชน์เทศชาติ จึงเป็นที่มาของคำว่า’ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ’
ด้านนายจักร์กฤษ เพิ่มพูนประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่าสำหรับรายละเอียดของกองทุนต่างๆทั้ง ๖ กองทุนประกอบด้วย ๑.กองทุนเพื่อสร้างและปรับปรุงอาคารสำนักงาน เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการพัฒนาศักยภาพวิชาชีพที่ทันสมัย และมีศูนย์ข้อมูลสื่อทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Media Information Center – AMIC)
๒.กองทุนพัฒนาศักยภาพนักข่าว เพื่อจัดอบรมเสริมทักษะด้านต่างๆ แก่สื่อมวลชนทุกแขนง อาทิ การจัดอบรมด้านการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน การพัฒนาองค์ความรู้สื่อมวลชนเพื่อสนับสนุนระบบสื่อสาร โดยจัดอบรมหลักสูตรระยะยาวแก่ผู้ประกอบวิชาชีสื่อมวลชนและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาทักษะทางวิชาชีพ การจัดเวทีสาธารณะเพื่อเสวนาแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาต่างๆ ทั้งการเมืองเศรษฐกิจ สังคม การประชุมใหญ่ทางวิชาการสื่อสารมวลชน และการทำวิจัยด้านสื่อสารมวลชน
๓.กองทุนสิทธิเสรีภาพและปฏิรูปสื่อ เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อภายใต้หลักการ’เสรีภาพบนความรับผิดชอบ’โดยจัดกิจกรรมอบรมสัมมนาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายสื่อและเสรีภาพสื่อ จัดทำรายงานประจำเดือนและประจำปีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนไทย ส่งเสริมให้นักข่าวรวมตัวรักษาสิทธิตามกฎหมายแรงงานผ่านสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
๔.กองทุนส่งเสริมจริยธรรม เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองและการกำกับร่วมให้สื่อมีความเข้มแข็งด้านจริยธรรม อีกทั้งพัฒนาองค์ความรู้ด้านจริยธรรมสื่อมวลชน และส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรภายนอกที่มีภารกิจในการส่งเสริมจริยธรรม ผ่านกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมจิตสำนึกด้านจริยธรรม และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ศึกษาจริยธรรม กฎหมาย และนโยบายสื่อมวลชน
๕.กองทุนสวัสดิการนักข่าว เพื่อดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพสื่อมวลชนทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกให้กับสื่อมวลชนทุกแขนง ผ่านความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ อาทิ สวัสดิการคลอดบุตรคนแรก ทุนการศึกษาบุตร-ธิดาสมาชิก และสวัสดิการรักษาพยาบาล
๖.กองทุนตำราวารสารศาสตร์ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายนักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อสารมวลชน ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการสื่อสารมวลชนในรูปแบบตำราวิชาการ การเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ร่วมสมัย รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้อันเกิดจากประสบการณ์ทางวิชาชีพสื่อมวลชน
นายจักรกฤษกล่าวว่า เป็นภารกิจอันสำคัญยิ่งในวาระครบรอบ ๖๐ ปี องค์กรวิชาชีพสื่อทั้งสามองค์กรจะจัดกิจกรรมทางวิชาการและระดมทุนจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นี้เป็นต้นไป และไปสิ้นสุดในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๙ พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภายในระยะเวลา ๑ ปีเศษนี้ จะสามารถดำเนินการจนบรรลุเป้าหมาย’ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์’ ได้จนสำเร็จลุล่วง จากความร่วมมือของสื่อมวลชน นักข่าว และสมาชิกและประชาชนในวงการต่างๆ
สมาคมนักข่าวฯเปิดโครงการบริจาคโลหิต ร่วมเป็นผู้ให้สร้างประโยชน์ต่อสังคมไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดตัวโครงการ ๖๐ ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย'ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ'พร้อมโครงการนำร่อง บริจาคโลหิต เชิญชวนเพื่อนนักข่าวร่วมเป็นผู้ให้เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคม
นางสาวชุติมณฑน์ ศรีขำ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสเปิดตัวโครงการ ครบรอบ ๖๐ ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรสื่อมวลชนที่นอกจากจะมีภารกิจเพื่อการพัฒนาการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนมาตรฐานจริยธรรมแล้ว สื่อมวลชน ยังทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอ ข่าวสารความรู้ ต่อสารธารณชน แล้ว ยังต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่เน้นการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำทางความคิด อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อสังคมโดยรวมไปพร้อมกันด้วย
ซึ่งในโอกาสนี้ ทางสมาคมนักข่าวฯ ตระหนักถึงการเป็นผู้ให้กลับคืนต่อสังคม พร้อมกันด้วย โดยจัดโครงการ ร่วมบริจาคโลหิตให้กับทางสภากาชาดไทย นำร่องในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ และจะดำเนินโครงการต่อเนื่อง ทุกๆ ๖ เดือน ไปจนถึง วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๙ ในโอกาสนี้ ขอเชิญชวน สื่อมวลชน เข้าร่วมโครงการบริจาคโลหิตของสมาคม ฯในโอกาสต่อไป
เพราะ ทางคณะกรรมการสมาคมฯได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เมืองไทยเป็นเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และให้ความสำคัญกับการทำบุญเพื่อสร้างถาวรวัตถุ หรือถวายจตุปัจจัยต่างๆแก่พระสงฆ์ โดยมีความเชื่อว่า ได้ทำความดีเพราะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้ให้ยั่งยืนสืบไป
ซึ่งการทำบุญในรูปแบบนี้เรียกว่า'ทานมัย'โดยอานิสงส์ของการให้ทานมัย ย่อมส่งผลเป็นความสุขเสมอ และจะเป็นบุญที่ย้อนกลับมาถึงตัวเราในลักษณะที่แตกต่างกันไป ดังเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า 'บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟเชื่อว่าให้จักษุ และให้ที่พักพาอาศัยชื่อ ว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง'โดยการให้ทานที่จะส่งผลมากหรือน้อยมีหลักสำคัญประการหนึ่งที่ว่า ของที่ให้ทานเป็นของที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ของที่โกงหรือลักจากผู้อื่นมา ซึ่ง'การให้'ในสิ่งที่ผู้ให้ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่มีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำทางความคิดให้แก่สังคมไทยในโอกาสนี้คือ
การให้หรือการบริจาคโลหิต เพราะผู้ให้ได้มาโดยสร้างขึ้นเองซึ่งเป็นความบริสุทธิ์อย่างแท้จริงโดยไม่ได้ใช้เงินซื้อหา อีกทั้งเมื่อให้หรือบริจาคไปแล้วผู้ให้จะได้รับผล คือความสุข แล้วยังได้รับบุญที่ย้อนกลับมาถึงตัวผู้ให้ได้อย่างทันตาเห็น เพราะการบริจาคโลหิตมีเงื่อนไขว่า ผู้ให้จะต้องเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงจึงจะสามารถบริจาคโลหิตให้ผู้อื่นได้ หากปลูกฝังความคิดการให้นี้แก่ผู้คนในสังคมได้ประเทศเราก็จะมีพลเมืองที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเพื่อเป็นผู้ให้หรือผู้บริจาคทานด้วยโลหิตซึ่งทำให้ได้รับอานิสงส์ตามคำสอนของพระพุทธองค์เพิ่มขึ้นให้ทันยุคสมัยอีกประการหนึ่ง คือ'บุคคลให้โลหิต ชื่อว่า ให้ชีวิต'เพราะโลหิตหมายถึงชีวิตของเพื่อนมนุษย์อันเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่ง