ในโลกของการทำธุรกิจ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวที่จะนำมาใช้เป็นแบบอย่าง เพื่อทำให้ธุรกิจของเราประสบผลสำเร็จ เพราะระหว่างทางจะมีปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะ “ความเสี่ยง” (Risk) หรือเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอน หากเกิดขึ้นจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อเป้าหมายขององค์กร เช่น การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยผันผวน ภัยธรรมชาติ เรื่องทุจริต ปัญหาการเมือง ระบบสารสนเทศล้าสมัย หรือถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ทำให้คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร (IAM) และศูนย์บ่มเพาะทางธุรกิจ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ได้จัดทำหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการระยะสั้น “การบริหารความเสี่ยงในธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร” ขึ้นมา เพื่อให้ความรู้กับองค์กรต่างๆ นำไปใช้วางแผนเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ ใช้ควบคุมและดำเนินการ ไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือสามารถลดผลกระทบต่อธุรกิจ
คุณพัชรี คงตระกูลเทียน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักพัฒนาความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ความเสี่ยงในการทำธุรกิจแบ่งประเภทออกเป็น 7 ด้านคือ 1.ความเสี่ยงด้านยุทธศาสตร์องค์กร (Strategic Risks) คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงในแง่มุมทางธุรกิจต่างๆ 2.ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational Risks) คือความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในระดับปฏิบัติการ ที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ เช่น ความเสี่ยงในช่วงการก่อสร้างหรือติดตั้งเครื่องจักร หากเตรียมการไม่ดีพอ อาจเกิดเพลิงไหม้ และอาคารถล่มได้ 3.ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financail Risks) คือความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสภาพคล่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ดอกเบี้ย และความสามารถในการชำระหนี้ 4.ความเสี่ยงด้านกฎหมายและกฏเกณฑ์ต่างๆ (Compliance Risks) คือความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ 5.ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี (Technology Risks) คือความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคต เช่น เทคโนโลยีการสื่อสาร เทคโนโลยีการผลิต และระบบคอมพิวเตอร์ 6.ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (Reputation Risks) คือความเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบต่อชื่อเสียงขององค์กร เช่น ใช้แรงงานเด็ก ไม่ดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้ชุมชน หรือ NGO ต่อต้าน 7.ความเสี่ยงด้านการเมือง (Political Risks) คือความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบายของประเทศ ทำให้ต่างชาติไม่ยอมรับ และนักลงทุนไม่เชื่อมั่น
รศ.นงนุช อังยุรีกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ความเสี่ยงในการทำธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอน จึงจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ยกตัวอย่างบริษัทแปรรูปลำไยเพื่อจัดจำหน่ายตลาดในประเทศ กรณีที่เกิดปัญหาลูกค้าร้องเรียนว่าสินค้าไม่มีคุณภาพหลังซื้อไปบริโภค เราสามารถกำหนดปัจจัยเสี่ยงภายในบริษัทออกเป็น 3 ช่วงคือ Input , Process , Output หรือเรียกสั้นๆ ว่า IPO โดยขั้นตอน Input จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นคือ ลำไยที่ซื้อมาจากเกษตรกรเพื่อนำมาแปรรูปอาจไม่มีคุณภาพ เพราะลำไยแคระแกร็น และมีสารเคมีตกค้างมากเกินไป ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องประเมินความเสี่ยงย้อนไปถึงตัวเกษตรกรที่ปลูกลำไย ที่ไม่ได้ควบคุมมาตรฐานการปลูก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงในขั้นตอนการขนส่งลำไยจากสวนไปยังโรงงานแปรรูป อาจทำให้ลำไยเน่าเสียจากสภาพอากาศที่ร้อนเกินไป สุดท้ายจึงทำให้สินค้ามีปัญหาเมื่อไปถึงมือผู้บริโภค
ส่วนขั้นตอน Process หรือกระบวนการผลิตในโรงงาน รศ.นงนุช กล่าวว่า จะมีความเสี่ยงเรื่องการจัดเก็บลำไยในอุณหภูมิไม่เหมาะสม ระบบการทำงานของเครื่องจักรมีปัญหา หรืออุปกรณ์แปรรูปไม่สะอาดทำให้ลำไยแปรรูปไม่มีคุณภาพ ขณะที่ขั้นตอน Output จะมีความเสี่ยงช่วงขนย้ายลำไยแปรรูป รวมทั้งหีบห่อบรรจุไม่ได้มาตรฐานก่อนกระจายสินค้าไปยังร้านค้าต่างๆ เพื่อวางขาย รวมทั้งอาจต้องประเมินความเสี่ยงไปถึงวิธีการรับประทานลำไยแปรรูปของลูกค้าด้วยว่า ทำตามคำแนะนำที่ติดไว้ที่หีบห่อหรือไม่ เพราะหากลูกค้าไม่ปฏิบัติตาม ก็จะทำให้การบริโภคลำไยแปรรูปไม่อร่อยตรงตามที่เราต้องการ
“จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงในการผลิตลำไยแปรรูปไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงที่เราทำการแปรรูปสินค้าในโรงงาน หรือ IPO เท่านั้น เพราะหากเกิดปัญหาลูกค้าร้องเรียนลำไยแปรรูป เรายังต้องประเมินความเสี่ยงย้อนหลังหรือ Backward ไปถึงขั้นตอนการปลูกลำไยของเกษตรกร และต้อง Forward ไปถึงวิธีรับประทานของลูกค้าด้วยว่าถูกต้องตามคำแนะนำที่ติดไว้ที่หีบห่อหรือไม่” รศ.นงนุช กล่าว
ด้านคุณพจนีย์ ธนวรานิช อดีตอธิบดีกรมการประกันภัย กล่าวว่า ความเสี่ยงในการทำธุรกิจสามารถควบคุมได้ ด้วยการทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยในเรื่องต่างๆ หรือโอนความเสี่ยงภัยในรูปของสัญญาเกี่ยวกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะทุกธุรกิจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นแบบคาดไม่ถึง หากเรามีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ด้วยการคาดการณ์อย่างแม่นยำ วิเคราะห์ปัญหาอย่างลึกซึ้ง นำประสบการณ์ในอดีตมาวางแผน และทบทวนความเสี่ยงตลอดเวลา ก็จะทำให้เราทำธุรกิจได้อย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
|