ในยุคที่การใช้ไอทีแพร่หลาย แต่ความรู้เท่าทันโลกออนไลน์ของผู้ใช้งานทั่วไปอาจยังไม่ทัดเทียมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จึงทำให้ทุกวันนี้หลายๆ องค์กร หรือแม้กระทั่งตัวบุคคล ต้องเผชิญหน้ากับทั้งอาชญากรรมทางไซเบอร์ การหลอกลวง บิดเบือนข้อมูล โป้ปดมดเท็จทุกรูปแบบ
จนได้รับความเสียหายและตกเป็นเหยื่อ ต้องสูญเสียทั้งเงิน-ชื่อเสียง กว่า 4 ใน 10 ของผู้ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก มักตกเป็นเหยื่อของอาชญากรไซเบอร์ และในแต่ละปีจะมีผู้ใช้งานกว่า 556 ล้านคนตกเป็นเหยื่อ มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.5 ล้านล้านบาท นี่เป็นข้อมูลจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ยังได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุล่อใจของการก่อเหตุตามผลวิเคราะห์ของเว็บไซต์ Botrevolt.com ใน 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของเงินมาเป็นอันดับ 1 มีเหตุจูงใจมากถึง 96% และอันดับ 2 เป็นความไม่เห็นด้วยหรือประท้วง 3% ส่วนอันดับ 3 ทำไปเพราะความสนุกสนาน คึกคะนอง 2% อันดับสุดท้ายเป็นความโกรธแค้นส่วนตัวมี 1%
ถ้าจะให้พูดกันถึงข้อกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ได้ระบุการก่ออาชญากรรมไว้ครอบคลุมทั้งการกระทำเพื่อเงิน บิดเบือนเนื้อหา ไปจนถึงตัดต่อภาพ ซึ่งจากผลวิจัยของสถาบันเพื่อ การยุติธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อกลางเดือนกันยายน 2557 นี้ เผยว่า เมืองไทยเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของแก๊งอาชญากรต่างชาติ ที่ใช้การเจาะระบบ ดักข้อมูล เพื่อโจรกรรม สาเหตุของการเข้ามาหลอกลวง เพราะคนไทย ใจดี เชื่อง่าย กฎหมายไม่รุนแรง และยังย้ำอีกด้วยว่าในเรือนจำมีนักโทษ ชาวต่างชาติถูกคุมขังในคดีก่อเหตุอาชญากรรมไซเบอร์กว่า 266 คน จาก 101 ประเทศทั่วโลก
ส่วนการกระทำด้วยการบิดเบือนเนื้อหาข้อมูล ตอนนี้มีกว่า 130 คดีที่ถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานทั่วไปบนโลกเสมือนจริง นับว่าสังคมตอนนี้น่าเป็นห่วง เพราะบนหน้าจอทั้งสมาร์ทโฟน ไอแพด แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เหล่านี้เราไม่รู้ว่าใครจะมาไม้ไหน จะใส่สี ใส่ไข่ ใช้อารมณ์กล่าวหากันในโลกออนไลน์ จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด สร้างความเสียหายทำลายชื่อเสียงผู้อื่น หรือโน้มน้าวใจให้หลงเชื่อหวังผลเป็นเงินในกระเป๋าท่านก็เป็นได้ จึงควรต้องฟังหูไว้สิบหู เพราะหูเดียวคงไม่พอ
สัปดาห์ที่ผ่านมาทางสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวบนโลกไซเบอร์ โดยจัดเสวนา "จริยธรรม-ความเป็นมืออาชีพ ของสื่อในยุคสังคมออนไลน์" เพื่อสร้างวัคซีนภูมิคุ้มกันด้านไอที เพราะเหรียญมีสองด้านเช่นเดียวกับการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ มีทั้งประโยชน์และโทษ หากใช้งานไม่ถูกต้อง ไม่มีวิจารณญาณ และไม่เข้าใจการทำงานอย่างแท้จริง ผลเสียก็อาจทำลายผู้อื่นถึงแม้ไม่มีเจตนาก็ตาม ดังนั้นจึงควร คิดให้ดีก่อนคลิก คิดให้ดีก่อนเขียน ชะงักก่อนแชร์ หรือแพร่ภาพ และใช้วิจารณญาณกลั่นกรองพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะทันทีที่ได้ตัดสินใจ "กด" แล้วมันแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง และแม้ว่าที่กดไปนั้นอาจไม่ถูกดำเนินคดี แต่ในทางจริยธรรมจะเป็นอีกคนที่ตกหลุมพรางของพวกอาชญากร
โดย บัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน)
หมายเหตุ : คอลัมน์ “เล่าสู่กันฟัง” หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
|