ซีพี จับมือมหาวิทยาลัยทั่วไทยจัดกิจกรรมเสวนา'ประเทศไทย กับ Global Connectivity' หวังเพิ่มพูนความรู้ให้นิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ของสังคม พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเข้ากับโลกาภิวัตน์ เพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างยั่งยืน ประเดิมนัดแรกจับมือคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดประเด็น“ประเทศไทยบนเวทีการค้าโลก อุปสรรค โอกาส และความท้าทาย”
โลกในศตวรรษที่ 21 ได้เชื่อมโยงประเทศต่างๆ ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และก้าวสู่ระบบหนึ่งเดียวตามที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ (Globalization) ซึ่งเป็นตัวจักรขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้เป็นไปภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ จึงดำเนินโครงการจัดเสวนาสัญจรไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศไทย ภายใต้ชื่อ 'ประเทศไทย กับ Global Connectivity' โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่นิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ของประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศไทยโดยการเชื่อมต่อกับโลกในยุคโลกาภิวัตน์อย่างรู้เท่าทัน และเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย
ทั้งนี้ได้ประเดิมเปิดเวที 'ประเทศไทย กับ Global Connectivity' เป็นครั้งแรก โดยร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหัวข้อ “ประเทศไทยบนเวทีการค้าโลก อุปสรรค โอกาส และความท้าทาย” ผ่านมุมมองของ ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ ผอ.สถาบันศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศแห่ง ม.ธรรมศาสตร์ โดยมีนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท รวมทั้งอาจารย์ และนักวิจัยร่วมรับฟังอย่างสนใจ
ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียกำลังจะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของโลก เพราะเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว จากกำลังซื้อของประชากรกว่า 3,000 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของโลก เพราะสหรัฐอเมริกาและยุโรปกำลังอิ่มตัว ทำให้เติบโตช้าลง ส่วนไทยมีความได้เปรียบจากที่ตั้งของประเทศที่เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีแผนพัฒนาอย่างชัดเจน แตกต่างจากจีนที่กำหนดยุทธศาสตร์เน้นพัฒนาภายในประเทศใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างนโยบายสร้างเมืองเพิ่มขึ้นอีก 100 แห่ง ถือเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้เป็นอย่างดี
ดร.สารสิน ยังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตจาก 4 อุตสาหกรรม เริ่มจากอุตสาหกรรมอาหาร เพราะจีนและอินเดียมีกำลังซื้ออย่างมหาศาล โดย 2 ประเทศรวมกันมีประชากรกว่า 2,500 ล้านคน อินโดนีเซีย 230 ล้านคน ส่วนฟิลิปปินส์และเวียดนามมีคนรวมกันเกือบ 200 ล้านคน อุตสาหกรรมต่อมาคือรถยนต์ เพราะไทยเป็นฐานการผลิตส่วนประกอบรถยนต์อันดับ 1 ของเอเชีย อุตสาหกรรมที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือคมนาคมขนส่ง ทั้งเส้นทางรถไฟ ถนน และการบินที่มีแนวโน้มขยายตัวสูง และอุตสาหกรรมสุดท้ายที่มีอนาคตสดใสก็คือการท่องเที่ยว ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ไทยมีศักยภาพแข่งขันสูง จึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษส่วนอีก 2 อุตสาหกรรมที่ไม่ควรมองข้ามคืออีคอมเมิร์ช หรือขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ และอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร
ผศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ ผอ.สถาบันศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศแห่ง ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจเติบโตและก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากสินค้าส่งออกในอดีตจะเป็นข้าว ไม้สัก ดีบุก และยางพารา ต่อมาเป็นมันสำปะหลังแปรรูป เสื้อผ้า แรงงาน ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ จนมาถึงชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ในปัจจุบัน โดยมีการส่งออกไปค้าขายทั่วโลก ยกเว้นทวีปอเมริกาใต้และแอฟริกาที่มีเพียงเล็กน้อย จากนี้ไปจะมีการเปลี่ยนแปลง Landscape ของการค้าระหว่างประเทศของไทย จากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ไปสู่อาเซียนและเอเชียตะวันออก การค้าระหว่างประเทศยังไม่มีการกระจายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ตลาดส่งออกที่สำคัญโดยรวมเปลี่ยนจากประเทศพัฒนาแล้วเป็นกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน สัดส่วนของสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ส่งออกไปที่จีนและญี่ปุ่น สัดส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกับสินค้าเกษตร ที่ผ่านมายังไม่เห็นยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลไทยอย่างชัดเจน ทั้งที่โลกยุคนี้เรื่องการค้าและความมั่นคงแยกกันไม่ออก หากไทยไม่เตรียมพร้อมจะเกิดปัญหาตามมาในอนาคต
“ไทยจะต้องวางบทบาทของตัวเองให้ชัดว่าจะเล่นบทอะไร เพราะ 2 มหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนต่างก็ขยายอำนาจเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย ยังไม่รวมอินเดียและญี่ปุ่นที่ไม่ลงรอยกับจีน ที่พยายามเข้ามามีบทบาทเช่นกัน จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ไทยจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์เตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะประเทศมหาอำนาจจะใช้กลยุทธ์ให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลตอบแทนเรื่องอื่นๆ จากไทย"ผศ.ดร.ศุภัช กล่าว
|