ธุรกิจของซีพีในเวียดนามได้จำลองแบบธุรกิจซีพีจากประเทศไทยไปใช้ โดยมีธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ธุรกิจโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และธุรกิจโรงงานแปรรูปอาหาร ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จล้วนเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารภายใต้การนำของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เล็งเห็นศักยภาพของประเทศเวียดนาม เนื่องด้วยมีภูมิประเทศที่เหมาะสม มีประชากรจำนวนมาก และโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่ม ขึ้นทุกปี จึงเข้าไปลงทุนตั้งแต่ พ.ศ.2535 ด้วยการยึดมั่น'ปรัชญา 3 ประโยชน์' เป็นใบเบิกทาง เพราะหลักการทำธุรกิจของซีพี จะต้องทำให้ประเทศชาติ และประชาชนในประเทศนั้นๆ ได้รับประโยชน์ก่อน จากนั้นซีพีจึงจะได้ประโยชน์ตามมา
“ปี 2529 รัฐบาลเวียดนามประกาศแนวทางการเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจตามนโยบาย โด๋ยเม๊ย (Đổi Mới ) จากนั้นในปี 2531 ซีพีได้รับคำเชิญจากรัฐบาลเวียดนาม โดย ฯพณฯ หวอ วัน เกียต (Võ Văn Kiệt) นายกรัฐมนตรี เข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุนในเวียดนาม และในปี 2535 ท่านประธานธนินท์ ได้มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดให้แก่รัฐบาลเวียดนาม จำนวน 10 ตัน เพื่อร่วมพัฒนาความก้าวหน้าแก่เกษตรกรของเวียดนาม เป็นสายใยความตั้งใจของซีพีในการเข้ามาลงทุนในเวียดนาม ทำให้รัฐบาลเวียดนามเห็นความจริงใจและมั่นใจในซีพี”
กลยุทธ์ในการทำธุรกิจของซีพีเวียดนามนั้น ให้ความสำคัญกับช่วยเหลือสังคมและประชาชนชาวเวียดนามไปพร้อมๆ กัน เพราะว่า ซีพีเวียดนามได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรชาวเวียดนาม มีอาชีพ มีรายได้ จากการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการ ให้แก่หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา ตลอดจนองค์กรต่างๆ เพื่อยกระดับและพัฒนาการปศุสัตว์ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ซีพีเวียดนาม ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้วิชาการเลี้ยงสัตว์และการจัดการ ฟาร์ม (สุกร-สัตว์ปีก) เพื่อฝึกอบรมด้านวิชาการให้แก่ สัตวแพทย์ สัตวบาลและนักวิชาการ ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท ให้มีความรู้และทักษะอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและมีมาตรฐาน เพื่อออกไปให้บริการแก่ลูกค้าและเกษตรกร
อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้แก่ ข้าราชการ อาจารย์และนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานและฝึกงาน ในศูนย์การเรียนรู้ฯ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น นอกจากนี้ ซีพีเวียดนามยังให้บริการสัตว์แพทย์เคลื่อนที่ ( Mobile Vet Service ) ซึ่งเป็นรถโมบายที่ประกอบด้วย สัตวแพทย์และนักวิชาการ พร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อการวินิจฉัยและการป้องกันโรค อย่างทันท่วงทีและพร้อมให้บริการแก่เกษตรกรทั่วประเทศ รวมทั้งการจัดพิมพ์วารสารวิชาการ ( Kien Thuc Chan Noui ) ซึ่งเป็นวารสารวิชาการด้านปศุสัตว์ ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ แจกจ่ายฟรีให้แก่หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย เกษตรกรทั่วไป และลูกค้า เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านการป้องกันโรค เทคนิคการเลี้ยง รวมถึงบทความด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง
“สาเหตุที่ทำเช่นนี้ เนื่องจากซีพีต้องการเพื่อนที่พร้อมจะเติบโตไป ด้วยกัน เราต้องใจกว้าง ต้องกินแบ่งไม่ใช่กินรวบ ไม่หวังกอบโกยเพียงฝ่ายเดียว เพราะซีพีคิดอยู่เสมอว่า หากเกษตรกรเวียดนามล้มเหลว หรือเกิดโรคระบาดในสัตว์เลี้ยงของพวกเขา ทุกคนรวมทั้งซีพีก็จะเดือดร้อน ประชาชนจะไม่บริโภคไก่และสุกร สุดท้ายซีพีก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งความจริงใจของซีพี ทำให้รัฐบาลและชาวเวียดนามสัมผัสได้ จนเกิดความรู้สึกดีๆ และสนับสนุนสินค้าของซีพีในที่สุด”
ในด้านกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ซีพีเวียดนามให้การสนับสนุนพนักงานทุกคน ทุกระดับตำแหน่งงาน มีส่วนร่วมในการทำความดีเพื่อสังคม โดยจัดตั้ง 'กองทุนซี.พี.เวียดนามเพื่อการกุศล'( CPV’s Donation Fund ) มีแนวคิดในการดำเนินการเพื่อให้พนักงานได้มีส่วนร่วมและเข้าใจในการทำ CSR อย่างแท้จริง โดยแบ่งกิจกรรมหลักๆ ได้แก่
1. กิจกรรมบริจาคโลหิต นับตั้งแต่ ปี 2552 ซึ่งริเริ่มจากภายในองค์กร โดยครั้งนั้น ได้รับบริจาคโลหิตจากเหล่าพนักงาน คู่ค้า เกษตรกร จำนวนทั้งสิ้น 660 ยูนิต และหลังจากนั้นก็ขยายผลสู่ภายนอก โดยร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ อาทิเช่น สถาบันโลหิตวิทยาแห่งชาติเวียดนาม สภากาชาดเวียดนาม องค์กรด้านความมั่นคง (ทหารและตำรวจ) องค์กรสถาบันการศึกษา องค์กรเยาวขน และประชาชนทั่วไป โดยมียอดรับบริจาคโลหิต ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2557 รวมทั้งสิ้น 69,346 ยูนิต (ประมาณ 20 ล้าน cc) จนเป็นที่ยอมรับและชื่นชมจากรัฐบาล และประชาชน
2. กิจกรรมแพทย์อาสา นับตั้งแต่ปี 2553 เริ่มจากความร่วมมือของคณะแพทย์จากโรงพยาบาล นครโฮจิมินห์ จากนั้นได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลประจำจังหวัด จนมาสู่ความร่วมมือจาก สมาคมแพทย์เยาวชนแห่งชาติเวียดนาม ในการจัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ในถิ่นทุรกันดาร เพื่อช่วยเหลือ ตรววจรักษา และบริการด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนชาวเวียดนามผู้ยากไร้ทั่วประเทศ
3. กิจกรรมช่วยเหลือชุมชนและโรงเรียน เป็นหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ของผู้บริหารและพนักงาน ในการให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่เขตปฏิบัติงานของตนเอง โดยเน้นการมีส่วนร่วมในทุกระดับ
4. กิจกรรมการบริจาคแก่ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม และผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ
ซีพีเวียดนามได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่จัดตั้งบริษัท ซี.พี. เวียดนาม กว่า 20 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งการจัดทำกิจกรรมเหล่านี้ ได้รับความชื่นชมอย่างมากจากหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลและประชาชนชาวเวียดนาม จะเห็นได้จากความร่วมมือในการทำกิจกรรมเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพนักงานของซีพีเวียดนาม รวมถึงความร่วมมือต่างๆ จาก หน่วยงานของภาครัฐ คู่ค้าของบริษัท และ ประชาชนทั่วไป
นอกจากจะให้ความสำคัญกับสังคมเวียดนามแล้ว ซีพีเวียดนามยังให้ความสำคัญกับพนักงานที่เป็นชาวเวียดนามด้วย โดยภาพที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือโรงงานต่างๆ และฟาร์มเลี้ยงสัตว์บกและสัตว์น้ำจะถูกออกแบบให้เป็นโรงงานสีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อคุณภาพที่ดีของพนักงานซีพีเวียดนามโดยในโรงงานจะมีศูนย์กีฬา โรงอาหารคุณภาพ ร้านขายสินค้า CP จำหน่ายในราคาพิเศษสำหรับพนักงาน นอกจากนี้แล้ว บริษัทฯ ยังให้เน้นความสำคัญต่อการดูแลพนักงานภายในองค์กร หรือที่เรียกว่า Employee Social Responsibility ( ESR) โดยยึดถือหลักการ คือ สร้างคนดีและดูแลพนักงานในองค์กร ให้ดีก่อน แล้วจะทำให้คนดีเหล่านี้ รู้จักเสียสละ แบ่งปัน และช่วยเหลือผู้อื่นในสังคม
ดังนั้น กิจกรรม ESR ของซีพีเวียดนาม จึงมีความหลากหลาย และเหมาะสม อาทิ กิจกรรมผู้บริหารเยี่ยมบ้านพนักงาน ( Employee’s Home Visiting ) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหาร และผู้บังคับบัญชา ได้ดูแลเอาใจใส่พนักงาน รวมถึงครอบครัวของพนักงาน และให้ความช่วยเหลือ บรรเทาความทุกข์ยากลำบาก/ กิจกรรมวันครอบครัวซีพีเวียดนาม ( CPV’s Family Day ) เพื่อเปิดโอกาสในการแสดงออกซึ่งความรักและความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพนักงานและครอบครัว คู่ค้าของบริษัท พันธมิตรต่างๆ ล้วนมีส่วนร่วมในการทำความดีร่วมกัน / กองทุนเพื่อนพนักงานช่วยเหลือเพื่อนพนักงาน (Thap Sang Hy Vong – แสงสว่างแห่งความหวัง ) เพื่อมุ่งหวังให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงความช่วยเหลือ ดูแลซึ่งกันและกัน แม้ยามเจ็บป่วย ยากลำบากของพนักงาน หรือครอบครัวของเพื่อนพนักงานด้วยกัน เป็นต้น
ที่สำคัญซีพีเวียดนาม จัดกิจกรรมด้านการสื่อสารภายในองค์กร ยกตัวอย่างเช่น จัดพิธีเคารพธงชาติ ทุกเช้าวันจันทร์ โดยจัดขึ้นในโรงงาน ฟาร์ม และสำนักงานของซีพีเวียดนามทุกแห่งทั่วประเทศ ( เป็นบริษัทเอกชนต่างชาติแห่งแรกที่จัดกิจกรรมนี้ ) เพื่อเป็นแสดงถึงความรักชาติ และความสามัคคีของคนในชาติ รวมถึงเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนแสดงความรู้สึกต่อการทำความดีและการช่วยเหลือแบ่งปัน ผู้อื่น การยกย่องชมเชยพนักงาน การสื่อสารประชาสัมพันธ์ข่าวสาร และนโยบายสำคัญต่างๆ นอกจากนี้แล้ว ซีพีเวียดนามยังได้จัดกิจกรรม CP Vietnam’s CEO Town Hall เพื่อให้ผู้บริหารพูดคุยสื่อสารกับพนักงานทุกระดับได้โดยตรง เพราะซีพีเวียดนามเชื่อว่า หากพนักงานเกือบ 15,000 คนมีความสุข ก็จะทำให้พวกเขาเกิดปัญญาในการทำความดี และจะบอกต่อไปยังครอบครัว ญาติพี่น้อง และประชาชนชาวเวียดนามทั่วประเทศให้เห็นคุณค่าของซีพี
ด้วยเหตุนี้ จึงมั่นใจได้ว่าอนาคตของธุรกิจซีพีเวียดนามจะเดินหน้าเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพราะซีพีเวียดนามให้ความสำคัญกับการสร้างคนอย่างมาก ขณะนี้ได้มีผู้บริหารรุ่นใหม่ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงชาวเวียดนาม รับผิดชอบธุรกิจที่สำคัญมากมาย รวมทั้งการเตรียมคนรุ่นใหม่ที่พร้อมก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารในทุกระดับ หลังจากได้กำหนดกลยุทธ์พัฒนาพนักงานอย่างเป็นระบบ เน้นให้ทำงานเป็นทีมและเน้นความสามัคคี ให้ความสำคัญกับทุกคนเท่ากัน ไม่มีใครเป็นพระเอก ไม่มีการแบ่งแยก สิ่งเหล่านี้ทำให้พี่น้องชาวเวียดนาม เกิดความภูมิใจและมีกำลังใจในการทำงาน ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ และลงมือทำจริงอย่างเป็นรูปธรรม ตามหลัก 'รัชญา 3 ประโยชน์' ซึ่งมอบให้แก่พนักงานซีพีเวียดนาม และประชาชนชาวเวียดนาม เกิดความไว้ใจและรักซีพีในที่สุด
ที่มา: งานซีพีวิวัฒน์ On-Stage หัวข้อ “ซีพีเวียดนามสำเร็จด้วยธุรกิจสู่สังคม” จัดโดยสำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ณ โรงแรมแกรนด์เมอร์เคียว ฟอร์จูน
นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ รองประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เขตประเทศเวียดนาม เครือเจริญโภคภัณฑ์
|