- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Monday, 15 September 2014 20:05
- Hits: 3525
อีโค+โฟกัส: วัดใจรัฐบาล ปฏิรูป 'แก๊ส-น้ำมัน'วัดใจรัฐบาล ปฏิรูป 'แก๊ส-น้ำมัน'
ไทยโพสต์ : คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โหมโรงกันไปแล้ว ด้วยการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเป็นอันดับแรกเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา และที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ในฐานะประธาน กบง. ได้มีมติเห็นชอบปรับอัตราเงินจัดส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดใหม่ตามที่ที่ประชุม คสช.เมื่อ 26 ส.ค.57 มีมติไว้
โดย กบง.พิจารณาอัตราจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ใหม่ โดยลดราคาน้ำมันประมาณ 1-3 บาทต่อลิตร เอาใจพี่น้องประชาชนกันไปทั่วหน้า ทำให้ราคาเบนซิน 95 ปรับลดลงลิตรละ 3.89 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 ปรับลงลิตรละ 2.12 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ปรับลงลิตรละ 1.86 บาท และ E20 ปรับลงลิตรละ 1.00 บาท ส่วนดีเซลปรับเพิ่มลิตรละ 14 สตางค์
การปรับลดราคาดังกล่าว ถือว่าเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชน และเป็นไปตามแผนปฏิรูปพลังงานจริงหรือ? เพราะต้องยอมรับก่อนว่า ภาษีและเงินกองทุนที่เรียกเก็บจากน้ำมัน ส่วนหนึ่งเอาไปใช้เพื่ออะไร และยังมีพลังงานตัวอื่นที่ต้องเข้าไปดูแลและปรับโครงสร้างราคาให้สะท้อนข้อเท็จจริง โดยเฉพาะก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี
เกิดคำถามขึ้นว่า เป็นฝีมือของ คสช.หรือ?จริงๆ แล้ว การที่สามารถลดราคาน้ำมันลงได้ เป็นเพราะราคาตลาดโลกลดลง ไม่ได้เกิดจากฝีมือใครในประเทศ ซึ่งการที่ราคาน้ำมันลงได้ลิตรละ 3 บาท เป็นภาวะทรุดโทรมของเศรษฐกิจโลก และการค้นพบน้ำมันจากออยเชลล์ของสหรัฐออกมาแย่งขาย ทำให้ผลิตออกเป็นน้ำมันดิบได้ในต้นทุนที่ถูกกว่า และสหรัฐเองก็แทบจะหยุดซื้อน้ำมันดิบ เอาออยเชลล์มาใช้แทน
ดังนั้น ขณะนี้น้ำมันดิบขายไม่ออก ทำให้ราคาตก แต่ก็มีปัจจัยที่จะทำให้ราคาแพงเช่นกัน คือ สงครามในยูเครน ในลิเบีย อิรัก ถ้าสงครามลุกลามไปถึงแหล่งผลิตน้ำมันดิบ การผลิตหยุดชะงัก ซัพพลายจะหายไป น้ำมันน้อยลง ก็ดันราคาสูงขึ้น แต่มีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์จะไม่ลุกลาม ขยายวงกว้าง
ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันลดลง เป็นเพราะเบอร์ 1 ของโลก คือ จีน ซื้อน้อยลง เศรษฐกิจเริ่มถอย อเมริกาหยุดซื้อ เพราะมีของตัวเอง ยุโรปซื้อน้อยลง เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น มีปัญหาเรื่องหนี้สิน ดังนั้น ตอนนี้ถ้ากลุ่มโอเปกจะรักษาราคาน้ำมันไว้ไม่ให้เสียหาย คือ ต้องปรับลดยอดการผลิต และปัญหาอยู่ที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ยอมที่จะปรับลดลงหรือไม่
ผู้รู้ในวงการน้ำมันบอกว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับลดราคาน้ำมันลง เพราะ เวลาน้ำมันลดราคาลง มีทางเลือกให้ไปใช้ 3 ทาง คือ 1.ลดราคาให้ประชาชน 2.นำ ไปใช้หนี้กองทุนที่ติดลบ 7 พันล้านบาท และ 3.เอาไปคืนภาษีสรรพสามิตที่รัฐบาลได้ ปรับลดลงราคาลง 5.31 บาทต่อลิตร เหลือครึ่งสตางค์ ภาษีหายไปปีละ 1 แสนล้านบาท
ไปดูกันที่ "แอลพีจี" กันดีกว่าซึ่งแอลพีจีมีความซับซ้อนในตัวเอง แต่เดิมก๊าซแอลพีจีแยกออกมาเพื่อใช้ในปิโตรเคมีเป็นหลัก ในสมัยยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยเอาก๊าซแอลพีจีมาทำเป็นพลาสติก เพราะทำให้มีมูลค่าสูง ส่วนที่เหลือเอาไปเผาในโรงไฟฟ้า จากแผนดังกล่าวทำให้โรงงานปิโตรเคมีของไทยติดอันดับ 7 ของโลก และช่วงปี 2523 เกิดวิกฤติพลังงานโลก ทำให้ราคาน้ำมันแพงมาก และขาดแคลน ทำให้ช่วงนั้นประเทศไทยไม่มีทางเลือก ต้องหาเชื้อเพลิงมาใช้แทน คือ ก๊าซแอลพีจี ทำให้ต้องย้ายจากการเอาไปทำเม็ดพลาสติก เอามาใช้กับรถยนต์
กระทั่งถึงปี 2524 การขยายโรงงานปิโตรเคมี ยังทำไม่ได้มาก และเอาแอลพีจีไปใช้เป็นก๊าซหุงต้ม ก็ขยายตัวไม่มากนัก ประกอบกับเป็นช่วงที่น้ำมันขาดแคลน ทำให้มีการแห่มาใช้กับรถยนต์ รัฐบาลจึงตั้งราคาต่ำ และส่งเสริมให้มีการขายให้กับรถยนต์ ขายไประยะหนึ่งติดตลาด
ปี 2529 ราคาน้ำมันตก สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ประชาชนไม่ยอมกลับไปที่น้ำมัน เพราะลงทุนเปลี่ยนเครื่องยนต์ใช้แก๊สไปแล้ว จึงติดการใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์
อีกนโยบาย คือ รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ระดับต่ำ เพราะถือเป็นน้ำมันเศรษฐกิจ และการเก็บเงินจากน้ำมันเบนซินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อเอามาอุดหนุนแอลพีจี ทำให้น้ำมันเบนซินมีราคาแพง เพราะมีหน้าที่ควักจ่ายแทนคนอื่น โดยเฉพาะปัจจุบัน เบนซินถูกเก็บเข้ากองทุนลิตรละ 10 บาท คนเติมเบนซินต้องจ่ายเพิ่ม 10 บาท เพื่อเอาไปช่วยแอลพีจีและดีเซล
สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นที่มาของความซับซ้อน จากเบนซินแพงเกินไป ก๊าซ- ดีเซล ถูกเกินไป หลังจากนั้นก็มีความซับซ้อนมากขึ้น เมื่อรัฐบาลมาแยกประเภทของก๊าซแอลพีจีเป็น 3 ประเภท คือ แอลพีจีโรงงาน หุงต้มและขนส่ง และเริ่มแยกนโยบายว่า แอลพีจีหุงต้มเพื่อประชาชนไม่ขึ้นราคา แอลพีจีรถยนต์ควรขึ้น และแอลพีจีโรงงานควรที่จะขึ้นมากที่สุด ทำให้ระบบยิ่งซับซ้อนมากขึ้น
โดยราคาแอลพีจีโรงงานอยู่ที่กิโลกรัมละ 29.33 บาท แอลพีจีครัวเรือนกิโลกรัมละ 22.63 บาท และแอลพีจีขนส่งกิโลกรัมละ 21.38 บาท
ให้สังเกตดูว่า ก๊าซแอลพีจีรถยนต์ปี 2555 ทั้งปีมียอดขาย 1,061 ล้านกิโลกรัม ปี 2556 กระโดดเป็น 1,775 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นถึง 77% คิดหรือว่าภายใน 1 ปี รถติดแก๊สเพิ่มเป็น 2 เท่าหรือ เมื่อเทียบกับก๊าซแอลพีจีที่ใช้กับครัวเรือน ปี 2555 ขายได้ 3,047 ล้านกิโลกรัม ปี 2556 ขายได้ 2,409 กิโลกรัม ส่วนก๊าซแอลพีจีอุตสาหกรรมหรือโรงงาน จากเดิมปี 2555 มีการใช้ 614 ล้านกิโลกรัม เหลือ 600 ล้านกิโลกรัม
เห็นได้ว่าทำให้เกิดความไม่ชอบมาพากลในระบบ"ทั้งหมดนี้เป็นการเอาอย่างถูกไปขายอย่างแพง ยังไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง มีการเล่นแร่แปรธาตุกัน เพราะว่าของไทยซื้อถูกสุด คือรถยนต์ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าถูกลักลอบออกไปขายยังเขมร จะเป็น 50 บาท ไปถึงพนมเปญมี 60-70 บาท คนที่ดูแลเรื่องนี้ก็ตำรวจหรือศุลกากร"
เพราะ ราคาที่ต่างกัน คือ ตัวแปรที่ทำให้มีการลักลอบส่งออก และเป็นภาระของกองทุนน้ำมัน เพราะกองทุนฯ จ่ายเพื่อให้คนไทยได้ใช้ก๊าซราคาถูก โดยเอาเงินที่เกิดจากคนใช้น้ำมันเบนซินมาจ่าย แต่ผู้รับประโยชน์ คือ ลาวและเขมร ซึ่งราคาที่แท้จริงของแอลพีจีในตลาดโลกจะแพงหน้าหนาวและถูกหน้าร้อน ช่วงถูกประมาณ 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน ช่วงแพงประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน
ซึ่งไทยตั้งราคาขายที่โรงงานอยู่ที่ระดับไม่เกิน 330 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็นราคาที่ถูกกำหนดไว้รวม 20 ปีแล้ว จากนั้นจะมาบวกค่าส่วนต่างเพิ่ม เช่น ถ้าสำหรับผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำ จะอยู่ที่ 330 เหรียญสหรัฐต่อตัน และถูกควบคุมพิเศษไม่มีการบวกเพิ่ม แต่ถ้าเป็นหุงต้มกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง จะบวกขึ้นมาเป็น 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็นโรงงานก็เพิ่มขึ้นอีก
แต่ทั้งหมดยังถูกกว่าราคาตลาดโลกดังนั้น ที่มาบอกว่าราคาขนส่ง ราคาอุตสาหกรรมและหุงต้ม มีความแตกต่างกันเป็นเรื่องจริง แต่ทั้งหมดถูกกว่าตลาดโลก ดังนั้น ถ้าเอาออกไปขายต่างประเทศจะได้ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว
ดูง่ายๆ ก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัม ราคาที่ชายแดนจะอยู่ที่ 280 บาทต่อถัง ข้ามไปปอยเปตจะเป็น 500 บาทต่อถัง และถ้าไปถึงเสียมเรียบ 800 บาทต่อถัง ถึงพนมเปญ 1,000 บาทต่อถัง
ถามหาหน่วยงานที่กำกับดูแล ควบคุมไม่ให้ลักลอบส่งออกนั่นหรือ เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยศูนย์ปราบปรามการกระทำ ความผิดที่เกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง (ปนม.)
ใครล่ะ? เป็นผู้ค้าแก๊สในประเทศไทย ได้แก่ สยามแก๊ส เวิลด์แก๊ส ยูนิกแก๊ส ปิกนิกแก๊ส และ ปตท. ส่วนเชลล์ และเอสโซ่ ที่เคยขายก๊าซ ได้เลิกกิจการไป ส่วนจะเป็นเพราะเหตุผลใด ในวงการค้าแก๊สรู้กันดี
หากพิจารณาจากยอดขายรวม ถือว่า ปตท. 'ใหญ่สุด' แต่ถ้าดูจากกลุ่มรถยนต์ จะพบว่าสยามแก๊ส 'ใหญ่สุด'ส่วนเวิลด์แก๊สซื้อหัวไปจากเจ้าของเดิม การขายไม่มาก แต่มีข้อสงสัยว่า ขายให้ใคร ยอดขายแต่ละเดือนเป็นเท่าไร มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า มีการส่งออกหรือไม่ ส่วนยูนิกไม่ค่อยมีบทบาทมากนักในวงการ
ทางออกของปัญหา คือ ต้องดึงกลับมาให้สู่หลักความจริงให้เร็วที่สุด คือ ทำให้ราคาแต่ละกลุ่มใกล้เคียงกันมากที่สุด
"ถ้าเราขายถูก ทุกคนจะแห่มาใช้ ซึ่งจะเห็นว่าขณะนี้มาเลเซียก็พยายามปรับขึ้นราคาน้ำมันเพื่อรองรับเออีซี ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียอุดหนุนอยู่ปีละ 500,000 ล้านบาท, สิงคโปร์ 1 ล้านเหรียญต่อปี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หลายประเทศพยายามปรับราคาจำหน่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น ซึ่งมาเลเซียยอมรับเหตุผล แต่อินโดนีเซียไม่ยอม เพราะติดประชานิยมมานาน
การที่ราคาแก๊สถูกบิดเบือน มาจากราคาที่บิดเบือน เนื่องจากราคาเปิดช่องให้ทำได้ โครงสร้างราคาที่ไม่เป็นไปตามตลาด และการแบ่งราคาขายเป็น 3 กลุ่ม เป็นสาเหตุสำคัญ"
แรกเริ่มเดิมที รัฐบาลตั้งราคาเอ็นจีวี โดยจะให้มาแทนที่แอลพีจี เพื่อขึ้นราคาแอลพีจีได้ ดังนั้นตอนที่เอาเอ็นจีวีเข้ามา ราคาที่ตั้งเป็นราคาชั่วคราวเพื่อส่งเสริมการใช้ อยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต้นทุนจริงอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลกรัม แต่รัฐบาลต้องการส่งเสริม จึงให้ขายแค่ 8.50 บาท โดยให้ระยะเวลา 2 ปี จากนั้นสามารถปรับราคาขึ้นได้ แต่ผ่านไป 2 ปี ไม่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ทำให้ ปตท.ต้องกำหนดจำนวนการขายและการขยายปั๊ม ไม่มีการลงทุนเพิ่ม
"จริงๆ แล้วควรให้ราคาเป็นไปตามสภาพที่แท้จริง เพราะราคาต่ำกว่าน้ำมันกว่าครึ่งอยู่แล้ว ถึงจะเป็นราคาจริง ก็ถูกอยู่แล้ว ซึ่ง ปตท.ประเมินว่า หากได้ราคากิโลกรัมละ 14-15 บาท ก็พร้อมจะเปิดทั่วประเทศ และเปิดทางให้รายอื่นเข้ามาขายได้ด้วยเช่นกัน"
หากจะส่งเสริมการใช้แก๊สในรถยนต์ หากเป็นรถขนาดใหญ่ ควรเป็น "เอ็นจีวี" ส่วน "แอลพีจี" เหมาะสมกับรถขนาดเล็ก ตัวอย่างที่ญี่ปุ่น รถแท็กซี่ ต้องใช้แอลพีจีเท่านั้น เพื่อลดปริมาณฝุ่นควัน
ถ้าจะหาสาเหตุกันจริงๆ ว่า ทำไมราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีจึงถูกบิดเบือน นั่นเพราะรัฐบาลที่ผ่านมามุ่งใช้แต่ "ประชานิยม" ย้อนหลังไปดูกระทรวงพลังงาน ในช่วงที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีสลับสับเปลี่ยนกันนั่งเก้าอี้ถึง 11 คน มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่กล้าให้ขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี มีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
แล้วราคาน้ำมันล่ะ? ปัจจุบันสะท้อนราคาที่เป็นจริงหรือไม่
เวลานี้น้ำมันขึ้นราคาตามภาวะตลาด แถมยังเกินราคาที่เป็นจริง เพื่อเอาส่วนเกินไปอุดหนุนแอลพีจี เช่น ขณะนี้เบนซิน 95 ราคาเกินความจริงไป 10 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์เกินราคาที่เป็นจริง 3 บาท
ทั้งหมดจึงเป็นคำถามว่า ทำไมคนใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ต้องไปแบกภาระคนใช้แอลพีจี และคำตอบที่อธิบายกันทุกวันนี้ ก็เถียงกันว่า เอาเงินคนรวยไปช่วยคนจน
ถามว่าคนใช้เบนซิน แก๊สโซฮอล์รวยจริงหรือ และคนใช้แอลพีจีจนจริงหรือ? เพราะปัจจุบันรถเก๋ง รถเบนซ์ก็ติดแอลพีจี และรถเก๋งยังหนีจากเบนซินมาใช้แก๊สโซฮอล์ได้ ซึ่งราคาถูกกว่า แต่รถจักรยานยนต์ใช้ไม่ได้ ใช้ได้แต่เบนซิน อย่างมอเตอร์ไซค์วิน ต้องใช้น้ำมันลิตรละ 50 บาท และจ่ายเกินความเป็นจริง 10 บาท เพื่อมาจ่ายให้แอลพีจี ซึ่งก็มีรถเบนซ์ที่ใช้แอลพีจี
ดังนั้น สุดท้ายต้องให้ราคาก๊าซขึ้นตามกลไกราคา เพื่อให้สามารถลดราคาน้ำมันลงได้ ต้องวัดใจรัฐบาลยุค คสช.ล่ะว่า ภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ชื่อ'ณรงค์ชัย อัครเศรณี'จะ'ผ่าตัด' หรือ'ปฏิรูป'โครงสร้างราคาพลังงานออกมารูปแบบไหน
อดใจรอ!.