- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Monday, 15 September 2014 10:11
- Hits: 3440
วัยโจ๋โชว์กึ๋นสุดเก๋ ผลิตสื่อสร้างสรรค์สะท้อนสังคม
บ้านเมือง : จากสภาพสังคมไทยที่เกิดความแตกแยกในยุคปัจจุบัน นับว่าเป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน ที่มาจากต้นตอหลายเรื่องหลากประเด็น อาทิ ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาเรื่องการปฏิรูปพลังงาน สภาวะความเป็นอยู่ที่อย่างยากลำบาก รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย และมะเร็งร้ายที่เกาะกินสังคมไทยมา ยาวนานอย่างปัญหาการคอรัปชั่น เป็นต้น
แม้ที่ผ่านมาจะมีการกล่าวถึงแนวทางปฏิรูปกันอย่างหลากหลาย แต่หากมองให้ลึกต่อการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน นับว่ายังทำได้ไม่ทั่วถึงมากนัก อีกทั้งผลผลิตที่ได้เป็นข้อเสนอที่ผ่านมา มักอยู่ในรูปแบบของเอกสารวิชาการที่คนส่วนใหญ่ทำความเข้าใจได้ยาก จนหลายคนมักละเลยเสมือนกับการมองให้ผ่านๆ ไป ทำให้ไม่สามารถดึงการมีส่วนร่วมของสังคมในการตระหนัก ใคร่รู้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อประเด็นสังคมต่างๆ ร่วมกันได้
จากสถานการณ์ข้างต้นจึงก่อเกิดโครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคมที่น่าอยู่จัดโดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มูลนิธิสยามกัมมาจล สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ มาถ่ายทอดปัญหาของสังคมที่ถูกสะท้อนจากประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบผ่านงานศิลปะแขนงต่างๆ ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงเข้าใจได้โดยง่าย ถ่ายทอดโดยนักศึกษาศิลปะจากทั่วประเทศ ที่เลือกประเด็นสังคมมาจัดทำไว้อย่างน่าสนใจ
เริ่มที่กลุ่ม "พลังงาน" ของน้องนักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ที่นำเสนอปัญหาพลังงานในประเทศไทย ผ่านสื่อศิลปะแนวอินโฟกราฟฟิก ที่มาแจกแจงโมเดลระบบพลังงานของประเทศไทย โดย "น้องจิ๊บ" อวัสดา บุญมีเกิด ตัวแทนกลุ่มบอกถึงแนวความคิดว่า ที่เลือกประเด็นเรื่องพลังงาน เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและคนส่วนใหญ่ก็มักมองข้าม ยกตัวอย่างเช่นเรื่องน้ำมัน เกิดเป็นคำถามว่าประเทศไทยของเรามีน้ำมันอยู่จริงหรือไม่ ที่ผ่านมาเรามักถูกให้เชื่อว่าประเทศเราไม่มีแหล่งค้นพบน้ำมัน หรือถ้ามีก็เป็นน้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพ เป็นต้น
มาที่กลุ่ม "ผักเกษตรอินทรีย์" ของกลุ่มน้องจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ที่มานำเสนอแง่มุมของ ผักเกษตรอินทรีย์ ในประเทศไทย ผ่านภาพถ่ายมาเล่าเรื่อง โดย "น้องนัน" สุภีนันท์ เลาหชนะกูร ตัวแทนกลุ่ม ได้บอกถึงแนวคิดว่ามีความสนใจที่จะทำเรื่องนี้ เนื่องจากเรามีความเชื่อกันว่าผักเกษตรอินทรีย์เป็นผักที่น่ากิน เพราะเป็นผักปลอดสารพิษแต่เมื่อลงลึกในการศึกษาหาข้อมูลพบว่า ผักเกษตรอินทรีย์ตามที่เข้าใจก็ล้วนมีสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตรายอยู่เหมือนกัน ที่มีทั้งการทำให้ผักมีรูโดยใช้ทรายสาดเพื่อให้ดูว่าผักชนิดนี้มีหนอนมากิน ขณะเดียวกันก็ใช้สารเคมีร่วมด้วย เพื่อที่จะทำให้ผักที่ปลูกขายได้ แนวคิดของเกษตรกรที่คิดทำเช่นนี้ ถือว่ามีแนวความคิดไม่ถูกต้อง เรามีความจำเป็นต้องสะท้อนเรื่องนี้ออกไปสู่สังคมว่าผักเกษตรอินทรีย์ที่หลายคนคิดว่าปลอดภัยจากสารเคมีนั้นอาจไม่ใช่ทั้งหมด ฉะนั้นการสื่อเช่นนี้ออกไปจึงถือเป็นการตักเตือนให้เกษตรกรที่คิดทำเรื่องเช่นนี้ ให้ปรับเปลี่ยนแนวความคิด หันมาปลูกผักเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมให้น่าอยู่ร่วมกัน
ขณะที่ "น้องไจโก๊ะ" ธิติพงศ์ ทั่งทอง นักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก็เลือกทำเรื่อง "ผักเกษตรอินทรีย์" เช่นเดียวกัน โดยเลือกการนำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟฟิก โดยเน้นการให้ความรู้ในเรื่องของสลากตรารับรองผักเกษตรอินทรีย์
ไปดูเรื่องผักเกษตรอินทรีย์กันไปแล้ว มาดูของกินในชีวิตประจำวันใกล้ตัว อย่างเรื่อง "ข้าว" กันบ้าง ที่น้องๆ จากคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ตั้งชื่อเรื่องอย่างสุดแก๋ว่า "เรื่องข้าวคร่าว" ที่มาบอกเล่าเรื่องข้าวและตัวมอด ผ่านนิทรรศการขนาดย่อม โดย "น้องบี" ศศิพร จอห์นสัน ตัวแทนกลุ่ม บอกว่า ที่จัดทำเรื่องข้าว เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราต้องกินทุกวัน แต่ลงลึกในการศึกษาข้อมูลพบว่าข้าวสารที่เรากิน ที่ดูขาวใส มาบรรจุถุงสวยงามที่ขายเรา ล้วนแต่มีการใช้สารเคมีเพื่อทำการรมตัวมอดแทบทั้งสิ้น
น้องบียังบอกด้วยว่า แม้สารชนิดนี้จะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่เกิดคำถามที่ว่า กระบวนการรมมอดมีการรมอย่างถูกวิธีหรือไม่ และมีการควบคุมจากภาครัฐอย่างเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญจะมีสารชนิดนี้ตกค้างมากน้อยแค่ไหน เพราะขึ้นชื่อว่าสารเคมีย่อมมีอันตรายอยู่แล้ว ในทางกลับกันหากเราหันมาบริโภคข้าวที่มีตัวมอดอาศัยอยู่ ซึ่งมักพบในข้าวถังและข้าวกระสอบ ความปลอดภัยจากสารเคมีจะมีมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งการตั้งคำถามดังกล่าว น้องบีชี้ว่าเป็นคำถามปลายเปิด เพื่อให้ผู้รับสื่อนี้ได้ชวนคิดต่อปัญหาในสังคม ส่วนเรามีหน้าที่สะท้อนให้เห็นเท่านั้น
ดูเรื่องของกินใกล้ตัวกันไปแล้วมาดูปัญหาสังคมที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานอย่างเรื่อง "ที่ดิน" กันบ้าง โดยน้องๆ จากคณะศิลปะและการออกแบบ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เสนอมุมมองปัญหาที่ดินผ่านภาพถ่าย ไว้อย่างน่าสนใจ โดย "น้องมอส" พงศธร คุ้มปรี ตัวแทนกลุ่ม ได้เล่าถึงที่มาของการจัดทำว่าแรงบันดาลใจได้มาจากประชาชนผู้เดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน ทั้งจากชาวเลในภาคใต้ ที่ถูกโกงโดยนายทุน และแถบภาคอีสานในบางจังหวัด จากนั้นก็มาตั้งคำถามว่าทำไมปัญหาเรื่องที่ดินในประเทศไทย ถึงมีความเหลื่อมล้ำกันเหลือเกิน และมักอยู่ในมือของนายทุนและคนรวยเสียส่วนใหญ่
จากนั้นจึงมาคิดว่าจะทำสื่ออะไรดี ที่จะสะท้อนถึงปัญหาที่ดินอย่างเจ็บปวดที่สุด สุดท้ายลงเอยที่ภาพถ่าย ที่สามารถสะท้อนถึงสีหน้า แววตา ของผู้ไร้ที่ดินทำกินได้อย่างดี โดยเลือกสถานที่ถ่ายภาพบริเวณชุมชนแออัดใกล้กันกับมหาวิทยาลัย โดยกำหนดคนตีกอล์ฟ ทำท่าวงสวิง ทั้งในและนอกบ้านของชาวบ้านในรูปแบบของความรันทด สุดแสบสัน ไม่เท่านั้นยังหยิบจับเส้นสายลายกราฟฟิกตี้มาบรรยายภาพ เกิดเป็นสื่อผสมผสานที่ลงตัวชวนมอง
ปัญหาเรื่องที่ดินต้องยอมรับว่าจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยทันทีคงยากมาก แต่เราในฐานะนักศึกษาอยากทำสื่อที่สามารถกระตุ้นเตือนไปยังสังคมว่าปัญหาเรื่องที่ดินเป็นสิ่งที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันในหลายภาคส่วน เพื่อคนจนจะได้มีที่ยืน มีที่ดินทำกิน ไม่เกิดช่องว่าง บนทางของความเหลื่อมล้ำอย่างเช่นทุกวันนี้
ขณะที่ 'น้องแจ๊ค'วินัย นามวงศ์ จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ แม้จะเลือกทำปัญหาเรื่องที่ดิน แต่ก็ได้นำเสนอในรูปแบบของเกมที่ดูสนุกสนานแตกต่างออกไป โดยนำเสนอในรูปแบบที่คล้ายกับการเล่นของ "เกมเศรษฐี" ที่กำลังฮอตฮิตอยู่ขณะนี้ มีทั้งการทอดลูกเต๋า และคู่มือการเล่น ซึ่งหยิบความรู้ทางกฎหมายเรื่องสิทธิด้านที่ดินของคนตัวเล็กตัวน้อย มาบอกเล่าไว้เพื่อประกอบการเล่นเกม ซึ่งถือเป็นความตั้งใจที่จะสื่อสารให้สังคมเห็นความสำคัญในเรื่องสิทธิด้านที่ดินของคนตัวเล็กตัวน้อย และทำให้ข้อมูลด้านสิทธิที่ดินทางกฎหมายไม่ใช่เรื่องที่เข้าถึงยากหรือน่าเบื่ออีกต่อไป
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวเรื้อรังที่เสมือนกับมะเร็งร้ายที่เกาะกินสังคมไทยมา ยาวนานอย่างปัญหา "การคอรัปชั่น" กันบ้าง สร้างสรรค์โดยน้องๆ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานฤมิตรศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาบอกเล่าการโกง การทุจริตในสังคมไทย ผ่านนิทรรศการไว้อย่างน่าชม โดย "น้องภัทร" ภัทร เพียรถนอม ตัวแทนกลุ่ม บอกถึงแนวความคิดว่าที่หยิบจับเรื่องนี้มาเนื่องจากการทุจริตการคอรัปชั่นในสังคมไทย ดูเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไปเสียแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องบัตรสมาร์ทการ์ดที่ถือเป็นเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัว ก็ยังมีการทุจริตกันเกิดขึ้น ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่าบัตรสมาร์ทการ์ดที่ว่านี้ มันเป็นมากกว่าบัตรประชาชนที่สามารถเป็นได้ทั้งบัตรกดเงิน ใบขับขี่ ฯลฯ ซึ่งโครงการที่มีการจัดทำสมาร์ทการ์ดกันมา โดยใช้งบประมาณจำนวนมากนั้น เกิดเป็นคำถามว่าทำไมถึงทำได้เพียงเป็นแค่บัตรประชาชนเท่านั้น เป็นเพราะมีการทุจริตเกิดขึ้นใช่หรือไม่ เสมือนกับการเป็นการปิดหูปิดตาประชาชน
จากโจทย์ต่อการปิดหูปิดตาประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการทุริต จึงนำแนวคิดนี้มาจัดทำเป็นกล่อง 3 ใบ ที่แทนด้วยการปิดหู ปิดตา ปิดปาก โดยแต่ละกล่องมีภาพวาดเกี่ยวกับการทุจริตการคอรัปชั่นอยู่ด้านใน เสมือนกับว่าหากดูผิวเผินที่ตัวกล่อง อาจไม่รู้ว่ามีอะไร แต่เมื่อเปิดกล่องดู จะพบเรื่องราวการทุจริตการคอรัปชั่นที่น่าตกใจ
การทุจริตการคอรัปชั่นในสังคมไทย นับเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ทางเราก็สามารถทำได้เพียงการสื่อออกไปเป็นประเด็นแบบปลายเปิด เพื่อให้ผู้รับสารได้คิด เข้าใจ ที่ปัจจุบันการโกงไม่ได้มีเฉพาะการทุจริตยิบย่อยซึ่งหน้าอีกต่อไป แต่เป็นการโกงในรูปแบบเชิงนโยบาย ที่กินกันแบบมโหฬาร ซ้ำร้ายยังมีการปิดหูปิดตาประชาชนด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายยิ่งในสังคมไทย
ผลงานสื่อศิลป์สะท้อนปัญหาสังคมของน้องๆ นักศึกษาจากหลากหลายสถาบันที่ว่านี้ นับเป็นตัวอย่างหนึ่งในหลายชิ้นงาน ที่มีความมุ่งหมายสำคัญในการปลูกฝังการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเล็งเห็นถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งอย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้นเตือน และตระหนักถึง ปัญหาผ่านสื่อศิลป์ประเภทต่างๆ ที่สามารถทำเข้าใจได้โดยง่าย เพื่อจุดมุ่งหวังสำคัญที่จะทำให้สังคมเกิดความเท่าเทียมในทุกๆ ด้าน โดยสามารถติดตามผลงานน้องๆ เหล่านี้ได้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (โดยเสนอผลงานวันที่ 16 กันยายน และแสดงงานนิทรรศการตั้งแต่วันที่ 16-21 กันยายน 2557) รับรองว่าถ้าได้มาดูจะมองปัญหาสังคมไทยได้กว้างขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน