- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Monday, 15 September 2014 10:08
- Hits: 3674
นักวิชาการหนุนนายกฯออกกม.เก็บภาษีที่ดิน-มรดก ช่วยลดเหลื่อมล้ำในสังคม
นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายจะออกกฎหมายปรับปรุงการจัดเก็บภาษีว่า ตนขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีความกล้าหาญในการผลักดันร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก ให้สำเร็จภายใน 1 ปี แต่จะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่นั้น ตนมองว่ามีความเป็นไปได้ครึ่งหนึ่ง เนื่องจากเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย
นายณรงค์ กล่าวว่า การผลักดันกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลใดทำได้ เพราะต้องยอมรับว่าการเมืองไทยอยู่ในมือของคนรวย ถ้าออกเป็นกฎหมายจะมีผลกระทบต่อ ส.ส. นายทุนพรรค เจ้าขุนมูลนายที่ร่ำรวย ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อกันทั้งสิ้น จึงไม่มีรัฐบาลใดกล้าทำ และเมื่อ สนช.ส่วนใหญ่เป็นคนที่ร่ำรวยตรงจุดนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่ก็อาจเป็นไปได้หากคนใน สนช.คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมเสียสละ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 50-60 ครอบครัว
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องการจัดเก็บภาษีมรดกนั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างยิ่ง ไม่ใช่ทำเพราะให้รัฐได้เงินเพิ่ม แต่ควรทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม คนบางคนเกิดมาบนกองเงินกองทองไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องเสียภาษี ใช้เงินมรดกอย่างเดียว ซึ่งเมื่อเทียบกับคนงานที่ทำงานกว่า 80% ของการใช้ชีวิต ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง การจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดกเหล่านี้ เป็นข้อดี ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม จะมีการปฏิรูปที่ดิน คนที่มีที่ดินมากก็เริ่มคิดว่าเป็นภาระ และคิดที่จะขาย ที่ดินก็มีราคาถูกขึ้น เป็นกลไกให้เกิดการกระจายกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และจากที่ดินว่างเปล่าก็จะมีการใช้ทำประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน เงินภาษีที่ได้ รัฐก็นำไปจัดทำสวัสดิการให้แก่คนที่มีความจำเป็นด้านต่างๆ ทั้งคนพิการ คนแก่ และเยาวชน โดยมีเบี้ยเลี้ยงให้ มีบริการรักษาพยาบาลฟรี และการศึกษาฟรี รวมทั้งพัฒนาด้านสาธารณประโยชน์และสาธารณูปโภค เพื่อให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้น
"ไม่สำคัญว่าจะเก็บภาษีมากหรือน้อย เพราะเป็นรายละเอียดที่ต้องศึกษา ปรับปรุงกันต่อไป วันนี้ขอแค่ได้เริ่มนับ 1 ก็ถือว่าดีแล้ว ที่ผ่านมาไม่เคยมีจุดเริ่มต้นจากรัฐบาลที่มี ส.ส. แต่เริ่มได้ที่มี คสช.เพราะมีอำนาจ ที่ต้องใช้ในทางที่ถูกให้เกิดประโยชน์ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ มองว่าขณะนี้มีความเป็นไปได้ 50 - 50 เพราะขึ้นอยู่กับ สนช.ด้วย จึงขอฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลชุดนี้ ผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ได้จริงตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ด้วย" นายณรงค์ กล่าว
ปัจจุบันมีผู้เสียภาษีทางตรงที่มาจากรายได้ จำนวน 8 ล้านคน แต่ที่ส่งแบบฟอร์มจ่ายจริงมีเพียง 2 ล้านคน ส่วนมาตรการการลงโทษคนที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีและผู้ที่ให้การสนับสนุนนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่รัฐบาลจะต้องเพิ่มบทลงโทษ โดยปรับให้สูงขึ้นเป็น 10 เท่าตัว พร้อมกับการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนมีหน้าที่และรับผิดชอบต่อการเสียภาษี ไม่สร้างค่านิยมที่ผิดในการหลบเลี่ยง โดยเริ่มตั้งแต่การเรียนการสอนในชั้นประถมให้ตระหนักรู้ว่าหากไม่เสียภาษีจะไม่มีสะพานข้ามถนน ไม่มีสวนสาธารณะให้วิ่งเล่น ซึ่งการเสียภาษีก็เหมือนกับการจ้างรัฐให้มาอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ ให้เราแทน
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ขอเสนอให้รัฐบาล ออกกฎหมายให้ประชาชนทุกคนกรอกแบบฟอร์มรายได้เพื่อการจัดเก็บเสียภาษี เพราะมีพ่อค้า-แม่ค้า และผู้ประกอบกิจการอิสระหลายรายที่ไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่มีรายได้เดือนละเป็นแสน โดยเห็นว่าการจะขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น จะต้องเก็บภาษีให้ครอบคลุมกับกลุ่มคนที่มีรายได้สูงทุกประเภท ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องทำให้เงินในกระเป๋าของประชาชนมีมากขึ้น เพราะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจและชี้วัดค่าจีดีพี การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งต้องทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาถูก โดยเริ่มจากการลดปัญหาต้นทุนที่ส่วนใหญ่ต้องสูญเสียไปกับค่าพลังงานที่มีราคาแพง รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการปัญหาพลังงานอย่างเร่งด่วน ด้วยการลดราคา ตัดการผูกขาดและเพิ่มปริมาณการผลิต รวมทั้งหามาตรการควบคุมไม่ให้มีการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยด้วย
อินโฟเควสท์
คาดภาษีมรดกคลอดไม่ทันปีนี้สรรพากรวืดรายได้ 1.5 แสนล.
ไทยโพสต์ : หัวหิน * สรรพากรแจงภาษีมรดกอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของ กฤษฎีกา คาดเสร็จไม่ทันปีนี้ ยอม รับเป็นรายได้พลาดเป้า 1.5 แสน ล้านบาท สศค.รุกหารือ "สมหมาย" หาข้อสรุปเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า รายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากกำลังตรวจสอบเป็น รายมาตราอย่างละเอียดรอบ คอบ และคงต้องใช้เวลาพิจารณาค่อนข้างนาน คาดว่าจะไม่สามารถ ประกาศใช้ได้ทันในปีนี้
ทั้งนี้ คสช.ได้ให้นโยบายว่าต้องจัดเก็บจากผู้ที่มีรายได้สูงมาก เพื่อนำมาช่วยเหลือสังคม และไม่ให้กระทบกับชนชั้นกลาง โดยจะเป็นการเก็บจากผู้รับมรดก ไม่ใช่เก็บจากกองมรดก ซึ่งหากยังไม่มีการโอน จะไม่มีการเก็บภาษี โดยจะเป็นการเก็บครั้งเดียวและอัตราเดียว ส่วนผู้ที่หลีกเลี่ยงภาษี จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายรัษฎากร
นายประสงค์ กล่าวว่า การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2557 ของกรมสรรพากร จะต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 1.5 แสนล้านบาท จากเป้าหมายที่ 1.86 ล้านล้านบาท ซึ่งรายได้ที่หายไป เกิดจากการปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 7 ขั้น เหลือ 5 ขั้น ทำให้รายได้หายไป 4 หมื่นล้านบาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก 1 หมื่นล้านบาท และการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า ขณะที่การจัดเก็บในปี 2558 ตั้งไว้ที่ 1.96 ล้านล้านบาท เชื่อว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย โดยวันที่ 15 ก.ย.2557 จะเข้าพบนายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง เพื่อขอรับฟังนโยบายให้กรมดำเนินการในเรื่องใดบ้าง รวมถึงการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ตรึงออกไปในอัตรา 7% และจะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2558
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐ กิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค. เตรียมหารือกับนายสมหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งอัตราและเพดานการจัดเก็บ รวมถึงประเภทของการจัดเก็บภาษีดังกล่าว แต่ยังคงไม่เก็บภาษีเต็มเพดาน เนื่องจาก รมว.คลังได้แนะให้จัดเก็บภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากนัก
ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งเป็น 3 อัตรา เริ่มจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ เก็บในอัตราไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมินที่ดิน, ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย เก็บในอัตรา 0.1% และสุดท้ายที่ดินเพื่อการเกษตร เก็บในอัตราไม่เกิน 0.05% ส่วนที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ จะเรียกเก็บในอัตรา 0.05% หากยังไม่ใช้ประโยชน์ติดต่อกัน ให้เพิ่มภาษีอีก 1 เท่าในทุก 3 ปี แต่ต้องไม่เกิน 2% ของราคาประเมิน.