- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Saturday, 12 May 2018 20:49
- Hits: 5238
ทำไม!!!...ธุรกิจสมัยนี้... ถึงต้อง Lean Start-Up
โดย ดร.กุลบุตร โกเมนกุล รองคณบดี ฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติ และ อาจารย์ประจำสาขาการเงินและการลงทุน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต
การลงมือทำธุรกิจใหม่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีขนาดเล็ก หรือ ธุรกิจขนาดใหญ่แค่ไหนก็ตาม ล้วนพบเจอสถานการณ์หลักๆ อยู่แค่ 2 ประเภท คือ ประสบกับความสำเร็จ หรือ ไม่ก็พบกับความล้มเหลว โดยงานวิจัยจาก Harvard Business School ได้แสดงข้อมูลทางสถิติที่สำคัญเอาไว้ว่า ‘75% ของธุรกิจ Start-up นั้นจะพบกับความล้มเหลว’ ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สูตรสำเร็จในการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม มีลักษณะที่ค่อนข้างที่จะตายตัว คือ เริ่มต้นจากการเขียนแผนธุรกิจ (Business Plan) พยายามหาหลักฐาน แสดงข้อมูลถึงปัญหาต่างๆที่พบเจอ และ วิธีแนวทางแก้ปัญหา เพื่อจะแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการทำธุรกิจ แล้วก็เขียนสมมติฐานต่างๆ
โดยนำเอาเครื่องมือ ‘Business ModelCanvas’ มาใช้เป็นตารางกรอกข้อมูล จำลองสถานการณ์ หลังจากนั้นก็จะวิเคราะห์ทรัพยากรบริษัท แหล่งพันธมิตร แหล่งวัตถุดิบ กิจกรรมต่างๆ โครงสร้างต้นทุน รายได้ ความสัมพันธ์ลูกค้า ช่องทางการขาย แล้วเติมมันลงไปใน 9 ช่อง เป็นตาราง 1 หน้ากระดาษ พร้อมทั้งทำการพยากรณ์ยอดขาย กำไร และ กระแสเงินสด ในอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นรูปแบบรายงาน เพื่อนำเสนอแผนธุรกิจนี้ต่อหน้าทีมบริหาร มากกว่านักลงทุน ซึ่งวิธีการนี้ ก็ยังสามารถใช้ได้ในการตั้งธุรกิจทั่วๆไป เพราะเป็นการมองให้เราเห็น ทรัพยากรที่เรามี การสร้างคุณค่าหลัก การนำเสนอขายสินค้าและบริการ
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คำว่า’Lean Start-up’ ได้เกิดเป็นหลักวิชาที่นิยมมากขึ้นในแวดวงการทำธุรกิจ Start-up เพราะ ธุรกิจ Start-up นั้นมีลักษณะธุรกิจที่ต้องอาศัยการทดสอบตัวเองอย่างง่ายก่อน ไม่ได้คิดจากผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายเพราะผู้บริโภคเองก็มักจะยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ธุรกิจ Start-up จึงต้องทำต้นแบบอย่างง่ายขึ้นมาก่อนแล้วรีบนำเสนอขายแนวคิดและต้นแบบอย่างหนักให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ จนทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นถึงความสำเร็จในตัวธุรกิจ ก็จะได้รับเงินลงทุนจากเหล่านักลงทุนมาทำธุรกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าธุรกิจ Start-up นั้นแตกต่างจากธุรกิจทั่วไปเป็นอย่างมาก ดังนั้นเครื่องมือที่ ‘Lean Start-up”’ชอบใช้ก็คือ Lean Canvas (ซึ่งต่างจาก Business ModelCanvas)
สำหรับ หลักการของการทำ Lean Start-up นั้นมีหลายเทคนิค ยกตัวอย่างเช่น การ ทำ MVP หรือ Minimum Viable Product คือ การทำให้สินค้ามีคุณค่าเพียงพอที่คนจะเลือกซื้อและใช้มันตั้งแต่เริ่มผลิตในช่วงแรกหรือ ขณะที่ยังเป็นต้นแบบ (Prototype) หลังจากนั้นก็นำเอาผลตอบรับ (Feedback) ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ หรือ ไม่ต้องการ เอามาปรับปรุงเพื่อพัฒนา และ ทำแบบนี้วนซ้ำไปเรื่อยๆ โดยจะต้องทำให้ผู้ที่เลือกใช้สินค้าของเราตั้งแต่เริ่มแรกต้องยังคงใช้ ติดพัน ถูกใจกับเราต่อไปเรื่อยๆ อีกด้วย โดยเทคนิคนี้จะนำข้อเสนอแนะที่มีคุณค่ากลับมาหาเหล่าStart-up เพื่อโตไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ทะยานติดลมบน
ช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ ได้มี Start-up เกิดขึ้นมากมายซึ่งก็มีหลายธุรกิจ Start-up ที่ยังคงเดินตามกฎเกณฑ์แบบดั้งเดิม แต่สิ่งที่เราสังเกตเห็นและเรียนรู้ขึ้นมาได้มีอยู่ 5 ประการ คือ 1. แผนธุรกิจมีไว้เพื่อติดต่อลูกค้าเป็นครั้งแรก อย่าติดกับแผนธุรกิจเดิมตลอดไป เพราะ ธุรกิจ Start-up ต้องปรับเปลี่ยนแผนอย่างยืดหยุ่นตลอดเวลา การทำแผนธุรกิจที่พยากรณ์ไว้ล่วงหน้า 5 ปี ก็จะเปรียบเสมือนนวนิยาย วาดฝันซึ่งส่วนมากจะพบว่า เป็นการทำให้สิ้นเปลืองเวลา 2. มุ่งแก้ปัญหาสำคัญอันเป็นหัวใจของธุรกิจ และ อย่ามัวแต่คิดหานักลงทุนหรือ VCs (Venture Capitalists) 3. ธุรกิจStart-up จะประสบความสำเร็จยากมาก หากบริหารโดยศาสตร์การบริหารแบบองค์กรธุรกิจใหญ่ๆ 4. ธุรกิจ Start-up เน้นการหาทีมงานที่เก่งที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะโอกาสสำเร็จมันน้อยอยู่แล้ว ถ้าคนที่ร่วมดำเนินงานไม่ใช่คนเก่ง โอกาสสำเร็จแทบไม่มี 5. ธุรกิจ Start-up ต้องปรับตัวและเรียนรู้ให้ไวที่สุด พร้อมทดลองใหม่ พร้อมหาทางออกหลังจากความล้มเหลว
ทั้งนี้ การ Lean ของ ธุรกิจ Start-up มีหลักสำคัญที่ควรทราบง่ายๆ ดังนี้ ในขั้นตอนแรก แทนที่จะเสียเวลาเป็นเดือนๆกับการทำวิจัย เขียนแผนธุรกิจ ให้เราสรุปเป็นกรอบแนวคิด หรือ โครงร่างงาน (Framework) หรือ ทำโมเดล Lean Canvas หลังจากนั้น การ Lean Startup ต้องทำตัวออกนอกโครงสร้างบ้าง เพื่อที่จะพัฒนาปรับสมมติฐานของธุรกิจ หาทิศทางใหม่ๆ โดยการออกไปพูดคุยกับ ผู้ใช้ที่มีประสิทธิภาพ (Potential users) ผู้ซื้อ (Purchasers) และ หุ้นส่วน (Partners) เพื่อหาผลตอบรับ (Feedback) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ลักษณะสำคัญของบริการ หรือ ตัวสินค้า โมเดลการทำกำไร การตั้งราคา ช่องทางการจำหน่าย การเพิ่มจำนวนผู้ใช้ และ กลยุทธ์ที่จะได้มาซึ่งฐานลูกค้า ที่กล่าวมานี้ต้องทำด้วยความว่องไว
ดังนั้น หัวใจหลักสำคัญของการ Lean Start-up การทำให้ลักษณะของธุรกิจ เป็นองค์กรแบบไม่ถาวร มีความยืดหยุ่น คล่องตัว และออกแบบเพื่อที่จะค้นหารูปแบบโมเดลทางธุรกิจที่ ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และ ปรับตัวได้ไวต่อสถานการณ์ สามารถทำซ้ำได้ (repeatable) และขยายฐาน (scalable) ต่อไปได้
Click Donate Support Web