- Details
- Category: บทความทั่วไป
- Published: Thursday, 04 September 2014 22:38
- Hits: 4080
ค้าปลีกฟื้นตัว ....แต่ไม่ทั่วถึง
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองค้าปลีกฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง หลังได้แรงหนุนบางส่วนจากมาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคของภาครัฐ แต่ฟื้นไม่พร้อมกันในแต่ละหมวด
การบริโภคภาคเอกชนในปี 2557 ในไตรมาส 1 หดตัวร้อยละ 3 แต่ในไตรมาส 2 ปี 2557 พลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 แสดงถึงทิศทางการปรับตัวที่มีแนวโน้มดีขึ้น และจากการคาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จีดีพีขยายตัวร้อยละ 2 และขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4 ในปี 2558 ประกอบกับมีมาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคจาก คสช.ได้แก่ 1. ให้คงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557-30 ก.ย. 2558 2. ยืดระยะเวลาการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน 16-40 บาท ถึง ต.ค. 2557 3. ปรับอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และทบทวนการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 ส.ค. 2557 เป็นต้นไป 4. มาตรการเตรียมนำเสนอรัฐบาล ในวันที่ 5 ก.ย. 2557 ให้นำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยว มาหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจากมาตรการดังกล่าว คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ และส่งผลดีต่อภาคธุรกิจค้าปลีกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว
เมื่อพิจารณาในเรื่องของการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภค ในช่วงครึ่งปีแรก การบริโภคสินค้าไม่คงทน (Non-durable goods) หดตัวร้อยละ 0.1 (yoy) ขณะที่สินค้าคงทน (Durable goods) หดตัวถึงร้อยละ 23.1 ซึ่งจะเห็นได้ว่าสินค้าคงทนเมื่อได้รับผลกระทบจะหดตัวสูงกว่าสินค้าไม่คงทนมาก เนื่องจากสินค้าไม่คงทนหลายประเภทเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน มีราคาต่อหน่วยไม่สูง สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ขณะที่สินค้าคงทน เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง การใช้จ่ายจึงขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นและความมั่นคงของรายได้ในอนาคต และจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังตึงตัว แม้ภาวะการเมืองจะคลี่คลายลง แต่ประชาชนในภาคเกษตรยังต้องเผชิญกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำต่อเนื่อง อีกทั้ง จากที่ราคาสินค้าในกลุ่มนี้มีมูลค่าสูง ส่วนใหญ่การซื้อจึงเป็นเงินผ่อน ซึ่งภายใต้ภาวะที่หนี้ครัวเรือนสูงในปัจจุบัน ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวที่ยาวนานมากกว่าด้วย
แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง ค้าปลีกกลุ่มสินค้าไม่คงทน ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีมากขึ้น และกับพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ ที่เป็นครอบครัวขนาดเล็ก นิยมบริโภคอาหารนอกบ้าน ประกอบกับมีการขยายตัวของความเป็นเมืองไปยังภูมิภาค ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการต่างๆ และมีการเติบโตของ Modern trade และร้านสะดวกซื้อตามมา สินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ เครื่องสำอางค์ ยังคงเติบโตตามกระแสรักสุขภาพ และทางด้านค้าปลีกน้ำมันจะเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามความต้องการใช้ยานยนต์เพื่อการเดินทางและท่องเที่ยวของประชาชน ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นอำนาจซื้อของผู้บริโภค การปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ซึ่งจะช่วยให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายน้ำมันลดลง และมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น 176 บาท/คน/ปี รวมถึงมาตรการที่เตรียมนำเสนอขออนุมัติ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ที่พักและโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้อง มาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท ขณะที่นิติบุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดประชุมสัมมนา มาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายจริง
ขณะที่การค้าปลีกสินค้าคงทน ในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ จากปัจจัยการรับชมทีวีดิจิตอลและราคาสินค้าที่ลดลง ทำให้ผู้บริโภคสามารถจับจองเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ยังมีแนวโน้มทรงตัว ตามโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่ไม่มากนัก สำหรับค้าปลีกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายรถคันแรกและกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง ดังนั้น จึงคาดว่าแนวโน้มการเริ่มฟื้นตัวจะเป็นในช่วงต้นถึงกลางปี 2558