- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Sunday, 31 August 2014 20:54
- Hits: 3841
อาทิตย์เอกเขนก: 'สาลินี วังตาล' ไพ่ใบสุดท้ายคืนชีพ 'SME แบงก์'
ไทยโพสต์ : ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะถูกจับตามองเป็นพิเศษ สำหรับ "สาลินี วังตาล" ผู้ทรงคุณวุฒิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับการได้มานั่งเป็นหัวเรือใหญ่ในฐานะ "ประธานคณะกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์" นั่นเพราะที่ผ่านมา เอสเอ็มอีแบงก์มีข่าวคราวมากมาย โดยเฉพาะข่าวในเชิงลบ ทั้งเรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารกับคณะกรรมการธนาคาร การทุจริตจากการปล่อยสินเชื่อ และเรื่องต่างๆ การแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลได้ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน และสถานะของธนาคารให้ตกอยู่ในจุดต่ำสุดเท่าที่เคยก่อตั้งมา
"สาลินี" กล่าวถึงการเข้ามารับตำแหน่งสำคัญในครั้งนี้ ว่า "การเข้ามาในจุดนี้ไม่ได้สร้างความหนักใจ หรือทำให้หนักใจอะไร เพราะถ้าหนักใจหรือกังวลก็คงไม่กระโดดเข้ามารับหน้าที่ในส่วนนี้ เพราะก่อนหน้านี้ที่อยู่ ธปท.ก็เคยทำงานแนวๆ นี้มาก่อนอยู่แล้ว และก็เคยเห็นตัวเลขทั้งหมดของเอสเอ็มอีแบงก์มาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ได้"
นอกจากนี้ "สาลินี" ยังระบุอีกว่า ไม่ได้รู้สึกกังวลว่าการเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ จะถูกจับตาจากสังคมอย่างมาก ด้วยเพราะความที่เอสเอ็มอีแบงก์จัดเป็น 1 ในรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลทั้งหมด 56 แห่ง ซึ่งมีบทบาทหน้าที่และปัญหาแตกต่างกันไป การแก้ปัญหาของแต่ละแห่งก็ต้องเดินหน้าไปตามปัจจัยพื้นฐานที่เป็นอยู่
ทั้งนี้ เพราะโดยศักยภาพของเอสเอ็มอีแบงก์แล้ว ยังมีความสามารถที่จะหารายได้โดยตัวเอง เพราะมีหน่วยงานที่ยังมีกำลังเพียงพอที่จะทำในส่วนนี้อยู่ โดยกำลังสำคัญดังกล่าวนั่นคือ "สาขา" ที่กระจายอยู่ตาม 5 ภูมิภาค 18 เขต 95 สาขา ซึ่งเป็นกำลังหลักในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งก็คือรายได้ของธนาคาร และเท่าที่ได้สำรวจข้อมูลในเบื้องต้นแล้วพบว่า พนักงานที่ประจำอยู่ตามสาขาของธนาคารส่วนใหญ่มีความรู้และความเข้าใจเรื่องสินเชื่อเป็นอย่างดี
สำหรับ ประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่า "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)" ดึงมือดีจาก ธปท.อย่าง "สาลินี" ให้มานั่งแท่นดูแลงานฟื้นฟูในส่วนนี้ ถือเป็น "ไพ่ใบสุดท้าย" เพราะที่ผ่านมายังไม่มีใครที่สามารถเข้ามาสะสางปัญหาของเอสเอ็มอีแบงก์ที่สะสมมาเป็นเวลานานได้เลย โดย "สาลินี" ยืนยันว่า "คสช.เลือกไพ่ได้ถูกใบแล้ว และต้องขอบคุณที่มองเห็นความสามารถของตนเอง และก็มั่นใจในตัวเองด้วยว่าจะสามารถแก้ปัญหาครั้งนี้ได้สำเร็จ โดยอาศัยกลไกหลักในการดำเนินการคือ การปล่อยสินเชื่อเพิ่ม ซึ่งจากปัจจัยพื้นฐานที่ได้พิจารณาในเบื้องต้น ก็เห็นและยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า "เอส เอ็มอีแบงก์" ยังมีศักยภาพในด้านนี้อยู่เต็มที่
และทันทีที่ "สาลินี" เข้ารับตำแหน่ง ก็เดินหน้าแก้ปัญหาของเอสเอ็มอีแบงก์ทันที โดยได้เข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเสนอแผนฟื้นฟูธนาคารฉบับใหม่ให้พิจารณา ซึ่งได้มีการยืนยันในแผนดังกล่าวชัดเจนว่า "เอสเอ็มอีแบงก์" มีแผนในการบริหารจัดการหนี้เสียที่มีอยู่จำนวนสูงถึง 3.4 หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อรวมที่ 8.8 หมื่นล้านบาท ด้วยการเร่งตัดหลักประกันหนี้เสียที่เกิดขึ้นจำนวน 2 หมื่นล้านบาทขายทอดตลาด ซึ่งหลักประกันส่วนใหญ่เป็นที่ดิน ซึ่งน่าจะได้รับความสนใจจากตลาดเป็นอย่างดี และตามปัจจัยดังกล่าวหากแผนการตัดหนี้เสียสำเร็จ ทำให้เอสเอ็มอีแบงก์ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องเบิกเงินเพิ่มทุนจำนวน 2 พันล้านบาทจากกระทรวงการคลัง
"สาลินี" ชี้ให้เห็นว่า เรามีแผนฟื้นฟูที่ชัดเจน มีการดำเนินงานเป็นขั้นเป็นตอน โดยในขั้นแรก สคร.ได้สั่งให้เรากลับไปทำกระบวนการสำรวจทรัพย์สิน (ดิวดิลิเจนต์) ให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยในชั้นนี้เพื่อให้ 1.ทราบสถานภาพ รวมการปล่อยสินเชื่อในปัจจุบัน 2.การประมาณการผลประกอบการ กำไรสุทธิ และงบดุลของธนาคารในช่วง 1 ปี และ 3.เพื่อทราบกระบวนการทำ งานของธนาคาร ตั้งแต่การวิเคราะห์สินเชื่อ การอนุมัติสินเชื่อ การเบิกจ่าย การติดตามดูแลลูกค้า การดูแลหนี้เสีย เป็นต้น ซึ่งเราก็เห็นด้วยในส่วนนี้ เพราะกระบวนการดังกล่าวก็อยู่ในแผนฟื้นฟูที่เราจะต้องเร่งดำเนินการอยู่แล้ว
รวมถึงต้องปรับปรุงกระบวนการให้สินเชื่อใหม่ เพราะของเดิมใช้เวลานานกว่า 1 เดือน โดยของใหม่ต้องการให้ลดระยะเวลาเหลือไม่เกิน 15 วัน ดังนั้น เราต้องมาให้ความสำคัญในเรื่องของ "คน" ที่จะปฏิบัติงานให้มากขึ้น
ปัจจุบัน เอสเอ็มอีแบงก์มีพนักงานอยู่ทั้งสิ้น 1.6 พันคน โดยในหลักคิดของ "สาลินี" แล้ว มองว่าจำนวนพนักงานดังกล่าวเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มจำนวนคนให้มากขึ้น แต่ต้องบริหารคนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นมากกว่า โดยอาจต้องมีการเกลี่ยคนที่ทำงานด้านสนับสนุนในออฟฟิศออกไปทำงานด้านสินเชื่อมากขึ้น เน้นทำงานเชิงรุกมากขึ้น และปรับปรุงกระบวนการด้านออฟฟิศให้มีกระบวนการน้อยลง เพื่อจะได้มีโอกาสดึงคนออกไปทำงานข้างนอกมากขึ้น และต้องพัฒนาคนเหล่านี้ให้มีความเข้าใจงานด้านสินเชื่อด้วย
ส่วนความไม่โปร่งใสที่เป็นชื่อเสียของเอสเอ็มอีแบงก์นั้น "สาลินี" ไม่ละเลยส่วนนี้ โดยยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นที่แก้ยากอะไร โดยเราจะมีการจัดนโยบายสินเชื่อใหม่ ปรับกระบวนการวิเคราะห์ และอนุมัติสินเชื่อใหม่ให้มีความรัดกุมและรอบคอบมากขึ้น
"สาลินี" ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การฟื้นฟูธนาคารในขณะนี้อยากเน้นไปที่การดำเนินงานให้เป็นขั้นเป็นตอนไปก่อน ดีกว่าจะมีการปรับโครงสร้างผู้บริหาร นั่นเพราะเรายืนยันชัดเจนว่ามีนโยบายจะดูแลหนี้เสียด้วยการตัดขาย และขยายสินเชื่อดีให้เพิ่มมากขึ้น และการจะทำ 2 สิ่งนี้ได้ต้องปรับกระบวนการทำงานก่อน ถ้าโครงสร้างธนาคารไม่เหมาะสมกับการทำ 2 สิ่งนี้ให้ดีก็ค่อยมาปรับแก้ไขกันไป แต่คงไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็คิดปรับนั่นปรับนี่ เพราะจะทำให้มันกระเพื่อมไปโดยใช่เหตุ เราอยากให้งานของเราเดินหน้าไปก่อนมากกว่า แล้วระยะต่อไปค่อยมาคิดเรื่องปรับโครงสร้างผู้บริหารทีหลัง
ส่วนกระแสข่าวเชิงลบกับธนาคารนั้น เป็นเรื่องที่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ยาก เพราะธนาคารไม่เคยให้ข่าวเอง เป็นข่าวมาจากส่วนอื่นๆ มากกว่า เอสเอ็มอีแบงก์ทำได้ดีที่สุดก็คือ การยืนยันเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของลูกค้าและประชาชนกลับมา นั่นคืองานหลักของ "เรา".