- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Thursday, 30 November 2017 19:12
- Hits: 9835
ธุรกิจอีเพย์เมนท์ ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ยิ่งบริการอีเพย์เมนท์มีความสะดวก ความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือมากเพียงใด ยิ่งส่งผลต่อความไว้วางใจของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซมากเท่านั้น
ล่าสุด บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น 'Priceza'เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) อันดับหนึ่งของประเทศ จึงได้จัดงาน 'Priceza E-Commerce Awards 2017' ภายใต้แนวคิด 'The Next Episode'พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ 'E-Payment – Present & Future'เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการติดอาวุธผู้ประกอบการให้รับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และปรับตัวรับมือได้ทันท่วงที
นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น Priceza กล่าวว่า อัตราการซื้อ (Sale Conversion Rate) ของ Priceza ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.60) อยู่ที่ 2.81% เติบโตขึ้นจากปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 1.72% หรือ คิดเป็นอัตราเติบโตประมาณ 63% สะท้อนว่าผู้ที่เข้าเว็บไซต์มาค้นหาสินค้า มีโอกาสเปลี่ยนมาเป็น 'ผู้ซื้อ' เพิ่มขึ้น
“จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ค้นหาข้อมูลทั่วไปกลายสภาพมาเป็นผู้ซื้อ คือเรื่องอีเพย์เมนท์ วันนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภาคการเงินการธนาคาร ต่างเข้าสู่สนามอีเพย์เมนท์ ช่วยกันพัฒนาบริการที่สะดวก ปลอดภัย ใช้งานง่าย มาผูกกับบริการอีคอมเมิร์ซ มีความพยายามแก้ไขกฎหมาย วางโครงสร้างต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างสะดวกขึ้น หากสนามอีเพย์เมนท์ยังเติบโตไปได้ด้วยดี ผู้บริโภคก็มีความไว้วางใจในการใช้จ่ายมากขึ้น อัตราการซื้อในปีหน้าก็มีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายธนาวัฒน์ กล่าว
นายสมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการ PayPal ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจของ PayPal เกี่ยวกับช่องทางการจ่ายเงินของผู้บริโภคในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก พบว่า ค่าเฉลี่ยของคนทั้งเอเชียยังคงใช้เงินสดในการชำระเงินอยู่ที่ประมาณ 57% โดยไทยใช้เงินสดในการชำระเงินอยู่ที่ประมาณ 70% ขณะที่จีนเป็นประเทศที่ใช้เงินสดในการชำระเงินน้อยที่สุด โดยมีผู้ใช้เงินสดเพียงราว 25% เท่านั้น
“เมื่อก่อนจีนเองเป็นประเทศที่ใช้เงินสดในการชำระเงินค่อนข้างมาก รวมถึงเวลาการซื้อของผ่านออนไลน์ก็นิยมชำระค่าสินค้าปลายทาง หรือ Cash On Delivery หรือ COD แต่มาวันนี้จีนเดินทางมาถึงจุดที่ใช้เงินสดเพียง 25% ไทยเองก็มีแนวโน้มที่จะชำระค่าสินค้าปลายทางน้อยลงไปในทิศทางเดียวกับจีน” นายสมหวัง กล่าว
ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้แนวโน้มการชำระเงินแบบ COD ลดลง เพราะปัจจุบันมีผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายกลางและรายย่อยเกิดขึ้นจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มโซเชียล คอมเมิร์ซ ที่ขายของผ่านช่องทางเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม การชำระเงินแบบ COD ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูง ไม่คุ้มค่า การชำระเงินล่วงหน้าผ่านอีเพย์เมนท์จึงเป็นทางเลือกที่ผู้ประกอบการรายย่อยให้ความสำคัญ
ขณะเดียวกัน วิธีการชำระเงินแบบใหม่ๆ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น e-Wallet, Contactless payment, ลงทะเบียนบัตรเครดิต, ลงทะเบียนบัญชีธนาคาร คล้ายๆ In-app purchase สตาร์ทอัพใหม่ๆ พยายามหาวิธีแบบนี้เข้ามา เพราะการรอพนักงานไปเก็บเงินค่อนข้างยุ่งยาก การมีพร้อมเพย์เองก็ทำให้มีวิธีชำระเงินมากขึ้น เช่น ทำให้เกิด QR Code มาช่วยในการทำธุรกรรมทางการเงิน
ด้านนายสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด (KBTG) กล่าวว่า พร้อมเพย์จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกแวดวงอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้จ่ายข้ามธนาคารและข้ามระหว่าง e-Wallet ในต้นปี 2561 พร้อมเพย์กำลังจะมีฟีเจอร์ใหม่ เรียกว่า 'Request to Pay' ให้ผู้ประกอบการแจ้งไปยังอีกฝ่ายที่มีโมบาย แบงกิ้ง ให้ดำเนินการยืนยันจ่ายเงินได้ เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ และนำไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)
“การชำระเงินด้วยเงินสด นำมาซึ่งต้นทุนมหาศาลให้ประเทศ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับเงินสดมีจำนวนมาก ร้านค้าได้เงินสดมาต้องมานับเงิน ต้องนำเงินไปฝากธนาคาร ธนาคารก็ต้องนับอีกรอบ แล้วนำไปเข้าศูนย์เงินสดของธนาคาร จากนั้นธนาคารก็มานับใหม่ ไปเข้าธนาคารแห่งประเทศไทย ไปทำลาย แล้วผลิตแบงค์ใหม่ แล้วธนาคารก็ต้องนำเงินไปไว้ตามตู้เอทีเอ็ม ต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดในประเทศค่อนข้างมโหฬาร ถ้าประเทศไทยกลายเป็นสังคมไร้เงินสด ก็จะมีต้นทุนการทำธุรกิจต่ำลง” นายสมคิด กล่าว
ทั้งนี้ AI และ Machine Learning กำลังเป็นสิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูว่าผู้ซื้อสนใจซื้อสินค้าประเภทไหน มีพฤติกรรมอย่างไร เพื่อเอาไว้ใช้หาคนที่มีพฤติกรรมคล้ายๆ กัน และมีโอกาสซื้อสินค้า
ด้านนายกิติพงศ์ มุตตามระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด กล่าวว่า อีเพย์เมนท์เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ เพราะต่อให้สินค้าดี โลจิสติกส์ดี แต่ถ้าบริการการจ่ายเงินไม่ดี ผู้บริโภคก็อาจเลือกไม่ใช้บริการเว็บไซต์หรืออีคอมเมิร์ซเจ้านั้นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจึงต้องใส่ใจเลือกอีเพย์เมนท์ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค
ทั้งนี้ เชื่อว่าในเร็วๆ นี้จะเห็นความร่วมมือระหว่าง 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ประกอบการ e-Wallet, ธนาคาร และฟินเทค ในการจัดทำแพ็คเกจที่ครบถ้วน ตอบโจทย์ความต้องการอีเพย์เมนท์ของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซและผู้บริโภค
ด้านนายศุภวิทย์ หงส์อมรสิน ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ประจำประเทศไทย บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ถ้าต้องการให้เกิดสังคมไร้เงินสดเกิดขึ้น โครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตมีส่วนสำคัญมาก อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวโน้มมั่นใจในการใช้บริการอีเพย์เมนท์มากขึ้น