- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Monday, 20 November 2017 07:23
- Hits: 10891
นักเศรษฐศาสตร์ มองศก.ไทยแข็งนอก อ่อนใน-โตแบบกระจุกตัว ห่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำนาน
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวในงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2561 ‘เอสเอ็มอีไทย ก้าวไปกับไทยแลนด์ 4.0’ ว่า หากเปรียบเทียบลักษณะของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเปรียบได้กับ "ทุเรียน" คือ แข็งนอก อ่อนใน
กล่าวคือ 'แข็งนอก'นั้น เป็นเศรษฐกิจที่เติบโตได้จากปัจจัยภายนอกที่เศรษฐกิจต่างประเทศเริ่มฟื้นตัวและมีความเข้มแข็งขึ้น จึงส่งผลดีมายังภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยทำให้มีการสร้างรายได้เข้าประเทศมากขึ้น ในขณะที่ ‘อ่อนใน’ นั้น จะเห็นได้ว่าอุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ เพราะการบริโภคยังไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก ประชาชนยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากยังไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเมื่อมีรายได้เข้ามาก็จะนำไปใช้หนี้ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วจึงค่อยนำเงินออกไปใช้จ่าย
นายอมรเทพ กล่าวว่า ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่เห็นได้ชัด คือ การส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตได้ 8-9% ซึ่งการเติบโตในระดับนี้ต้องอาศัยทั้งความโชคดี และความเก่งควบคู่กันไป โดยสิ่งที่ทำให้การส่งออกในปีนี้โชคดี คือ ผลพวงจากสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน ปิโตรเลียม ตลอดจนสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานที่มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลก อย่างไรก็ดี การส่งออกที่เติบโตได้ในระดับดังกล่าวถือว่ายังต่ำสุดเมื่อเทียบกับในภูมิภาคด้วยกัน พร้อมมองว่าการส่งออกในปีหน้าอาจจะไม่เติบโตได้มากในระดับเดียวกับปีนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเริ่มทรงตัว ไม่ขยับขึ้นมากนัก
ทั้งนี้ สิ่งที่อยากให้จับตา คือ การส่งออกที่จะเติบโตขึ้นนั้นจะสามารถสร้างอานิสงส์ให้กับอุปสงค์ในประเทศได้มากน้อยเพียงใด เช่น การบริโภคที่เพิ่มขึ้น การลงทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในเบื้องต้นมองว่าแนวโน้มการลงทุนจะเริ่มกลับมาในช่วงปลายปีนี้ถึงปีหน้า เนื่องจากเห็นสัญญาณการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ ในขณะที่การส่งออกอาจจะไม่ได้เติบโตไปมากกว่าปีนี้เท่าใดนัก
นายอมรเทพ ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยยังมีลักษณะรวยกระจุก และจนกระจาย โดยพบว่ามีประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ คือ คนไม่นำเงินออกไปจับจ่ายใช้สอย เพราะไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจในอนาคต และต้องการเก็บเงินไว้ก่อน ซึ่งเมื่อทุกคนมีการออมเงินพร้อมๆ กัน ก็จะทำให้เม็ดเงินไม่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เห็นภาพว่าการบริโภคของประชาชนระดับล่างถึงระดับกลางจึงไม่ค่อยมีมากนัก ในขณะที่การบริโภคของประชาชนในระดับบนยังเป็นไปตามปกติ
"ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ธุรกิจ SMEs มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มประชาชนในระดับล่างมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่นั้น จึงทำให้เมื่อกลุ่มคนระดับล่างไม่มีการจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจ SMEs จึงย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่" นายอมรเทพ กล่าว
นายอมรเทพ ยังกล่าวด้วยว่าจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน มีโอกาสที่จะเป็นชนวนให้เกิดวิกฤติได้ เพราะจะทำให้คนต้องอยู่ในสภาวะจำยอมที่จะออกไปหาการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า แม้จะต้องมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นก็ตาม ซึ่งเมื่อใดที่คนมองว่าต้องอยู่ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน และยังไม่เห็นสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นนั้นจะถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง
สำหรับ อัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศนั้น มองว่า จะเริ่มเห็นสัญญาณของดอกเบี้ยขาขึ้นตั้งแต่กลางปี 61 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้น่าจะมีความชัดเจนได้ในช่วงปลายปี โดยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะมีการพิจารณาเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงนั้น ซึ่งเมื่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเริ่มขยับขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนในปีหน้านั้น มองว่าเงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากในปีนี้ไม่มากนัก ซึ่งภาคธุรกิจ SMEs จะต้องมีความระมัดระวังกับความผันผวนของค่าเงินที่เชื่อว่าในปีหน้าจะมีความผันผวนมากกว่าปีนี้ จากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในต่างประเทศที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น อิตาลี กัมพูชา มาเลเซีย รวมทั้งในไทยเองด้วย ดังนั้น SMEs จึงจำเป็นต้องหาวิธีบริหารความเสี่ยงทางการเงินและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เหมาะสมกับธุรกิจ
ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เป็น 3 แบบ คือ 1.แบบแข็งนอกอ่อนใน โดยเป็นการเติบโตเฉพาะการส่งออกและท่องเที่ยว 2.แบบแข็งบนอ่อนล่าง ความเข้มแข็งเกิดขึ้นเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ 3.แบบกระจุกตัว เฉพาะในภาคส่งออกและท่องเที่ยว
ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยที่จะปรับลดลงในอนาคตอาจไม่มีให้เห็นแล้ว เพราะปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่คาดไว้ ทำให้การพิจารณาต้องดูปัจจัยภายนอก ได้แก่ ทิศทางการปรับดอกเบี้ยของเฟด คาดว่าแนวโน้มดอกเบี้ยปีหน้าจะอยู่ในภาวะทรงตัว และอาจปรับขึ้นในช่วงปลายปี
ส่วนสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ เนื่องจากมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามามาก และดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน
สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น ได้แก่ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร, ความผันผวนราคาสินทรัพย์, การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินของธนาคารกลางใหญ่, นโยบายการค้าของประเทศใหญ่ และการเมืองระหว่างประเทศ
ด้านปัจจัยเสี่ยงระยะยาว ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนของประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง อาจส่งผลต่อการจัดรัฐสวัสดิการในอนาคต เนื่องจากสัดส่วนของผู้รับสวัสดิการมีเพิ่มขึ้น
ขณะที่นายชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก กล่าวว่า ปัญหาการเติบโตแบบกระจุกตัวจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่จะขยายตัวได้ดีกว่า ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกชะลอตัวจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเพราะทำให้กำลังซื้อลดลง
ปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น ได้แก่ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านมีพัฒนาการขึ้นมาเกือบทัดเทียม ส่วนในระยะกลางนั้นเป็นเรื่องการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องรอดูว่าจะเกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าหรือไม่