- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Thursday, 19 October 2017 18:21
- Hits: 13525
PwC แนะผู้ประกอบการ-ผู้เสียภาษีเตรียมรับมือผลกระทบ หลังไทยยกเครื่องปรับโครงสร้างภาษีหลายด้าน
PwC ประเทศไทย ชี้แนวทางการจัดเก็บภาษีของไทยและต่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงไป หลังหน่วยงานรัฐปรับโครงสร้างภาษี อาทิ การนำระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับและตรวจสอบมาใช้ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ รวมทั้งการประยุกต์ใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและการเสียอากรขาเข้าของสินค้า อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ-การตรวจสอบภาษีเข้มข้นขึ้น แนะผู้ประกอบการและผู้เสียภาษีศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจกฎระเบียบใหม่ เพื่อเตรียมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นาย สมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโส และกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand Symposium 2017 ในหัวข้อ’รู้ทันการเปลี่ยนแปลง เตรียมตัวรับมือผลกระทบจากกฎหมายและภาษีอากรที่เปลี่ยนไป’ (Dealing with disruption – Gearing up for change) ว่า ปัจจุบันแนวทางการจัดเก็บภาษีทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตในหลายด้าน อาทิ การที่ไทยเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกโครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) การประกาศใช้กฎหมายเพิ่มเติมสำคัญ 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและการเสียอากรขาเข้าของสินค้า รวมไปถึง กฎระเบียบและข้อบังคับใหม่ๆ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และ การที่กรมสรรพากรนำระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับและตรวจสอบ (Risk-Based Audit: RBA)มาใช้ในการตรวจสอบภาษี ซึ่งผู้เสียภาษีต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่อาจจะส่งผลกระทบต่อตัวธุรกิจและผู้เสียภาษีเองได้
"ในปีนี้แนวทางการจัดเก็บภาษีทั้งในและนอกประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ภาคธุรกิจจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ๆ รวมไปถึงการตรวจสอบที่เข้มงวดและเคร่งครัดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ" นาย สมบูรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไทยได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิก (Associate Member) โครงการป้องกันการถูกกัดกร่อนฐานภาษีและการโอนกำไรไปต่างประเทศ (BEPS) ภายใต้กรอบความร่วมมือ (Inclusive Framework) จึงทำให้ไทยมีข้อผูกมัดต้องรับหลักการในแผนปฏิบัติการที่นำเสนอโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) อย่างน้อย 4 หลักการมาใช้บังคับ ประกอบด้วย การป้องกันการใช้อนุสัญญาภาษีซ้อนในทางที่ไม่ถูกต้อง (The Prevention of Treaty Abuse) การจัดทำรายงานระหว่างประเทศ (Country-by-Country Reporting: CbCR) มาตรการการตอบโต้ (Harmful Tax Practices) และมาตรการปรับปรุงข้อโต้แย้งระหว่างประเทศ (Dispute Resolution) ซึ่งการปรับใช้ Comprehensive BEPS Package ทั้ง 4 แผนปฏิบัติการนี้ ก็เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยกฎหมายภายในของไทยเองต้องมีการถูกตรวจสอบหรือตรวจทานจากประเทศสมาชิกอื่นก่อนด้วยว่า มีความพร้อมเพียงพอหรือไม่ในการที่จะรับหลักการตามแผนปฏิบัติการทั้ง 4 ของ OECD มาปรับใช้
อย่างไรก็ดี การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวยังนำมาสู่การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวข้อง ซึ่งภายในเดือนเดียวกัน กรมสรรพากรได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเรื่อง มาตรการการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันมาใช้บังคับ โดยเนื้อหาสาระในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้กำหนดให้บริษัทข้ามชาติที่มีการทำธุรกรรมกับบริษัทในกลุ่มในเครือจะต้องเตรียมพร้อมในการจัดทำเอกสารกำหนดราคาโอนเพื่อนำส่งกรมสรรพากร ซึ่งจะทำให้ผู้เสียภาษีมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้น โดย PwC คาดว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้
ดังนั้น จึงจำเป็นที่ผู้เสียภาษีต้องประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการค้าระหว่างประเทศ หรือภายในประเทศ รวมไปถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการจัดทำรายงานระหว่างประเทศ (CbCR) ที่อาจกระทบต่อผลการดำเนินงาน ภาษีในการโอนเงินกลับประเทศ หรือโอนจากบริษัทเครือข่ายในต่างประเทศที่อาจสูงขึ้นจากการกำหนดสิทธิประโยชน์ตามสนธิสัญญาทางภาษี และผลกระทบที่อาจเกิดกับบริษัทที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
นอกจากนี้ ไทยยังได้มีการประกาศใช้กฎหมายเพิ่มเติมที่สำคัญอีก 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและการเสียอากรขาเข้าของสินค้าซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีนี้ โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต โดยสาระสำคัญที่มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ หลักเกณฑ์การให้สินบน การอุทธรณ์ และ การตรวจสอบภาษี รวมถึงการเปลี่ยนวิธีการคำนวณฐานภาษีสรรพสามิตรูปแบบใหม่ จากเดิมอ้างอิงราคาหน้าโรงงาน และราคา CIF ท่าเรือ มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ (Suggested Selling Price) แทนซึ่งอาจกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนของธุรกิจ
ยิ่งไปกว่านั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังได้ออกกฎเกณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนให้ประเทศเดินตามนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ในกรณีการลงทุนในโครงการอุตสาหกรรมประเภทกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย (Targeted Core Technologies) และบริการสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย (Enabling Services) ซึ่งภาคธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและกฎระเบียบเหล่านี้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับแผนการลงทุนในอนาคตของตนเองได้อย่างเหมาะสม
นอกเหนือจากแนวทางการจัดเก็บภาษีที่เปลี่ยนแปลงไปในหลากหลายมิติแล้ว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้เสียภาษีต้องเตรียมความพร้อมคือ การตรวจสอบภาษีที่จะเข้มงวดมากขึ้น หลังจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 47,853 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลได้นำระบบการคัดเลือกผู้เสียภาษีเพื่อกำกับและตรวจสอบ (RBA) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและการจัดเก็บภาษีของรัฐให้ได้มากยิ่งขึ้น โดยระบบประมวลผลดังกล่าว จะมีหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งภายในและภายนอกสรรพากรของผู้เสียภาษี ซึ่งผู้เสียภาษีที่ถูกจัดกลุ่มอยู่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยง 132 ข้อที่กรมสรรพากรได้กำหนดขึ้น อาจต้องถูกกรมสรรพากรเรียกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำการตรวจสอบภาษี
"ผู้เสียภาษีจะต้องทำความคุ้นเคยกับกฎหมายใหม่และทำความเข้าใจถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันนี้ เพราะการที่ผู้เสียภาษีมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าจะทำให้ผู้เสียภาษีสามารถปรับตัวได้ทันท่วงที เนื่องจากรู้ทันถึงปัญหา และหาแนวทางแก้ไขที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงทางภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยผู้เสียภาษีจะมีความได้เปรียบคู่แข่งทางธุรกิจที่ขาดความพร้อมหรือปรับตัวไม่ทันเมื่อกฎเกณฑ์ใหม่เริ่มถูกใช้บังคับ" นาย สมบรูณ์ กล่าวทิ้งท้าย