WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1AIจฬาBest

บัณฑิตภาควิชาการธนาคารและการเงิน จุฬาฯ คว้ารางวัล Best Student Researcher Award ระดับนานาชาติ

      นับจากอดีตมาเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง ทว่าตัวเลขผู้ส่งออกไทยที่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผ่านการใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ มีไม่มากนัก ทำให้ธุรกิจส่งออกไทยอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานานจวบจนปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจำเป็นต้องอาศัยความรู้เชิงเทคนิค ซึ่งมีความซับซ้อนมาก นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจส่งออกไทยไร้ศักยภาพในการแข่งขัน

      ปวริศ สุวรรณเพทาย บัณฑิตภาควิชาการธนาคารและการเงิน หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมการเงิน ได้ทำวิจัยและคิดค้นสูตรคำนวณหาทิศทางการปรับตัวของค่าเงิน ที่ได้รับผลกระทบจากข่าวด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยสูตรคำนวณนี้จะเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องมือที่ให้ผู้ประกอบการส่งออก สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ไม่ยากนัก ทำให้ ปวริศ ได้รับรางวัลงานวิจัยระดับนานาชาติ Best Student Researcher Award จากงานประชุม Sixth Asia-Pacific Conference on Global Business, Economics, Finance and Social Sciences

      โดยงานวิจัยดังกล่าวได้รับการเชิดชูเกียรติในงาน 'เรียง 100 ความภูมิใจ Chulalongkorn Business School ประจำปี 2560' ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้เหล่าอาจารย์และนิสิตที่ออกไปสร้างชื่อเสียงให้กับสถาบัน และสร้างสรรค์สังคมไทย

    “จริงๆ งานวิจัยชิ้นนี้ ผมศึกษาเรื่องทิศทางการปรับตัวของค่าเงินยูโร และดอลลาร์ หลังการประกาศข่าวเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยใช้ข่าวการขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ เป็นตัวสะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งเดิมทีผมตั้งใจทำวิจัยเพื่อหาสูตรมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้การเก็งกำไรค่าเงินของผมมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เมื่อส่งผลงานเข้าร่วมการพิจารณาในที่ประชุม Sixth Asia-Pacific Conference on Global Business, Economics, Finance and Social Sciences มีศาสตราจารย์ชาวต่างชาติหลายท่านสนใจ และบอกว่าโมเดลนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการวัดค่าสินทรัพย์อื่นได้ ผมจึงภูมิใจกับงานที่ตัวเองทุ่มเททำมาเพื่อประโยชน์ของแวดวงวิชาการ และสังคม” ปวริศกล่าว

     ทั้งนี้ สินทรัพย์ทุกชนิดล้วนมีการเคลื่อนไหวโดยตัวเอง สูตรสำเร็จที่ได้จากการวิจัยของปวริศ สามารถนำไปตรวจจับความเคลื่อนไหวนั้นได้ ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงสินทรัพย์ในรูปแบบเดิมที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่รวมถึงเงินดิจิทัลที่กำลังจะเป็นสกุลเงินใหม่ในโลกอนาคตด้วย อย่างเช่น บิทคอย หรือแม้แต่เงินดิจิทัลสกุลอื่นใดก็ตาม ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ หลังการเติบโตอย่างเต็มรูปแบบของธุรกิจออนไลน์

      ปวริศ เล่าว่าสาเหตุที่ทำให้เขาสนใจทำวิจัยในเรื่องนี้ เพราะช่วงที่ตัวเองเทรดค่าเงินอยู่นั้น สังเกตว่าช่วงที่มีการประกาศข่าวอะไรที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์มหภาค ค่าเงินจะมีความผันผวนสูงมาก เขาจึงคิดอยากหาเครื่องมือที่ใช้ในการจับสัญญาณที่แม่นยำมากขึ้น เพื่อโอกาสในการสร้างผลกำไรสูงสุด หรือทำให้ขาดทุนน้อยที่สุด

      “มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีข่าวออกมาแล้วเรารู้สึกว่าค่าเงินผันผวนมาก เราเลยลองเก็งกำไรจากจุดนั้น แล้วเห็นว่ามันทำให้เราทำกำไรได้เร็วที่สุด คือปกติถ้าข่าวดีประกาศออกมา ตลาดจะทำปฏิกิริยากับข่าวในลักษณะ Over-react ทำให้ราคาโดดขึ้นไปเกินมูลค่าที่แท้จริง เราก็ต้องรีบขายออกมา แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าตัวเลขที่เท่าไร ถึงเรียกว่า ‘Over’ จากงานวิจัยของผมเมื่อมีการประกาศข่าวดีออกมา ราคาจะขึ้นไปประมาณ 1-2% ก็ทำการขายได้แล้ว ถ้าเกินจากนี้จะเป็น Over-price ต้องรีบทยอยขายไม่อย่างนั้นจะมีความเสี่ยงสูงมาก เช่นเดียวกันข่าวร้ายก็ประมาณ 1-2% เหมือนกัน คือถ้าลงมาประมาณนี้ก็ให้ซื้อ จะได้ราคาที่ต่ำกว่าราคาที่แท้จริง”

     ทั้งนี้ ปวริศ สนใจเรื่องการเก็งกำไรค่าเงินตั้งแต่เรียนอยู่ระดับปริญญาตรี และทดลองเทรดด้วยตัวเอง แต่เพราะความรู้ที่ไม่มากพอ ทำให้สูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมากเพื่อแลกกับบทเรียน นั่นก็ทำให้เขารู้ว่าความรู้ที่มียังไม่เพียงพอ จึงกลับมาเรียนเพิ่มในระดับปริญญาโท ภาควิชาการธนาคารและการเงิน หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

      เขาบอกว่า ความรู้ที่ได้จากคณะบัญชีฯ จุฬาฯ ไม่เพียงช่วยให้เขารู้วิธีการใช้เครื่องมือที่ถูกต้องกับสภาพตลาดที่เป็นอยู่จริง แต่ยังช่วยให้เขาสามารถคิดค้นสูตรที่จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยให้ธุรกิจส่งออกไทยมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น รางวัลที่ได้รับ จึงถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศของมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนภาพความสามารถนี้ให้ทั่วโลกได้รับรู้ผ่านที่ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งมีคนไทยเพียงแค่ 2 คนที่ได้เข้าไปร่วมงาน และมีเขาเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับรางวัลกลับมา

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!