- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Tuesday, 23 May 2017 22:58
- Hits: 9723
'มาตรฐานบัญชี' สำหรับ 'SMEs'
ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหลายท่านกำลังติดตามข่าวสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงของ’มาตรฐานการบัญชีสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (TFRS for SMEs)’ และมีความกังวลว่า ‘จะสร้างภาระแก่กิจการขนาดเล็ก’จากการวิเคราะห์ข้อมูลของคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ขอยืนยันว่า กิจการขนาดเล็กซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของระบบเศรษฐกิจของประเทศจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จาก TFRS for SMEs เพราะกิจการกลุ่มนี้เข้าข่ายเป็นกิจการ NPAEs ไม่ซับซ้อน ซึ่งมีโครงสร้างการถือหุ้นที่ไม่ซับซ้อน และมาตรฐานฯดังกล่าว อันที่จริงก็คือ TFRS for NPAEs เดิมที่ใช้ในปัจจุบัน ที่ได้รับการแปลงร่างเข้าไปบรรจุอยู่ในมาตรฐานฯ ฉบับใหม่นั่นเอง การนำมาตรฐานบัญชี SME ไปใช้จึงไม่ได้แตกต่างจากมาตรฐานบัญชีเดิมที่ใช้อยู่เลย มีเพียงแค่การจัดทำงบกระแสเงินสดซึ่งก็จะได้รับการผ่อนผันการจัดทำไปอีก 2 ปี เพื่อให้มีเวลาเพียงพอสำหรับนักบัญชีในการเตรียมฐานข้อมูล ซึ่งงบกระแสเงินสดนี้จะเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับมาตรการที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องใช้งบการเงินจากบัญชีชุดเดียวในการพิจารณาสินเชื่อจากธนาคารแก่ SMEs อีกทั้งยังเปิดทางเลือกให้สามารถตีราคาที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ หรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนด้วยมูลค่ายุติธรรม เพื่อเป็นการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็กในการแข่งขันโดยสื่อสารข้อมูลทางการเงินตามมาตรฐานสากลที่ผู้ใช้ทั่วไปเข้าใจได้ง่าย
สภาวิชาชีพบัญชีขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ต้องกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะสร้างภาระแก่ท่าน และขอเน้นย้ำว่า
- งบการเงินยังคงจัดทำเช่นเดิม คือ งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของและหมายเหตุประกอบงบการเงิน
- การรับรู้รายการและวัดมูลค่าเหมือนเดิม
- ผลประโยชน์ของพนักงานยังคงรับรู้รายการโดยวิธีประมาณการที่ดีที่สุดเหมือนเดิม
- มีทางเลือกสำหรับอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน และที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ให้ใช้ราคายุติธรรมได้
- การรับรู้รายได้อสังหาริมทรัพย์ ยังคงรับรู้ด้วย 3 วิธีเหมือนเดิม
ปี 2562 ให้จัดทำงบกระแสเงินสดเป็นปีแรกและไม่ต้องจัดทำงบกระแสเงินสดเปรียบเทียบ
ส่วนกิจการที่เข้าข่ายซับซ้อนตาม TFRS for SMEs ได้แก่กลุ่มกิจการ หรือกิจการที่เป็นฐานะเป็น บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือร่วมการงาน กลุ่มเหล่านี้มีจำนวนน้อยและข้อกำหนดใหม่มีวัตถุประสงค์ให้กิจการเหล่านี้เสนอข้อมูลการเงินที่สอดคล้องกับกิจกรรมที่ทำอยู่ เช่น การจัดทำงบการเงินรวม เป็นต้น
นอกจากนั้น สภาวิชาชีพบัญชีด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ได้มีโครงการพัฒนา Software บัญชีสำหรับ SMEs และ Work Sheet สำหรับการจัดทำงบกระแสเงินสดในรูปแบบโปรแกรม Excel ซึ่งตอบโจทย์ผู้ประกอบการและผู้ประกอบวิชาชีพให้จัดทำบัญชีอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับการจัดทำงบกระแสเงินสดให้ง่ายขึ้น ซึ่งช่วยลดภาระและต้นทุนการจัดทำบัญชีลงได้ และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ SME ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบโปรแกรมดังกล่าว คาดว่าจะแจกให้ผู้ประกอบการใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้เร็ว ๆ นี้
สภาวิชาชีพบัญชีขอแนะนำให้นักบัญชีและผู้สอบบัญชีทุกคน เข้าไปอ่านแนวปฏิบัติที่สภาวิชาชีพบัญชีออกเป็นการเพิ่มเติมสำหรับกิจการ NPAEs ไม่ซับซ้อน อีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ TFRS for SMEs ได้ที่เว็บไซต์ http://www.fap.or.th/TFRS-for-SMEs.html ซึ่งจะช่วยให้ทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้มากขึ้น..