- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Wednesday, 10 May 2017 20:16
- Hits: 15194
การบริโภคภาคเอกชน : ต้นกล้าที่กำลังจะหยั่งราก
วิจัยกรุงศรีประเมินแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนมีโอกาสฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ จากรายได้ครัวเรือนโดยเฉพาะรายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้นนับตั้งแต่ปลายปีก่อน ซึ่งแม้จะมีโอกาสสูงกว่า 50% ที่ไทยจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงในเรื่องภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นต้นไป แต่คาดว่าผลกระทบจากเอลนีโญครั้งนี้จะมีความรุนแรงต่ำกว่าในช่วง 2 ปีก่อน ที่เคยส่งผลให้ไทยประสบวิกฤตภัยแล้ง จึงมีผลต่อรายได้เกษตรกรและการบริโภคอย่างจำกัด นอกจากนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นน่าจะมีอานิสงส์ต่อการบริโภคมากกว่าในอดีต เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนของการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
วิจัยกรุงศรีเปิดเผยในบทความเรื่อง การบริโภคภาคเอกชน : ต้นกล้าที่กำลังจะหยั่งราก โดยระบุว่า การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีความต่อเนื่องและเริ่มกระจายตัวไปในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศได้ทั่วถึงขึ้น อีกทั้งยังพบว่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทนปรับดีขึ้นในทุกภูมิภาค ปัจจัยสำคัญที่หนุนการฟื้นตัวของการบริโภค คือ รายได้เกษตรกรที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรหลายรายการที่ปรับเพิ่มขึ้น และผลผลิตที่ทยอยกลับเข้าสู่ตลาดหลังจากภาวะภัยแล้งคลี่คลายไปเมื่อปลายปีก่อน รายได้เกษตรกรขาขึ้นในรอบนี้น่าจะช่วยให้การบริโภคฟื้นตัวได้เร็วและแข็งแรงกว่าที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นการฟื้นตัวที่ ‘มั่นคง’ มากขึ้น เพราะมาจากพื้นฐานที่ดี แตกต่างจากการบริโภคในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องพึ่งพานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเป็นหลัก
แนวโน้มรายได้เกษตรกรจะเป็นอย่างไรในช่วงที่เหลือของปี 2560? หากประเมินจากสถานการณ์น้ำจะพบว่าการเพาะปลูกภายในเขตชลประทานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น โดยวัดจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่อยู่สูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยรอบ 30 ปี แต่ประเด็นที่ต้องจับตา คือ ภาวะแล้งที่อาจกระทบต่อการเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งคิดเป็น 84% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด เพราะล่าสุด National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ของสหรัฐฯ ประเมินว่ามีความเป็นไปได้เกินกว่าครึ่งที่ไทยจะเผชิญกับเอลนีโญ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยเอลนีโญจะส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนน้อย ไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี หน่วยงานด้านภูมิอากาศสำคัญของโลกประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า เอลนีโญในปีนี้จะไม่รุนแรงเท่าเมื่อ 2 ปีก่อนที่ไทยเผชิญวิกฤตภัยแล้ง โดย NOAA คาดว่าเอลนีโญปีนี้จะเกิดนานเพียง 6-10 เดือน เทียบกับเมื่อ 2 ปีก่อนที่กินเวลายาวนานกว่า 21 เดือน
วิจัยกรุงศรีประเมินว่าเอลนีโญในปีนี้จะส่งผลต่อผลผลิตภาคเกษตรของไทยอย่างจำกัด โดยกระทบเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักบางชนิด คือข้าวและข้าวโพด เพราะเป็นพืชไร่ซึ่งไม่ทนแล้ง และจะเพาะปลูกในช่วงเวลาที่เกิดเอลนีโญพอดี สำหรับผลผลิตสำคัญตัวอื่นคาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างจำกัด เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมันที่เป็นไม้ยืนต้นจึงทนแล้ง เป็นต้น (ภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 เอลนีโญน่าจะมีผลกระทบปานกลาง และจำกัดอยู่เฉพาะในสินค้าเกษตรบางประเภท
วิจัยกรุงศรีประเมินว่ารายได้ของเกษตรกรในภูมิภาคส่วนใหญ่ของประเทศจะเติบโตจาก
ปีก่อน เนื่องจากภาวะเอลนีโญไม่รุนแรง และยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ สนับสนุนอยู่ รายได้เกษตรกรในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากพืชเศรษฐกิจสำคัญมีแนวโน้มเติบโตดี อาทิ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ขณะที่เกษตรกรในภาคกลาง และ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้จะพึ่งพาผลผลิตข้าว แต่ยังมีสินค้าเกษตรอื่นที่มีแนวโน้มเติบโตดีมาชดเชย เช่น กุ้งขาว เป็นต้น ภูมิภาคที่รายได้เกษตรอาจลดลงบ้าง คือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ขณะที่มันสำปะหลังขายได้ราคาต่ำจึงไม่จูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูก (ภาพที่ 2)
ภาพที่ 2 รายได้เกษตรกรในภูมิภาคส่วนใหญ่มีแนวโน้มเป็นบวก
รายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้นจะมีอานิสงส์ต่อการบริโภคภาคเอกชนมากเพียงใด? วิจัยกรุงศรีพบว่าการบริโภคภาคเอกชนอาจฟื้นตัวได้เร็วและแข็งแรงกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต เพราะการบริโภคโดยรวมตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงรายได้มากขึ้น วิจัยกรุงศรีวัดการเปลี่ยนแปลงของความต้องการซื้อสินค้าแต่ละชนิดเมื่อผู้บริโภคมีรายได้มากขึ้น โดยสามารถจำแนกประเภทของสินค้าออกเป็น 1) สินค้าฟุ่มเฟือย คือ สินค้าที่ความต้องการซื้อตอบสนองต่อรายได้มาก (ถ้ารายได้เพิ่มขึ้น 1% ความต้องการซื้อจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 1%) ได้แก่ รถยนต์ และการใช้จ่ายในการท่องเที่ยว 2) สินค้าจำเป็น คือ สินค้าที่ผู้บริโภคยังต้องการซื้อไม่ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง (ถ้ารายได้เพิ่มขึ้น 1% ความต้องการซื้อจะเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1%) เช่น อาหารสด บริการโทรศัพท์ รวมถึงยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 3) สินค้าด้อย ที่ผู้บริโภคซื้อมากขึ้น เมื่อรายได้ลดลง
ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยมีสัดส่วนในการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีสัดส่วนถึง 45% เทียบกับในปี 2543 ที่ 33% นอกจากนี้ สินค้าฟุ่มเฟือยหลายประเภท เช่น บริการภัตตาคารและโรงแรม และบริการการเงินมีสัดส่วนต่อการบริโภคค่อนข้างสูง (17% และ 6% ของการบริโภคในปี 2558 ตามลำดับ) ทั้งนี้เนื่องจากสินค้าฟุ่มเฟือยตอบสนองต่อรายได้มากกว่าสินค้าจำเป็น สัดส่วนต่อการบริโภครวมของการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยที่เพิ่มขึ้นสะท้อนว่าการบริโภคภาคเอกชนน่าจะตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้มากขึ้นตามไปด้วย (ภาพที่ 3)
ภาพที่ 3 การบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนของการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
รายงานโดย วิจัยกรุงศรี บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา