- Details
- Category: บทความการเงิน
- Created: Wednesday, 10 May 2017 17:26
- Hits: 5069
การค้าโลก: มุ่งค้าก่อน! (เลี่ยงเป้าหมายส่วนตัว) ถึงเวลาย้อนกลับไปสู่สงครามการค้าโลกยุค 1930 หรือยัง
นโยบาย 'America First (อเมริกาต้องมาก่อน)' ของประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แนวคิดปกป้องทางการค้าปรากฎให้เห็นตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2551-2552 เมื่อประเทศ G20 ทยอยเพิ่มมาตรการต่างๆ เข้ามากีดกันการค้าระหว่างกัน และรัฐบาลแต่ละประเทศพยายามกระตุ้นให้ประชากรของตนซื้อสินค้าภายในประเทศ
อย่างไรก็ดี จุดยืนของทรัมป์ส่งสัญญาณจุดเปลี่ยนอันตรายของการค้าระดับโลก ทั้งนี้ก่อนการเลือกตั้งสหรัฐ จุดยืนอย่างเป็นทางการของกลุ่มประเทศ G20 ยังยึดมั่นในนโยบายต่อต้านการปกป้องทางการค้า แต่ ‘America First’ ของทรัมป์ทำให้ G20 ต้องทิ้งจุดยืนต่อต้านการปกป้องทางการค้าตามที่เคยประกาศไว้ในแถลงการณ์ร่วมเมื่อเดือนมีนาคม ส่วนประเทศอื่นคงจับตามองสหรัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งกระพือให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดสงครามการค้าเต็มรูปแบบทั่วโลก
จากสถานการณ์ดังกล่าว รายงานพิเศษจากสำนักวิจัยธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทั่วโลกจากนโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐที่เข้มข้นขึ้น และความเป็นไปได้ที่ประเทศอื่นจะกลายเป็นผู้นำเข้าระดับโลกแทนที่สหรัฐซึ่งเคยครองตำแหน่งนี้อยู่
สงครามการค้าเต็มรูปแบบทั่วโลกอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930 ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่นโนบายกีดกันการค้าของสหรัฐที่เข้มข้นขึ้นอาจเป็นไปได้ และจะเป็นภัยคุกคามต่อการค้าโลกเนื่องจากที่ผ่านมาสหรัฐเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของโลก
ตลาดมีความกังวลในแนวโน้มของสงครามการค้า แต่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่า ประวัติศาสตร์ไม่น่าจะซ้ำรอย เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว กระแสการเงินและการค้าทำให้ประเทศต่างๆ เชื่อมโยงใกล้ชิดกันมากขึ้น ดังนั้นการใช้มาตรการรุนแรงต่อต้านประเทศใดประเทศหนึ่งโดยตนเองไม่ได้รับผลกระทบเลยจากการดำเนินการดังกล่าว ย่อมเป็นไปได้ยาก
การปกป้องทางการค้าแบบสุดโต่งในทศวรรษ 1930 สะท้อนถึงระบบที่ไม่มีความยืดหยุ่นในยุคนั้น ค่าเงินยังเป็นแบบคงที่และไม่มีกลไกในการปรับตามราคาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สมดุล แต่ตอนนี้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวช่วยทำหน้าที่วาล์วนิรภัย ลดความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการรุนแรงเพื่อสร้างภาวะสมดุล
นอกจากนี้ องค์กรระหว่างประเทศ อย่างองค์การการค้าโลก (WTO) ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น WTO ครอบคลุม98% ของการค้าโลกและสมาชิก WTO พยายามไม่ให้เกิดสงครามแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน หากประเทศใดจะออกจาก WTO โดยลำพังหรือไม่สนใจกฎระเบียบของ WTO จะยิ่งเสียหายหนักกว่า
อย่างไรก็ดี โอกาสที่สหรัฐจะดำเนินมาตรการปกป้องทางการค้ามากขึ้นยังเป็นไปได้มากเมื่อพิจารณาจากถ้อยแถลงของรัฐบาลนายทรัมป์ที่ต้องการลดการนำเข้า เพิ่มการผลิตและสร้างงานภายในประเทศ และลดไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ แต่การขาดดุลการค้าของประเทศเป็นเพียงภาพสะท้อนของการที่ประเทศใช้จ่ายลงทุนมากกว่ารายได้ที่เก็บได้ แผนของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายตามนโยบายการคลังอาจส่งผลให้ยิ่งขาดดุลการค้ามากขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายยังคงสูงกว่ารายได้
ประสบการณ์ในอดีตจากนโยบายปกป้องทางการค้าแสดงให้เห็นว่าสหรัฐเองก็หนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้นโยบายนี้ การเลิกจ้างงานโดยรวมกลับเพิ่มขึ้น เพราะถึงแม้จะช่วยไม่ให้เกิดการเลิกจ้างในบางธุรกิจที่ปกป้อง แต่กลับทำให้เกิดการเลิกจ้างในธุรกิจอื่น และแทนที่จะช่วยลดการนำเข้า กลับเป็นการเปลี่ยนประเทศที่นำเข้าจากรายหนึ่งไปยังอีกราย นอกจากนี้ ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม
ผลกระทบของการปกป้องทางการค้าของสหรัฐต่อจีน เม็กซิโก เยอรมนีและญี่ปุ่นอาจแตกต่างกันสุดโต่ง เช่น สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนเกือบ 50% แต่การค้ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนค่อนข้างต่ำ ผลกระทบจึงเทียบเคียงได้กับเม็กซิโก (ซึ่งสหรัฐขาดดุลการค้าราว10%)
นอกจากนี้ การบริหารห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทำให้รูปแบบการค้าที่มุ่งค้าแบบทวิภาคีไร้ความหมาย เพราะห่วงโซ่อุปทานระดับโลกเชื่อมโยงประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันมากขึ้น ดังนั้น ประเทศที่จัดหาผลิตภัณฑ์ขั้นกลางให้แก่สี่ประเทศดังกล่าว (เพื่อนำไปส่งออก) ล้วนมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากการปกป้องการค้าของสหรัฐด้วย
มาตรการปกป้องทางการค้าที่เพิ่มขึ้นเล็กๆ น้อยๆ อาจส่งผลให้เกิดผู้แพ้และผู้ชนะแบบเบ็ดเสร็จ เปิดประตูให้บางประเทศเข้ามาฉกฉวยโอกาสที่จะคว้าส่วนแบ่งตลาดการค้า แม้ทั้งสี่ประเทศดังกล่าวจะเป็นคู่แข่งหลักทางการค้าของสหรัฐ แต่ในเวลาเดียวทั้งสี่ประเทศก็แข่งขันกันเอง ดังนั้นมาตรการต่อต้านประเทศหนึ่งอาจส่งประโยชน์แก่อีกประเทศ
แม้ยุโรปจะมีความเคลื่อนไหวแนวชาตินิยมและต่อต้านการค้ามากขึ้น แต่รัฐบาลยุโรปส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นในการค้าเสรี แต่ประเทศในยุโรปก็ไม่อาจแทนที่สหรัฐได้ในแง่ผู้นำเข้าหลักของโลก ประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะจีน น่าจะอยู่ในสถานะที่เอื้อให้เป็นไปได้มากกว่าในการแทนที่สหรัฐในระยะกลาง จีนเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการค้าโลก ปัจจุบันสหรัฐและยุโรปยังคงเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของผลิตภัณฑ์จากห่วงโซ่อุปทานของเอเชีย แต่จีนค่อยๆ ทวีความสำคัญมากขึ้นในการเป็นจุดหมายปลายทางความต้องการสินค้าจากเอเชีย
นายมัดเฮอร์ จาห์ จากสำนักวิจัยสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดให้ความเห็นว่า "หากสหรัฐลดบทบาทตัวเองในฐานะ "ผู้นำเข้าหลัก" ของโลกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศในเป้าหมายเพราะรูปแบบการบริหารห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่ดำเนินการอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี เหตุปัจจัยนี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดสงครามการค้าทั่วโลก นอกจากนี้ยังความเป็นไปได้ที่จีนจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในฐานะจุดหมายปลายทางความต้องการสินค้าจากทั่วโลกในระยะยาว เสริมสร้างสถานะคู่ค้าขนาดใหญ่ของตนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น"